เกิดมาแล้วก็ต้องเป็นไป


        ผู้ฟัง อาจจะเรียนถามท่านอาจารย์เรื่องการได้ยินกับเสียง เพราะขณะที่ท่านกำลังแสดงธรรมอยู่ ก็มีเสียงอื่นซึ่งเหมือนกับว่าได้ยินพร้อมกัน

        สุ. เห็นกับได้ยิน เหมือนพร้อมกันไหมคะ

        ผู้ฟัง ไม่พร้อมค่ะ

        สุ. ขณะที่ได้ยิน มีเห็นด้วยหรือเปล่า

        ผู้ฟัง คนละขณะกันค่ะ

        สุ. รู้ได้อย่างไรเมื่อยังเห็นอยู่ และได้ยินด้วย

        ผู้ฟัง ฟังจากที่ท่านบรรยาย ตามที่ศึกษา

        สุ. เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจอย่างนี้ ขณะที่คุณชมชื่นถามก็เช่นเดียวกัน จะพร้อมกันไม่ได้ สงสัยว่าอย่างไรคะ

        ผู้ฟัง สงสัยว่าเหมือนจะพร้อมกัน เพราะว่าเกิดความรู้สึกแบบนั้น

        สุ. อะไรเหมือนพร้อมกับอะไร

        ผู้ฟัง เหมือนกับเสียงที่ท่านบรรยายอยู่ แล้วก็มีเสียงอื่นที่เกิดพร้อมกัน

        สุ. แต่คุณชมชื่นสามารถกล่าวได้ว่า มีเสียงอื่น เพราะเป็นเสียงอื่น เพราะจิตรู้เสียงอื่น จะพร้อมกันไม่ได้เลย เสียงนี้กับเสียงพัดลม เสียงเดียวกันหรือเปล่า คนละเสียง เพราะฉะนั้นจะพร้อมกันไม่ได้ กล่าวว่าคนละเสียง แสดงว่าไม่พร้อมกัน

        ผู้ฟัง แต่เสมือนว่า ได้ยินพร้อมๆ กัน

        สุ. พร้อมกันไม่ได้เลยค่ะ อย่างนี้ เสียงพัดลม แล้วก็เสียงนก แล้วก็เสียงคน บอกได้เลยว่า เสียงคน บอกได้เลยว่า เสียงพัดลม บอกได้เลยว่า เสียงนก ก็แสดงความต่างอยู่แล้วว่า พร้อมกันไม่ได้ ขณะที่ได้ยินเสียงพัดลม จะไม่ได้ยินเสียงอื่น ขณะที่ได้ยินเสียงนก ก็ไม่ได้ยินเสียงอื่น ขณะที่ได้ยินเสียงคน ก็ไม่ได้ยินเสียงนก เสียงพัดลม แต่เร็วมาก จนกระทั่งเหมือนพร้อมกันอย่างเห็นกับได้ยิน ไม่ได้พร้อมกันเลย แต่เหมือนกับทั้งที่ได้ยินก็เห็นด้วย เห็นไม่ได้ดับไป หมดไป แล้วปรากฏแต่เพียงได้ยินเสียงเท่านั้น ฉันใด การเกิดดับของจิตก็เร็วมาก จนกระทั่งเสมือนว่าพร้อมกัน แต่ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ รู้อารมณ์หนึ่งแล้วดับไปก่อน เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ถ้าจิตขณะก่อนยังไม่ดับ จิตขณะต่อไปเกิดไม่ได้เลย ใครจะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นมาซ้อนกันก็ไม่ได้ เพราะว่าจิตขณะหนึ่งที่ดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เมื่อจิตนั้นปราศไป ไม่มีเหลือแล้ว

        เพราะฉะนั้นขณะนี้เป็นอย่างนี้ เป็นความว่างเปล่า จากเพียงเห็นแล้วก็หมดไปได้ยินแล้วก็หมดไป คิดนึกแล้วก็หมดไป เกิดมาแล้วก็ต้องเป็นไป ไป ไม่เหลือ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง คิดนึกบ้าง ก็ไปอยู่ตลอดเวลา

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 262


    หมายเลข 12008
    23 ม.ค. 2567