ศึกษาอย่างไรไม่ให้ไปติดในชื่อ หรือเรื่องราวแต่เข้าใจลักษณะ


        ผู้ฟัง ไม่ทราบว่า ฟังหรือศึกษาอย่างไร ท่านอาจารย์ฟังก่อนเดี๋ยวจะว่าเป็นวิธีการ คือ ฟังหรือศึกษาอย่างไร ไม่ให้เราไปติดในชื่อ หรือติดในเรื่องราว จนกระทั่งเราไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏ

        สุ. ค่ะ ฟังเรื่องจิต เข้าใจคำว่า “จิต” จิตมีประเภทเดียวหรือหลายประเภท

        ผู้ฟัง หลายประเภท

        สุ. หลายประเภท ต่างกันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถูกต้องไหมคะ เพราะว่าตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ขาดจิตเลยสักขณะเดียว แล้วแต่ว่าจิตเกิดขึ้นทางตาเห็น หรือจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง หรือจิตเกิดขึ้นได้กลิ่น จิตเกิดขึ้นลิ้มรส จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย หรือจิตคิดนึก เท่านี้ทุกๆ วัน ในสังสารวัฏฏ์ ไม่เกิน ๖ ทาง

        เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจอย่างนี้ เราอยู่ตรงไหน และสามารถจะรู้ได้ขณะนี้ที่กำลังเห็น อาศัยตา นี่ก็รู้จิตประเภทหนึ่งแล้ว ขณะที่ได้ยิน จิตไม่ใช่เห็น แต่ได้ยิน อาศัยอะไร อาศัยหู ก็อีกประเภทหนึ่งแล้ว ฟังให้เข้าใจว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวเราสักขณะเดียว แล้วชื่อก็ค่อยๆ จำได้ เพราะเข้าใจค่ะ แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องไปท่องโดยไม่รู้เรื่อง โดยไม่เข้าใจ แต่จากการฟังเข้าใจการเกิดดับสืบต่อของจิต ซึ่งใครก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และปัญญาของใครจะรู้ได้แค่ไหน หรือว่าเริ่มเข้าใจ แต่ยังไม่ได้รู้จักตัวจิต ทั้งๆ ที่พูดถึงจิตตลอดเวลา แล้วจิตก็เกิดขึ้นตลอดเวลาด้วย

        ในขณะนี้ น่าอัศจรรย์ไหมคะ จิตประเภทหนึ่งเกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วก็ดับไป เร็วมาก ไม่มีใครสามารถไปรู้ได้เลย จิตอื่นก็เกิดสืบต่อแล้ว มีเจตสิกตามประเภทของจิตนั้นๆ แล้วก็ดับไปแล้ว ก็เป็นอย่างนี้

        เพราะฉะนั้นการฟังเพื่อให้เกิดความเห็นถูก ซึ่งเป็นปัญญาเจตสิกที่จะละความไม่รู้ สามารถที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเป็นเรา เป็นตัวตน

        ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดอย่างนี้ก็เข้าใจ แต่จริงๆ แล้ว จะเป็นว่า มีเราที่ไปศึกษา และจำเรื่องราวที่ฟัง ไม่ยอมรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่เห็น ได้ยิน ท่านอาจารย์ก็พูด แต่ว่าฟังแล้วเหมือนไม่รู้ตรงนั้น แล้วก็เป็นเราเห็น เราได้ยิน อยู่อย่างนี้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 322


    หมายเลข 12356
    24 ม.ค. 2567