จิต


        สุ. กำลังลิ้มรสหวานบ้าง เค็มบ้าง จิตที่รู้รสนั้นเป็นอะไรคะ มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ เพราะจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏ เพราะฉะนั้นจะขาดจิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ จิตอะไรคะ มีจิตแน่ เป็นจิตอะไรคะ เดี๋ยวนี้

        ผู้ฟัง จิตเห็น ได้ยิน

        สุ. มีจิตอะไรอีกคิดหรือเปล่าคะ คิดหรือเปล่าคะ

        ผู้ฟัง คิดค่ะ

        สุ. เพราะฉะนั้นก็เป็นจิต ลิ้มรสหรือเปล่าคะ

        ผู้ฟัง เปล่าค่ะ

        สุ. รู้แข็งไหมคะ

        ผู้ฟัง รู้ค่ะ

        สุ. รู้แข็งเป็นอะไรคะ

        ผู้ฟัง เป็นจิต

        สุ. แข็งไม่ใช่จิต แต่สภาพที่กำลังรู้แข็ง ที่ปรากฏขณะนั้นเป็นจิต เมื่อเข้าใจจิตแล้ว ต่อไปก็ทราบว่าอย่างอื่นนอกจากนี้ ลักษณะในวันหนึ่งๆ ก็เป็นเจตสิกที่มีชื่อต่างๆ บางคนก็บอกว่า ชื่อเยอะ อย่างเจตสิก ๕๒ ชื่อ ที่นั่งอยู่นี่ เกิน ๕๒ คน ค่อยๆ จำไปทีละคนก็รู้ได้ใช่ไหมคะว่า คนนี้ชื่ออะไร

        เพราะฉะนั้นเจตสิกแต่ละเจตสิกก็คุ้นหูในภาษาไทย เพียงแต่เราไม่เข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดกับจิต จะไม่เกิดกับสภาพอื่นใดได้เลย นอกจากจิต จึงชื่อว่า เจตสิก เพราะเป็นธรรมที่เกิดในจิต เกิดกับจิต เกิดพร้อมจิต และดับพร้อมจิตด้วย

        เพราะฉะนั้นต่อไปต้องถามใครไหม ถ้าเรารู้ว่าแล้วว่า จิตคืออะไร เจตสิกคืออะไร

        การศึกษา การฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วไม่ต้องถามเลย เพราะว่าเข้าใจแล้ว

        ผู้ฟัง จิตนี่รู้ชัด แต่เจตสิกยังไม่รู้ไม่ชัด

        สุ. เดี๋ยวก่อนนะคะ ต้องฟัง จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้ เสียงมีหลายเสียงไหมคะ

        ผู้ฟัง มีหลายเสียง

        สุ. สภาพที่สามารถรู้ว่า เสียงนี้ต่างกับเสียงอื่น แต่ละเสียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และไม่เหมือนกันด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้นกำลังรู้เสียงใด แจ้งในลักษณะของเสียง ต้องไปอธิบาย ต้องไปบอกใครไหมคะว่า เสียงที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ เป็นเสียงแหลม เสียงคม เสียงทุ้ม เสียงต่ำ ไม่มีคำพอที่จะอธิบายจนกระทั่งคนอื่นสามารถเข้าใจได้ นอกจากจิตได้ยินเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นไม่ต้องมีใครบอกหรืออธิบายลักษณะของเสียงซึ่งจิตกำลังได้ยิน เพราะว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของเสียง

        นี่คือจิต

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 262


    Tag  จิต  
    หมายเลข 12006
    23 ม.ค. 2567