แม้จิตที่กำลังคิดก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา


        ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่า เราสนใจแต่สิ่งที่เราคิด เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา เราไม่รู้ความจริงตรงนี้ แต่เราไปสนใจสิ่งที่เราคิดเป็นเรื่องราว เป็นคน เป็นสัตว์ หรือเสียงที่ได้ยิน ไม่ได้สนใจเสียง แต่ไปสนใจความหมายของเสียงซึ่งเกิดจากเราคิด ซึ่งตรงนี้แสดงว่า เมื่อเราไม่รู้ แล้วไปสนใจแต่สิ่งที่เราคิดเป็นเรื่องราว ตรงนี้เป็นอกุศล ถูกไหมครับ

        สุ. ค่ะ หมายความว่าเราไม่ได้เข้าในสภาพธรรมว่า เห็นก็เป็นธรรม คิดก็เป็นธรรม

        ผู้ฟัง ถ้าไปสนใจตรงนั้นแล้ว จะเป็นกุศล หรือครับ

        สุ. ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง

        ผู้ฟัง แต่ถ้าเรากำลังคิดถึงจิตเห็น ที่ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา อันนี้จะเป็นภาวนา หรือครับ

        สุ. ถ้าเป็นความเข้าใจในสิ่งที่มีจริง เป็นการอบรมความเห็นถูก ภาวนา หมายถึง อบรมความเห็นถูก

        ผู้ฟัง ซึ่งท่านอาจารย์บอกว่า สิ่งที่คิดตรงนั้นเป็นจิตอะไร ก็เป็นอกุศลจิต

        สุ. ปกติคิดอะไรคะ

        ผู้ฟัง ก็คิดเรื่องราว

        สุ. เพราะฉะนั้นขณะที่คิดอย่างนั้นเป็นอะไร

        ผู้ฟัง ท่านอาจารย์แนะนำว่า ขณะนั้นควรจะรู้ว่า จิตเรากำลังคิด

        สุ. หมายความว่า เตือนให้เข้าใจว่า ขณะที่กำลังเป็นเรื่องเป็นราว คือ จิตคิด ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนั้นไม่มีเรา เพราะเรากำลังพูดเรื่องธรรม เรื่องปรมัตถธรรม เรื่องจิต เจตสิก รูป รูปคิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นตลอดชีวิต ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไร ก็เป็นสภาพธรรมที่คิด คือ จิต และเจตสิก

        มิฉะนั้นเราจะเข้าใจความหมายของสังขารขันธ์ไหมคะ ขันธ์ ๕ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ นั่งท่องชื่อไป แต่จริงๆ แล้ว เข้าใจความหมายไหมของแต่ละขันธ์ หมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ทั้ง ๕ เป็นขันธ์ หมายความว่าลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งที่เกิดแต่ละขณะหลากหลายมาก แต่ว่าถึงแม้ว่าจะหลากหลายอย่างไร ขันธ์ก็ต้องประเภทของขันธ์นั้นๆ เช่น รูปจะเป็นนามขันธ์ไม่ได้ รูปก็ต้องเป็นรูปขันธ์ เสียง จะกี่เสียงก็ตามแต่ เสียงกลอง เสียงขิม เสียงระนาด ก็เป็นรูปขันธ์ คือ เสียง ไม่ว่าขณะนั้นจะมีปัจจัยปรุงแต่งให้หลากหลายอย่างไร เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ก็เป็นขันธ์ที่เป็นรูป

        เพราะฉะนั้นขันธ์ที่เป็นความรู้สึก ขณะนี้ก็มี แล้วแต่ว่าจะรู้สึกเฉยๆ ดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ ประการใดก็เป็นสภาพของเวทนาเจตสิก ๑ ขันธ์ และสัญญาเจตสิกซึ่งจำ เกิดกับจิตทุกขณะ จำได้ว่า อะไรเป็นอะไร ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นขันธ์ เป็นสัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ หมายถึงเจตสิกอีก ๕๐ ที่ไม่ใช่เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก แล้วเราก็ลืมว่า เป็นขันธ์ ฟังแล้วขณะนี้ไม่มีเราเลย เจตสิกทั้งนั้น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 279


    หมายเลข 12123
    23 ม.ค. 2567