เข้าใจผิดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ


        ผู้ฟัง ถ้าฟังบางอย่างเข้าใจ ก็ถือว่า

        สุ. ถืออีกแล้วนะคะ การฟังธรรมให้เข้าใจธรรม ไม่ต้องไปคิดเรื่องถืออีกต่อไป จะไปถือทำไมคะ เดี๋ยวก่อนค่ะ ความติดข้องมีไหมคะ

        มีนะคะ ภาษาบาลีใช้คำว่าอะไร โลภะ แล้วติดข้องเป็นความอยาก หรือเปล่า นี่คือฟังให้เข้าใจธรรมว่า ธรรมมีลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่เรา เพื่อถึงความไม่ใช่เรา เพื่อถึงความรู้ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม นื่คือประโยชน์ของการฟัง

        ผู้ฟัง แล้วสติจะเกิดขึ้นเมื่อไร

        สุ. ต้องรู้ว่า สติคืออะไร

        ผู้ฟัง คือการระลึกได้

        สุ. ระลึกอย่างไรถึงจะเป็นสติ

        ผู้ฟัง ระลึกว่าสิ่งที่เกิดเป็นรูป หรือเป็นนาม

        สุ. ค่ะ ระลึกพูด หรือระลึกเข้าใจ

        ผู้ฟัง เข้าใจ

        สุ. เพราะฉะนั้นขณะนี้อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม

        ผู้ฟัง เสียงเป็นรูป

        สุ. ก็ตอบตามความจำ ตราบใดที่ไม่ถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ความจำมีจริง ไม่ใช่ไม่มี แต่ทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

        เพราะฉะนั้นกว่าจะเข้าใจถูกว่า แม้จำก็เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับพร้อมกับจิตเท่านั้นเอง ไม่มีเราอยู่ตรงไหนเลย ลักษณะที่จำก็เพียงจำ เกิดขึ้นก็จำ แต่ความจำนี่หลากหลาย จำความเห็นผิด ได้ไหมคะ เมื่อความเห็นผิดเกิดขึ้น สัญญาจำก็จำผิด เข้าใจผิดในลักษณะของสิ่งที่เห็น จนกว่าสัญญานั้นจะเปลี่ยนเป็นสัญญาที่ถูกต้อง จากอัตตสัญญาเป็นอนัตตสัญญา จากนิจจสัญญา ทุกอย่างเที่ยง เป็นอนิจจสัญญา ซึ่งต้องฟังอย่างละเอียดมาก เพราะว่าธรรมเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในขณะนี้ ถ้ากล่าวถึงทุกคนก็รู้ เห็นกับได้ยิน ไม่ใช่ขณะเดียวกัน แล้วก็มีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก ทั้งหมดเกิดดับ ทั้งหมดเร็วมาก แต่สิ่งที่มี ปัญญาสามารถเริ่มเข้าใจถูก เห็นถูกได้ว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แม้ในขั้นฟัง ก็ต้องมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะคลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะว่าถ้ายังมีอวิชชา และโลภะเป็นเครื่องกั้น แม้สภาพธรรมเกิดเกิดดับก็ไม่ประจักษ์แจ้ง เพียงแต่กล่าวตามได้ เห็นไม่ใช่ได้ยิน เห็นเกิดขึ้นแล้วดับไป ได้ยินจึงได้เกิดขึ้น ได้ยินก็ไม่ใช่คิดนึก ได้ยินดับไปแล้วคิดนึกจึงเกิดขึ้น พูดตามได้ทุกอย่าง เพราะความจริงก็เป็นอย่างนั้น และสัญญาเพียงจำ

        เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง และจริงใจว่า ฟังธรรมเพื่อจะสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกว่า ธรรมเป็นอนัตตา

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 281


    หมายเลข 12131
    23 ม.ค. 2567