พร้อมที่จะรับสถานการณ์ด้วยความเข้าใจถูก


        อ.อรรณพ ต่อจากพี่สุกัญญา สัญญาเจตสิกก็เกิดกับจิตทุกดวง ทางปัญจทวาร สัญญาก็เกิดจำสีทางตา หรือจำเสียงทางหู ที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ก็ทางมโนทวาร สัญญาก็จำปรมัตถ์ทางปัญจทวารด้วย แต่ทำไมดูเหมือนมีความจำที่เป็นสัตว์บุคคลมากกว่าครับ

        สุ. จำมานานแล้วนี่ค่ะ จำว่าเป็นสัตว์บุคคล จำมากี่ภพกี่ชาติแล้ว

        อ.อรรณพ แต่สัญญาที่จำ จำสี จำเสียง ก็มีทุกภพทุกชาติ

        สุ. จำว่าเป็นอย่างไร

        อ.อรรณพ ตอนปัญจทวารก็ยังไม่เป็นคน

        สุ. เพราะฉะนั้นจำว่าเป็นอย่างไร ไม่ได้จำลักษณะจริงๆ ของรูปารมณ์เลย บางคนกล่าวด้วยซ้ำว่า รูปารมณ์ไม่เคยปรากฏ จริงๆ แล้วรูปารมณ์ต่างหากที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ไม่มีสภาพธรรมนั้น มีแต่ไม่รู้

        อ.อรรณพ การศึกษาพื้นฐานพระอภิธรรมที่ทำให้เราเข้าใจขั้นเรื่องราว เช่น ขณะนี้เราสนทนาเรื่องจิต กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต แต่จริงๆ ขณะนี้เราก็ไม่ได้ประจักษ์ว่า ขณะนี้เป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา หรือเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ทั้งๆ ที่จิตก็ต้องมี ๔ ชาติ คือ อกุศลชาติ กุศลชาติ วิบากชาติ กิริยาชาติ แต่เราก็ไม่สามารถรู้ได้ในทันทีว่า ขณะนี้เป็นจิตชาติใด ทีนี้ความรู้ที่เราศึกษาอยู่จะมีประโยชน์อย่างไรครับ

        สุ. ก็คือจากการไม่เคยรู้เลยว่า ไม่มีเรา แต่ว่ามีสภาพธรรม ก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจได้ เพราะเหตุว่าการที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ยากมาก ถ้าไม่มีการเข้าใจจริงๆ ทีละเล็กทีละน้อย ก็ไม่สามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา

        เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อให้มีการเข้าใจถูก มีความเห็นถูก ก็ต้องพิจารณาตั้งแต่ต้น ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ถูก หรือผิด ถ้าเราไม่มีการพิจารณาเลยว่า แท้จริงเรามีความไม่รู้ มีความไม่เข้าใจ มีความหลงผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ มาจากความไม่รู้ ถ้าเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการที่จะรู้ว่า ก็จะไม่รู้ไปตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่รู้ว่า ทุกคนก็รู้ว่า เกิดมาแล้วต้องตาย และจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ไม่สามารถนำสิ่งที่เป็นที่รักที่ยึดถือนั้นติดตามไปได้เลย แม้แต่ตัวเองก็ไม่สามารถติดตามไปโลกอื่นได้

        ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ว่า ทุกภพทุกชาติเป็นอย่างนี้ เมื่อไรจะจบสิ้น ถ้ายังมีความพอใจอยู่ที่จะเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ในชาติที่เกิดมา เรามีความทุกข์บ้างไหม แล้วความทุกข์มาก หรือน้อย บางคนก็อาจมีความทุกข์น้อยมาก จนกระทั่งรู้สึกว่าไม่กระทบที่จะอยู่ในโลกนี้ หรือในสังสารวัฏฏ์อีกต่อไป เหมือนกับว่าอยู่ไปก็ดี ไม่เดือดร้อนอะไร มีทุกข์บ้างเล็กๆ น้อย ก็ธรรมดา ก็อาจจะเข้าใจว่าอย่างนี้ แต่การที่จะจากโลกนี้ไปสู่ที่ไหน มีใครสามารถที่จะรู้ได้ หรือบางคนที่ไม่สนใจธรรม ก็อาจจะคิดอีกว่า ก็ไม่เห็นเป็นไร ไปไหนก็ได้ แต่จริงๆ แล้วที่ว่า ไปไหนก็ได้ เพราะยังไม่รู้วา ที่จริงไปไหนก็ได้นั้น ไปนรกก็ได้ และที่นรกนั้นก็แสนจะทรมาน ความเจ็บปวดทุกข์ทางกายของชาตินี้ ไม่ว่าจะร้ายแรงสักแค่ไหน ก็เทียบไม่ได้กับในนรก เพราะเหตุว่าแม้จะมีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งขณะนั้นไม่มีทุกขเวทนาเกิด ขณะที่กำลังเห็นจะมีทุกขเวทนาเกิดไม่ได้ เพราะว่าจักขุปสาทกระทบปรากฏเพียงให้เห็น แล้วหมดไปเท่านั้นเอง จะก่อให้เกิดทุกข์ไม่ได้เลย เพราะว่าทุกข์ทางกายจะเกิดก็ต่อเมื่อมีกายปสาทซึ่งจะเกิดในภูมิไหนก็ตาม ที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ก็จะมีกายปสาท

        เพราะฉะนั้นเราจากนรกมาแล้ว โดยลืมแล้วว่า ทุกข์ทรมานขนาดนั้นแค่ไหน แต่จากการที่ได้ยินได้ฟังแล้วจะไปอีก แล้วเมื่อไปถึงที่นั่นจะมีการเข้าใจธรรมไหม ก็ยาก เพราะเหตุว่ามีเวลา หรือมีศรัทธาที่จะได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่โอกาส ไม่ใช่ฐานะที่เป็นไปได้เหมือนอย่างเป็นมนุษย์ เพราะแม้เป็นมนุษย์แล้ว ยังไม่ฟังก็เยอะ ศรัทธาที่ฟังก็ยังน้อยมาก

        เพราะฉะนั้นสะสมการมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ถ้ายังติดข้องในเกิดในมนุษย์ ในสวรรค์ ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะยังไปสู่การไม่เกิดไม่ได้ ก็ต้องเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยไป

        ความรู้เรื่องอื่นก็ยังมีประโยชน์ แล้วทำไมการรู้ความจริงในชีวิต ที่เราไม่สามารถบังคับบัญชาได้ว่า วันไหนจะมีสภาพธรรมใดปรากฏ ก็เป็นสิ่งที่พร้อมที่จะรับด้วยความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ขณะนั้นทุกข์ก็จะน้อยลง เพราะว่าทุกข์กายก็มี ทุกข์ใจยิ่งมากกว่าทุกข์กาย ถ้าขณะใดที่มีทุกข์ใจเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า แม้ว่ากายจะไม่เป็นทุกข์เลย แต่ใจเป็นทุกข์เสียยิ่งกว่านั้นอีก

        ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งซึ่งเราพร้อมที่จะรู้ ที่จะรับความจริง โดยการศึกษาให้เข้าใจ ดีกว่าการที่เราไม่รู้อะไร แล้วเวลาที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ก็เป็นทุกข์มาก

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 276


    หมายเลข 12099
    23 ม.ค. 2567