จิรกาลภาวนา


    อ.วิชัย เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงอกุศลว่า จะประมาทไม่ได้ เพราะเหตุว่าโดยสภาพของจิตก็มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการสั่งสมในอดีต โดยฐานะที่ยังมีอนุสัยอยู่ ยังไม่ดับ ก็สามารถเป็นปัจจัยให้อกุศลประเภทต่างๆ เกิดขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ครับ ถ้าโดยชีวิตประจำวัน บางครั้งก็เกิดความติดข้องบ้าง ความพอใจบ้าง บางครั้งก็เกิดความขุ่นเคืองใจบ้าง แต่โดยฐานะของอรรถของความไม่รู้ หรืออวิชชา แม้สภาพธรรมมีปรากฏอยู่ แต่ว่าความไม่รู้ คือ จะแค่ไหนที่ว่าปิดบังแม้สภาพธรรมที่มีอยู่

    สุ. ค่ะ ก็ตรวจสอบได้จากขณะที่กำลังเห็นว่า แค่ไหน

    อ.วิชัย คือบางครั้งมีความเข้าใจบ้างในพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง แต่ไม่รู้ความใหญ่ของอวิชชาว่า ความเข้าใจแค่นี้ แต่สภาพธรรมมีก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นความต่างขณะที่มีอวิชชา คือ ความไม่รู้ กับขณะที่เข้าใจขึ้นบ้าง แต่ยังไม่เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม จะมีความต่างกันอย่างไรบ้างครับ

    สุ. ถ้าฟังเรื่องธรรม แต่ยังไม่รู้จักตัวธรรมเลย ก็ยังคงเป็นระดับนั้น เพราะว่าชื่อต่างๆ ลืมได้ แต่ว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็สะสมไป พอได้ยินได้ฟังธรรม ก็สามารถรู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้จริงๆ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    อ.วิชัย ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ดีพอ หรือยัง ก็เลยนึกถึงอวิชชา ความไม่รู้ก็มีมากมาย

    สุ. เทียบส่วนไม่ได้ว่า หนาขนาดไหน ถ้ามีความสามารถที่จะค่อยๆ พิจารณาว่า ความจริง คือ ปรมัตถธรรมทั้งหลายอายุสั้นมาก ไม่ว่าจะเป็นจิต เป็นเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกัน หรือรูปก็ตาม ทั้งๆ ที่รูปก็มีอายุยาวกว่าจิต คือ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ และขณะนี้เราจะรู้ไหมว่า รูปดับ เพราะว่า ๑๗ ขณะจิตนี่เร็วมาก จากเห็นแล้วได้ยิน ซึ่งเหมือนกับพร้อมกัน มีจิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้นรูปถ้าไม่รู้ ไม่ปรากฏให้เข้าใจว่า นี่ลักษณะของรูป ก็เหมือนไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะว่าเกิดแล้วก็ดับแล้ว เกิดแล้วก็ดับแล้ว แต่อะไรที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะการเกิดดับอย่างรวดเร็วของรูปที่สืบต่อ จนกระทั่งทำให้ปรากฏเป็นสัณฐาน และสัญญาก็จำ สัญญาวิปลาส จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เข้าใจว่ามีคนจริงๆ เข้าใจว่า เราตั้งใจทำอะไรก็ได้ มีความเป็นเรา สามารถจะทำอย่างนั้นอย่างนี้

    นั่นก็คือไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรม ถ้าจะรู้ว่า อวิชชามากน้อยแค่ไหน ก็คืออย่างนี้แหละ และไม่ใช่วันนี้วันเดียว นานแสนนานมาแล้ว ที่เห็นก็มี ได้ยินก็มี ได้กลิ่นก็มี ก็ไม่เคยแม้จะได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังแล้วที่จะค่อยๆ ไตร่ตรองให้เข้าใจว่า ความจริงเป็นอย่างนี้แม้ในขั้นฟัง ก็ยังไม่สามารถจะประจักษ์ความจริงได้ ต้องอบรมเจริญปัญญาถึงระดับขั้นที่จะเป็นกิจญาณ คือ สติสัมปชัญญะเกิดแล้วก็กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถเข้าใจที่จะสลัดการยึดถือสภาพธรรมนั้นได้ จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิด จนกว่าปัญญาระดับขั้นต่างๆ จะเกิด ก็แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้มากมายสักแค่ไหน

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวว่า โดยสภาพของความติดข้อง เพราะมีความไม่รู้อยู่ จึงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวเรา ถ้าโดยฐานะของปัญญา คือ ความรู้ คือ เมื่อเกิดละทั้งความไม่รู้ ละทั้งความติดข้องด้วยใช่ไหมครับ

    สุ. ค่ะ มีใครสามารถรู้ได้บ้างว่า ขณะนี้มีอะไรอยู่ในจิต ๑ ขณะ เพียงแค่ ๑ ขณะ ประมวลมาทั้งหมด สะสมทั้งกุศล และอกุศลทั้งหมดนานแสนนานมาแล้ว แต่ว่าเป็นนามธรรม ก็ไม่สามารถจะปรากฏสัณฐานที่จะให้เหลือ ที่จะให้รู้ว่า มีอะไรมากแค่ไหน แต่ผู้รู้มี คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงว่า แต่ละบุคคลสะสมกุศล และอกุศลต่างๆ กัน อัธยาศัยก็ต่างๆ กันไป อยู่ที่ไหน อยู่ในจิต ๑ ขณะ จิตขณะนั้นดับแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย แต่ว่าสิ่งที่สะสมในจิต ๑ ขณะนั้น อยู่ที่ไหน ถ้าไม่อยู่ในขณะจิตที่เกิดสืบต่อ จากการที่จิตเป็นสภาวะที่เกิดแล้วดับไป แต่การดับไปก็เป็นอนันตรปัจจัยให้จิต เจตสิกขณะต่อไปเกิด โดยไม่มีระหว่างคั่น

    เพราะฉะนั้นการสะสมทั้งหมดที่สืบต่อ ก็จะอยู่ทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล ขณะที่กำลังฟังมีความเข้าใจ มีปัญญา สะสมแล้ว แต่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า มากน้อยแค่ไหน นอกจากว่าฟังแล้วเข้าใจถูก ไม่เข้าใจผิด และที่เข้าใจถูก มาก หรือน้อย นิดๆ หน่อยๆ หรือว่ายังไม่พอ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ปัญญาเกิดจากการฟัง จนกระทั่งสามารถที่สติสัมปชัญญะเกิด นี่อีกระดับหนึ่ง เพราะว่าสติเจตสิกจะเกิดกับโสภณจิตทั้งหมด ในขณะที่ฟังเข้าใจ ไม่ใช่เราเลย เป็นโสภณเจตสิกทั้งหมดเลย มากกว่า ๑ มากกว่า ๒ มากกว่า ๑๐ เกิดขึ้นทำกิจการงานของตน เร็วมาก แล้วก็ดับไปพร้อมจิต ไม่มีใครรู้เลย แต่ก็คือไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด เป็นสภาพของธรรม ถ้าเป็นฝ่ายดี ก็สะสมทางฝ่ายโสภณไว้ แล้วก็ประกอบด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้นก็ลองคิดเทียบดูว่า วันหนึ่งๆ อกุศลเกิดมากกว่า หรือเปล่า แม้ว่าเป็นกุศล แต่ก็เป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญามากกว่ากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา หรือเปล่า เพราะฉะนั้นการสะสมปัญญา ความเห็นถูก จึงเป็นจีรกาลภาวนา เพราะว่าสะสมไป ไม่ได้สูญหาย จนกว่าการสะสมทางฝ่ายกุศลที่เข้าใจธรรม มีกำลัง สติสัมปชัญญะเกิด รู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ก็ยังรู้ว่า ยังไม่สามารถเข้าถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมซึ่งเกิดจึงปรากฏ และดับ ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่เรากล่าวถึง ก็คือขณะนี้ทั้งหมด ซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว เร็วมาก จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร ก็มีการรู้ลักษณะหนึ่งเท่านั้นเองที่ปรากฏ แล้วก็หมดไป

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความเป็น จีรกาลภาวนา แล้วก็รู้ว่า ปัญญาระดับนี้ไม่พอ ก็จะต้องสะสมไปจนกว่าจะมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นทั้งปริยัติ และทั้งที่เป็นสติปัฏฐาน คือ ถ้าไม่มีการศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมเลย แล้วจะเอาอะไรมาสลัดความเป็นเรา ในเมื่อสติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ไม่ระลึก แต่ปัญญาไม่พอ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 295


    หมายเลข 12217
    18 มี.ค. 2567