ไม่คำนึงถึงสติปัฏฐานแต่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง


        อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวคล้ายกับว่า ให้เห็นความต่างของนามธรรมกับรูปธรรมก่อนหรือครับ

        สุ. ไม่ใช่ขั้นฟัง เช่น ขณะนี้รู้แน่เลย มีรูปกำลังปรากฏ ทางตาอย่างหนึ่ง ทางหูอย่างหนึ่ง นี่คือขั้นฟัง แล้วก็สภาพเห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็รู้ว่า สภาพได้ยินที่กำลังได้ยินเสียงทางหู ก็รู้ว่ามี แต่ว่าลักษณะนั้นปรากฏในความเป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย เป็นลักษณะธาตุรู้ที่เกิดขึ้น และรู้ เพราะว่าสภาพธรรมที่ปัญญาจะรู้ได้ต้องทีละอย่าง เมื่อสติสัมปชัญญะกำลังระลึกที่ลักษณะนั้น

        เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสภาพรู้ที่ไม่มีรูปใดๆ เจือปน จะเกิดความคิดหรือสงสัยไหมคะว่า นี่ภวังคจิต เรียกชื่ออย่างนี้ หรือว่าเป็นอะไร หรือว่าเป็นจิตไหน ถ้าขณะนั้นยังสงสัย แม้ว่าสภาพนั้นกำลังปรากฏ ก็แสดงให้เห็นว่า ปัญญาไม่สามารถรู้ถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะเพียงเริ่มที่จะเห็นลักษณะที่เป็นนามธรรม ที่ต่างกับรูปธรรม

        ผู้ฟัง จะเรียนถามว่า ในขณะที่เรามองเห็น เราจะนึกคิดทันที ๑ ขณะจิตนั้นก็หมดไปแล้ว เป็นบัญญัติไปหมดเลย ไม่ใช่เป็นปรมัตถธรรมที่ควรจะศึกษา ทีนี้สิ่งที่ควรศึกษา คือ อารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ อันนี้ยากมากกว่าจะถึงตรงนั้น เราก็อยากจะอยู่ในขั้นพิจารณาก่อน

        สุ. คงไม่ต้องกฎเกณฑ์ เพราะเหตุว่าแต่ละคนก็คือเมล็ดพืช ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่า ชีวิตจะเป็นไปอย่างไร จนกระทั่งถึงวันนี้ผ่านขณะที่ปฏิสนธิมากมาย โดยที่ก่อนนั้นจะไม่รู้เลยว่า แต่ละวันอะไรจะเกิดขึ้น แต่ปฏิสนธิก็ประมวลมาซึ่งกรรมที่จะให้ผล เป็นปัจจัยให้ชีวิตดำเนินไป

        เพราะฉะนั้นเมื่อมีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้ว ต้องมีปวัตติ การสืบต่อเป็นไปของการสะสม แม้กรรม และกิเลสที่ได้สะสมมาแล้ว ทำให้แต่ละคนต่างกัน ไม่สามารถบอกได้ว่า การฟังวันนี้ ใครเข้าใจมากน้อยแค่ไหน แต่จะก้าวไปถึงว่า แล้วใครจะสติเกิดเมื่อไร ช่วยหน่อย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าแต่ละคนต้องเป็นไปตามการสะสม

        ด้วยเหตุนี้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ไปคำนึงถึงว่า เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด เมื่อไรจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่เป็นการเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ถ้าไม่มีการเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ไม่ต้องไปคิดถึงสติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะ ปัญญาระดับต่างๆ เลย เพราะว่าชีวิตดำเนินไปแต่ละขณะ แล้วแต่ละขณะกำลังสะสม ไม่ใช่เรามุ่งต้องการตั้งใจ แต่ว่าสภาพธรรมแม้แต่การได้ฟัง แล้วก็เข้าใจความหมายของคำว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” จะทำให้เรามีความมั่นคงที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราจะไปทำ หรือเร่งรัด หรืออะไรเลย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 260


    หมายเลข 11996
    27 ม.ค. 2567