ศึกษาลักษณะให้เข้าใจก่อน


        สุ. แม้แต่ธรรม ถ้าขณะนี้เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ยังไม่ต้องพูดถึงนามธรรม และรูปธรรมได้ ขณะนี้เห็น ถ้าเข้าใจแล้วว่ามีจริง แล้วก็เป็นธรรม เห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ต่างกันหรือเหมือนกัน

        เริ่มคิด ใช่ไหมคะ แต่ยาก เพราะว่าถ้าไม่ได้ฟังธรรมเลย ก็คิดไม่ออกอีก รู้แต่ว่ามีสิ่งที่ปรากฏ แต่ขณะนั้นต้องฟังแล้วด้วย มิฉะนั้นก็โต๊ะ เก้าอี้ปรากฏอีก ใช่ไหมคะ ก็เริ่มที่จะมาถึงลักษณะที่กำลังปรากฏว่า ไม่ได้จำ ไม่ได้เรียกว่าเป็นอะไร แต่ลักษณะที่ปรากฏ ปรากฏจริงๆ มีจริง ไม่ต้องเรียก ไม่ต้องคิดอะไรเลย ก็ปรากฏให้เห็นได้

        นี่คือการไตร่ตรอง และสิ่งนี้จะปรากฏได้ไหมถ้าไม่มีเห็น เห็นไหมคะ เพราะฉะนั้นก็เริ่มจะเข้าใจอรรถของคำว่า นามธรรมกับรูปธรรม เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่รู้ ไม่เห็นอะไรเลย ก็เป็นธรรมที่มีจริงชนิดหนึ่ง เป็นประเภทไม่รู้อารมณ์ ไม่รู้อะไรเลย ส่วนสภาพธรรมที่เห็น ได้ยิน จำ คิดนึก สุข ทุกข์ ต่างกับลักษณะนั้นๆ ซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำว่า นามธรรมกับรูปธรรม เพื่อบ่งให้รู้ว่า หมายถึงสภาพธรรมอะไร

        นี่เป็นการศึกษาลักษณะให้เข้าใจก่อน แล้วก็ชื่อทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่า หมายความถึงธรรมที่ต่างกันเป็นอะไรบ้าง แต่ไม่ใช่เป็นนามธรรมรูปธรรมก่อน แล้วก็หา นามธรรมอยู่ที่ไหน รูปธรรมอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้เป็นนามธรรมหรือเปล่า เดี๋ยวนี้เป็นรูปธรรมหรือเปล่า ก็ไปนั่งหา อันนั้นไม่ใช่

        เพราะฉะนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า การเข้าใจธรรม แม้ว่าธรรมมี ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาโดยถูกต้อง เพื่อที่จะได้รู้ว่า กำลังศึกษาอะไร กำลังเข้าใจอะไร ไม่ใช่ศึกษาจำตัวเลข เพราะยังไงๆ สภาพธรรมที่ทรงประมวลไว้ ก็ตามประเภทที่ทรงแสดง มากหรือน้อย ก็ยังต่างระดับกันไปอีก ประมาณไม่ได้เลย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 296


    หมายเลข 12220
    27 ม.ค. 2567