ความเป็นโสภณ - อโสภณ


        อ.วิชัย ในขั้นต้นเมื่อฟังเรื่องโสภณกับอโสภณ ก็เป็นการพิจารณาตาม แต่ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ขณะที่เริ่มอบรม สติเกิด ชั่วขณะที่สติระลึก ยังไม่มีกำลังพอที่จะรู้ถึงความเป็นโสภณหรืออโสภณ อย่างเช่นระลึกที่โลภะ โดยสภาพของโลภะ เป็นอโสภณ แต่ชั่วขณะที่สติระลึก เริ่มต้นยังไม่รู้ถึง แต่โดยสภาพก็เป็นอยู่แล้ว อย่างนั้นใช่ไหมครับ

        สุ. ค่ะ เพราะเหตุว่าแม้ลักษณะของนามธรรมที่เอื้อมมือไป โดยทฤษฎี โดยการศึกษา โดยตำรา คัมภีระ เป็นโลภมูลจิตที่ทำให้กายไหวไป สามารถจะรู้จิตที่เป็นโลภะที่ทำให้กายไหวไปไหม ต่อเมื่อใดอาหารอร่อย เราก็เรียกชื่อว่า โลภะ เพราะเหตุว่าปรากฏชัด แต่ว่าตามความเป็นจริงชีวิตประจำวันซึ่งไม่ปราศจากโลภะในการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่โทสะ ก็ต้องเป็นโลภะ ก็ไม่ได้รู้สภาพจิตในขณะนั้น

        เพราะฉะนั้นแม้แต่ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะสติไม่ได้เกิดที่จะรู้ความเป็นจริง ตามลำดับที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ต้องกล่าวถึงเจตสิก ถ้าลักษณะสภาพของเจตสิกนั้นๆ ไม่ได้ปรากฏ ลักษณะของโทสะ สามารถรู้ได้ แต่เป็นเรา และโดยตำราเรียกชื่อได้หลายชื่อ พยาปาทก็ได้ โทสะก็ได้ ปฏิฆะก็ได้ แต่ว่าตัวสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา เกิดแล้วก็หมดไป เป็นธรรมเช่นเดียวกับธรรมอื่นๆ ทั้งหมด ธรรมต้องเป็นธรรมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็เป็นธรรม แต่ถ้าสติสัมปชัญญะไม่ได้ระลึกลักษณะนั้น จะเอาความจริง ความเข้าใจอย่างมั่นคง อย่างถ่องแท้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมมาจากไหน แต่พอสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ลักษณะนั้นปรากฏ เช่น แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว จะใช้คำว่า เหนียวเหนอะหนะ ลื่น หรืออะไรก็ตามแต่ ไม่ต้องมีคำนั้นเลย เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นกำลังเป็นอย่างนั้น ให้รู้ว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ

        เพราะฉะนั้นการที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมก็คือรู้จริงในลักษณะของสิ่งที่มีจริง ที่ได้ศึกษาแล้ว เข้าใจแล้ว แต่ต้องเป็นตามลำดับ คือ รู้ว่าเป็นธรรมแน่ เพราะมีจริงๆ และลักษณะของรูปธรรม ไม่ต้องเอ่ย ไม่ต้องเรียก แต่เมื่อระลึกที่แข็งบ่อยๆ ก็แข็งนั่นแหละ ก็เป็นลักษณะแข็ง จะไม่ใช้คำว่า รูปธรรม ก็ได้ ต่อเมื่อใดสภาพรู้สติระลึกเข้าใจได้ ลักษณะนั้นก็ไม่ต้องเรียกชื่อเหมือนกันว่า เป็นอะไร

        เพราะฉะนั้นที่ไปเรียกถึงกับโสภณจิต หรือประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับ แต่แน่นอนลักษณะนั้นจะปรากฏแก่ปัญญาที่ละเอียดขึ้นว่า สภาพธรรมใดเป็นอกุศล สภาพธรรมใดเป็นกุศล ทั้งๆ ที่แม้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ปัญญาขั้นต้นไม่สามารถรู้ถึงความเป็นกุศล และอกุศลได้ เพราะต้องถึงลักษณะที่เป็นนามธรรมก่อน

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 260


    หมายเลข 11995
    23 ม.ค. 2567