วันนั้นเป็นอย่างนี้ วันนี้เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ธรรม เป็นเรื่อง


        สุ. อัปปิจฉกถา กถาวัตถุ ๑๐ หมายถึงเรื่องที่ควรแก่การสนทนากัน เราเกิดมาเราสนทนาเรื่องต่างๆ มากมาย แต่เรื่องการสนทนาเพื่อที่จะให้เห็นประโยชน์ของการละการติดข้อง ถ้าพูดถึงโลภะ บางคนก็อาจจะถามว่า แล้วเป็นตัณหาหรือเปล่า คือไปติดที่คำ พอได้ยิน “โลภะ” ได้ยิน “ตัณหา” ได้ยินคำอะไร ก็เกิดสงสัยว่า แล้วโลภะเป็นตัณหาหรือเปล่า เพราะเหตุว่าตัณหามี ๓ อย่าง เพราะฉะนั้นขณะนี้เป็นตัณหาหรือเป็นโลภะ นี่ก็คือความสงสัย แต่ไม่ใช่การฟัง และเข้าใจว่า ธรรมหลากหลาย เพราะเหตุว่าระดับขั้นของธรรมแต่ละลักษณะต่างกันมาก มีตั้งแต่ที่เป็นอาสวะ เกิดแล้วรวดเร็ว โดยไม่ทันรู้เลย หรือเป็นนิวรณธรรม ไม่ได้หายไป จางไป กลุ้มรุมอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนก็สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้

        เพราะฉะนั้นในขณะที่ฟัง กำลังฟังเพื่อจะละความติดข้อง เพราะว่าถ้ายังมีอวิชชา มีความติดข้อง ก็ย่อมจะพ้นจากทุกข์ไม่ได้เลย แต่เราหวังการพ้นทุกข์ที่ง่ายมากเลย มีธรรมอะไรบ้างคะ คนนี้กำลังเป็นทุกข์ ช่วยบอกหน่อย จะได้ไปบอกเขา ได้ไหม มีธรรมอะไรไหมคะที่สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้ โดยที่ไม่ใช่ปัญญาของเขาเลย หวังที่จะเอาอะไรไปให้เขา ในเมื่อปัญญาของเขาไม่มี

        เพราะฉะนั้นหนทางเดียว คือ ให้แต่ละคนได้เข้าใจธรรม หนทางเดียวจริงๆ ที่เริ่มละความติดข้อง เพราะมีความเข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีเรา แต่กว่าจะเป็นอย่างนั้นได้ ก็ต้องสะสมความเห็นถูกที่ตรงจริงๆ กับทุกคำที่ได้แสดงไว้ในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ไม่พ้นไปได้เลย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ควรรู้หรือไม่ควรรู้ ก็เป็นเรื่องที่ถ้าฟังพระธรรมก็จะค่อยๆ ละความหวังที่อยากได้ โดยที่ไม่รู้อะไรเลย หรือไม่ได้คลายความไม่รู้ ไม่ได้เพิ่มความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ยังคงมีเรื่องต่างๆ เรื่องนี้ วันนั้นเป็นอย่างนี้ วันนี้เป็นอย่างนั้น ก็คือไม่ใช่ธรรม แต่เป็นเรื่องของธรรม ยังคงมีความเข้าใจผิดว่า เป็นตัวตนอยู่

        เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่อดทน และก็ฟังเพื่อจะละความติดข้อง เมื่อเหตุมี วันหนึ่งผลต้องมี แต่ว่าใจร้อน ใจเร็วด้วยความเป็นเราไม่ได้เลย เพราะว่าขณะไหนที่มีความหวังต้องการ ขณะนั้นเพราะไม่รู้ว่า เป็นธรรม ตรงกันข้ามกับที่กำลังได้ฟังอยู่ ซึ่งค่อยๆ เข้าใจขึ้นที่จะทำให้สามารถถึงสภาพธรรมที่เป็นธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตนได้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 321


    หมายเลข 12347
    24 ม.ค. 2567