ธาตุรู้


        สุ. จำเสียงได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง จำได้ค่ะ

        สุ. จิตไม่ได้จำ จิตรู้แจ้งเสียง แต่ขณะที่จิตเกิด ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเจตสิกที่เป็นสภาพจำ จำเสียง จึงกล่าวว่า รู้เสียง เพราะจำเสียง แต่ไม่ใช่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของเสียง แต่เป็นสภาพที่จำเสียงที่ปรากฏ ลักษณะที่จำ ก็ต้องเป็นลักษณะที่รู้เสียงนั้นด้วย ถ้าไม่รู้ คือ ไม่รู้ว่าเสียงนั้นๆ เป็นอะไร จะจำเสียงนั้นๆ ได้ไหม ก็ไม่ได้

        ด้วยเหตุนี้ แม้จิต และเจตสิกเป็นสภาพรู้ แต่จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้เสียง ส่วนเจตสิกแต่ละเจตสิกที่เกิดกับจิต ต่างก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ โดยสับสนกันไม่ได้ เจตสิกอื่นจะจำไม่ได้เลย แต่เจตสิกที่จำ ภาษาบาลีใช้คำว่า สัญญาเจตสิก ซึ่งเวลาที่เราใช้ภาษาไทย สัญญากับคนนั้น สัญญากับคนนี้ สัญญาแล้วลืมไหม

        เพราะฉะนั้นสัญญาสำหรับเจตสิก ก็หมายความถึงสภาพที่จำ ขณะนี้รู้ไหมคะว่า ใครนั่งอยู่ตรงนี้

        ผู้ฟัง รู้ค่ะ

        สุ. เคยเห็นหลายครั้งแล้วใช่ไหมคะ รู้จักชื่อไหมคะ

        ผู้ฟัง ไม่รู้จัก

        สุ. จำหน้าได้ แต่ไม่รู้จักชื่อ ก็ไม่ได้จำชื่อนี้ เพราะว่าไม่รู้จักชื่อ

        นี่แสดงให้เห็นว่า สภาพจำมีจริง เป็นสภาพรู้ด้วย เพราะว่าจำสิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น และสภาพนั้นก็ต้องรู้ในสิ่งนั้นด้วย แต่รู้โดยฐานะที่จำ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกอื่นจะทำหน้าที่นี้ไม่ได้เลย

        นั่นคือลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภท ซึ่งมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท เข้าใจอย่างนี้เรื่องจิต เรื่องเจตสิก มีประโยชน์อะไรคะ ฟังแล้วไม่มีประโยชน์ แล้วจะฟังทำไมคะ

        ถามว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ จากการที่ไม่เคยรู้เลย จิตเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ กำลังได้ยินก็ไม่รู้ว่าเป็นจิต กำลังเห็นก็ไม่รู้ว่าเป็นจิต เข้าใจว่าเป็นเราแน่นอน เราเห็น เราได้ยิน เราคิดนึก เราสุข เราทุกข์ แต่เมื่อรู้ว่า ความจริงเป็นสภาพธรรม เมื่อเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ไม่รู้ไม่ได้ อย่างคำถามตอนแรกที่ถามว่า มีใครที่จะไม่ให้จิตเกิดได้ไหม

        ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

        สุ. มีใครที่ไม่ให้จิตที่เกิดแล้วดับไปได้ไหม

        ผู้ฟัง ก็ไม่ได้อีกค่ะ

        สุ. ก็ไม่ได้ นี่คือธรรม คือ เริ่มเข้าใจความหมายของธรรม ไม่ใช่เพียงคำ แต่ว่าธรรมเป็นสภาพที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เห็น จะได้ยินได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง เห็นได้ยินไม่ได้ค่ะ

        สุ. เป็นเราหรือเปล่า

        ผู้ฟัง เห็นก็ไม่ใช่เราค่ะ

        สุ. เป็นอะไรคะ

        ผู้ฟัง เป็นจิต

        สุ. ได้ยินเป็นเราหรือเปล่าคะ

        ผู้ฟัง ไม่ใช่เราค่ะ

        สุ. ได้ยินมีจริงๆ ใช่ไหมคะ

        ผู้ฟัง มี

        สุ. แล้วเป็นอะไรคะ

        ผู้ฟัง ได้ยินเป็นเสียงค่ะ

        สุ. ได้ยินไม่ใช่เสียง เสียงเป็นเสียง ถ้าไม่มีจิต สภาพที่กำลังรู้เสียงนั้น เสียงนั้นจะปรากฏว่าเป็นเสียงอย่างนี้ ไม่เป็นเสียงอื่นไม่ได้

        นี่คือชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ได้ฟังธรรม ยากที่จะเข้าใจ เพราะไม่เคยคิด คิดแต่เรื่องราวต่างๆ ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการรู้อย่างนี้ มีประโยชน์ไหมคะ

        ผู้ฟัง มีค่ะ คือ ให้รู้จักจิตใช่ไหมคะ

        สุ. ค่ะ คือ ถ้าไม่ใช้ชื่อ เราพูดกันไม่ได้เลยว่า กำลังถามเรื่องจิตหรือเจตสิก จำเป็นต้องใช้ แต่ให้เข้าใจความหมายของคำที่ใช้ และไม่ใช่เพียงเข้าใจความหมายด้วย เข้าใจสภาพธรรมซึ่งเราใช้คำนั้น สำหรับให้รู้ว่า หมายความถึงสภาพธรรมอะไร

        เพราะฉะนั้นการเข้าใจอย่างนี้มีประโยชน์ไหมคะ

        ผู้ฟัง มีประโยชน์มากค่ะ

        สุ. มีประโยชน์อย่างไรคะ

        ผู้ฟัง ทำให้ตัวเองเข้าใจถึงธรรมชาติที่เกิดขึ้นมา

        สุ. คือสิ่งที่มีจริงตลอดชีวิต โดยที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย และสามารถรู้จริงๆ ในสภาพธรรมที่เป็นเพียงธาตุรู้ได้ไหม

        ผู้ฟัง ได้ค่ะ

        สุ. เมื่อไรคะ

        ผู้ฟัง บางขณะก็รู้ได้ค่ะ

        สุ. รู้ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรา ลักษณะของธาตุชนิดนี้ เป็นธาตุที่มืดสนิท เกิดขึ้นรู้แล้วก็ดับไป รู้ลักษณะที่เป็นจริงอย่างนี้หรือยัง

        ผู้ฟัง รู้ค่ะ

        สุ. เมื่อไรคะที่รู้

        ผู้ฟัง ที่เห็นค่ะ

        สุ. อาศัยอะไรจึงรู้

        ผู้ฟัง อาศัยจิตค่ะ

        สุ. ไม่ใช่ค่ะ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้ จิตที่ดีก็มี จิตที่ไม่ดีก็มี จิตที่กำลังเห็นแต่ไม่รู้อะไรเลย ไม่เข้าใจถูก ไม่เห็นถูกเลยก็มี เกิดขึ้นเพียงเห็นแล้วก็ดับไป

        เพราะฉะนั้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังกล่าวถึงหรือเปล่า ว่า เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง ไม่มีรูปร่างสัณฐานเลย เป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป รู้ความจริงอย่างนี้หรือยังคะ

        ผู้ฟัง ยังค่ะ

        สุ. ยัง แต่จะรู้ได้ไหม

        ผู้ฟัง คิดว่าต่อไปคงจะได้

        สุ. แน่นอนค่ะ เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าสิ่งใดเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เหลือวิสัย แต่ไม่ใช่ตัวเราไปรู้ ต้องเป็นปัญญาที่อบรมเจริญขึ้น จนสามารถประจักษ์ความจริงได้

        เพราะฉะนั้นปัญญาขั้นฟัง กำลังเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม คือ จิต และเจตสิก ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า ไปรู้ลักษณะนั้นยังไม่ได้ เพียงแต่ว่ากำลังฟังเรื่องของธรรมที่มีจริง และเริ่มเข้าใจถูกขั้นฟัง เพราะฉะนั้นปัญญาต้องเจริญต่อไปอีก ฟังอีกกี่ครั้งถึงจะรู้ได้คะ

        ผู้ฟังคิดว่าต้องฟังอีกนาน

        สุ. นับจำนวนครั้งไม่ได้เลย

        ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

        สุ. เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้ง แต่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจแต่ละครั้งที่ฟัง อย่างฟังวันนี้มีความเข้าใจอย่างนี้ ต่อไปถ้าฟังเพิ่มขึ้น ความเข้าใจก็จะละเอียดขึ้นด้วย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 262


    หมายเลข 12007
    23 ม.ค. 2567