วิบากจิตทางกายกับทางใจ


        ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดถึงผลของกรรม ก็คือวิบากจิต ทีนี้จะกล่าวได้ไหมว่า ขณะที่ได้ยินเสียง ขณะนั้นเรารู้แล้วว่า เป็นวิบากจิต แต่ยังไม่ทราบลักษณะ แต่จะกล่าวได้ไหมว่า เรารู้แล้วว่าขณะนั้นเป็นวิบากจิต

        ท่านอาจารย์ กำลังได้ยินขณะนี้หมดแล้ว จะกล่าวตอนไหนเมื่อไรว่าเป็นวิบากจิต ได้ยินเกิดขึ้นได้ยินแล้วดับเลย

        ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าจะรู้จริงๆ ก็คือต้องมีสติสัมปชัญญะเกิดถึงจะรู้

        ท่านอาจารย์ อันนี้แน่นอนที่สุดค่ะ ที่จะต้องทราบว่า ปัญญาจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีสติ

        ผู้ฟัง อยากเรียนถามถึงวิบากจิตทางกายกับทางใจ

        ท่านอาจารย์ ทางกายพอรู้ได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง ทางกายก็ยังมีความรู้สึกว่า ต่างกับทางตา หู จมูก ลิ้น

        ท่านอาจารย์ ต่างอย่างไรคะ

        ผู้ฟัง ต่างที่เวทนา

        ท่านอาจารย์ และต่างที่อะไรอีก

        ผู้ฟัง ต่างที่สิ่งที่ปรากฏทางกาย จะมีจำนวนมากกว่า เพราะว่าลักษณะของรูปที่ปรากฏทางกาย ก็มีถึง ๓ ประเภท

        ท่านอาจารย์ ที่ว่าต่าง เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏทางกาย จะไปปรากฏทางตาได้ไหม

        ผู้ฟัง ไม่ได้

        ท่านอาจารย์ นี่คือความต่าง เพราะฉะนั้นอารมณ์ที่จิตเกิดขึ้นรู้แต่ละทาง ต่างกัน อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องอาศัยตา และจิตเห็นเกิดขึ้น กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่แข็ง ไม่อ่อน ไม่ร้อน ไม่เย็น เกิดขึ้นเมื่อไรก็จะมีเพียงสิ่งนี้แหละปรากฏ กี่ภพกี่ชาติ ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏแก่จิตเห็น เพราะฉะนั้นต่างกันที่อารมณ์ด้วย และที่ว่าต่างกันที่จำนวนก็คิดว่า หมายความว่าทางตามีรูปอย่างเดียว ทางหูมีรูปอย่างเดียว คือ เสียง ทางจมูกมีรูปเดียว คือ กลิ่น ทางลิ้นมีรูปเดียว คือ รส แต่รสหลากหลายไหมคะ รสเปรี้ยว รสเค็ม รสหวาน ก็เป็นรสทั้งหมด แต่ว่ารู้ได้ทางลิ้น แต่มหาภูตรูปมี ๔ ไม่ได้แยกกันเลย คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มหาภูตรูป ๓ คือ ธาตุดิน ลักษณะที่อ่อนแข็ง ปรากฏเมื่อกระทบกับกายปสาท และจิตเกิดขึ้นรู้ลักษณะนั้นได้ และธาตุไฟมีลักษณะที่ร้อน เวลาเห็น อาจจะคิดว่าไฟร้อน เพราะเห็นไฟ แต่ลักษณะร้อนไม่ได้ปรากฏ เพราะว่าเพียงแต่สีสันเท่านั้นที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นลักษณะที่ร้อนต้องปรากฏที่กายปสาท จิตเกิดที่นั่น รู้สิ่งนั้น แล้วก็ดับไป และอีกลักษณะหนึ่ง คือ ลักษณะที่ไหวหรือตึง นั่นก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ความสงสัยก็ไม่มี เพราะเหตุว่าเมื่อไรที่มีลักษณะแข็งปรากฏ รู้ได้เลยว่า ทางกาย เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า ไม่รู้อารมณ์ทางกาย ไม่ได้

        ผู้ฟัง แล้วลักษณะของกุศลวิบากกับอกุศลวิบากทางตา เห็นสิ่งที่ดีกับไม่ดี อันนี้ก็พอเข้าใจ แต่พอเป็นกุศลวิบากกับอกุศลวิบากทางกาย

        ท่านอาจารย์ ง่ายกว่านั้นอีก คือ ถ้าเป็นทางกาย ทุกข์เกิดขึ้นทางกายเมื่อไร นั่นคืออกุศลวิบากทางกาย

        ผู้ฟัง มีเวทนาเข้ามาเกี่ยวข้อง

        ท่านอาจารย์ เวทนาต้องเกิดกับจิตทุกประเภทค่ะ ไม่มีจิตสักขณะเดียวที่ไม่มีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวลาที่นามขันธ์ คือ จิตเกิด ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกจะเกิดโดยไม่มีจิต และเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ จิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ เวทนาเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกประเภท แล้วแต่ว่าจะเป็นอุเบกขาเวทนา คือ อทุกขมสุขเวทนา หรือจะเป็นโสมนัสเวทนา เป็นโทมนัสเวทนา หรือเป็นทุกขเวทนา หรือเป็นสุขเวทนา ถ้าแยกกล่าวทางกาย ทางใจ ขณะใดที่รู้สึกไม่สบายกาย นั่นคืออกุศลวิบากทางกาย

        ผู้ฟัง แล้วลักษณะของแข็งที่ปรากฏ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของเวทนาที่เป็นความทุกข์ เราก็ไม่สามารถแยกออกได้ว่า แข็งที่ปรากฏนั้นเป็นอกุศลวิบากหรือกุศลวิบาก

        ท่านอาจารย์ จิตรู้อารมณ์ทีละอย่าง หรือรู้ได้พร้อมกัน ๒ อย่าง

        ผู้ฟัง รู้ได้ทีละอย่าง

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรปรากฏ

        ผู้ฟัง แข็งปรากฏ

        ท่านอาจารย์ ถ้าแข็งปรากฏ จะให้ไปรู้เวทนาได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง ไม่ได้

        ท่านอาจารย์ เวลาทุกข์ ไม่สบายกายเกิดขึ้น ขณะนั้นจะให้รู้แข็งได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง ไม่ได้

        ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ ก็รู้ได้ทีละอย่าง

        ผู้ฟัง แล้วทางใจละคะ

        ท่านอาจารย์ ทางใจสามารถรู้ได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ก็มีทั้งสุขทางใจ และทุกข์ทางใจ

        ท่านอาจารย์ โดยสามารถที่จะปรากฏให้รู้ได้ ก็มีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งรับรู้สภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กายต่อ และคิดนึก แต่ส่วนที่จะเป็นวิบากทางกาย และเกิดขึ้นรู้วิบากนั้นทางใจด้วย เป็นเรื่องที่จะต้องเรียนเรื่องวิถีจิตก่อน

        อย่างทางตา เห็น เป็นวิบาก มีวิบากที่เกิดต่อจากชวนะ รู้ได้ไหม เพราะว่าปรากฏแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แม้แต่ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบที่เกิดต่อ ก็ไม่รู้แล้ว แล้วจะไปรู้วิบากที่เกิดต่อจากชวนะทางตาก็ไม่ได้ ฉันใด วิบากที่เกิดทางใจต่อ ก็รู้ไม่ได้ฉันนั้น และจะกล่าวถึงทำไม จะไปติดใจสงสัยวิบากทางใจเป็นอย่างไรคะ

        ผู้ฟัง อย่างนี้ลักษณะของเวทนาที่ปรากฏทางใจ ก็ไม่ใช่วิบาก

        ท่านอาจารย์ ทางใจรู้อารมณ์อะไร

        ผู้ฟัง ธัมมารมณ์

        ท่านอาจารย์ ค่ะ ธัมมารมณ์อะไรบ้าง

        ผู้ฟัง ธัมมารมณ์ก็มีทั้งรูป และทั้งนาม

        ท่านอาจารย์ ก็พูดถึงขณะนี้ซึ่งมีหรือเปล่า ถ้าเป็นรูปเป็นนาม แต่ถ้าขณะที่กำลังคิดนึกมีไหม

        ผู้ฟัง มีค่ะ

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่คิดเป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางใจ แล้วจะไปรู้ถึงวิบาก คือ ตทาลัมพนะ ซึ่งเกิดต่อจากชวนะได้ไหม

        คือ การศึกษา จะมีการศึกษาโดยชื่อ ก็จะทำให้เกิดความสงสัย และไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ปัญญาของแต่ละคนจริงๆ สามารถที่จะรู้ได้ระดับไหน ผู้ที่สามารถรู้ได้ ก็กล่าวได้ แต่ผู้ที่ไม่สามารถจะรู้ได้ ก็ฟัง แล้วก็พิจารณาเพียงเข้าใจ แต่รู้ว่า ไม่สามารถจะรู้อย่างนั้นได้

        ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นลักษณะของสุขทางใจกับทุกข์ทางใจที่เกิดขึ้น ซึ่งมีจริงในชีวิตประจำวัน แล้วเป็นสภาพธรรมที่เกิดทางใจ เราจะพิจารณาอย่างไร

        ท่านอาจารย์ สุขทางใจ เมื่อไร

        ผู้ฟัง เมื่อสมความปรารถนา อันนี้ก็ทราบว่าเป็นโลภะ

        ท่านอาจารย์ ค่ะ เมื่อคิดนึกเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลก็ได้ เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงลักษณะของความรู้สึกที่เป็นสุข แยกเป็นทางใจ เป็นโสมนัสเวทนา ถ้าทางกาย ก็เป็นสุขเวทนา ถ้าเป็นทางใจ ก็เป็นทุกข์ทางใจ แต่ว่าทุกข์กาย หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เวลาปวดเจ็บเกิดขึ้น ทางกายหรือทางใจ เวทนา ความรู้สึก

        ผู้ฟัง ก็ทั้งกาย และใจ

        ท่านอาจารย์ เวลาปวด ความรู้สึกปวด อาศัยกายปสาท กายเป็นทุกข์ พระอรหันต์มีโทมนัสไหม

        ผู้ฟัง พระอรหันต์ไม่มี

        ท่านอาจารย์ มีทุกข์ทางกายค่ะ เจ็บไข้ได้ป่วย พระผู้มีพระภาคทรงประชวร แต่ไม่มีโทมนัส นี่เราก็ต้องเห็นแล้วว่า แยกกัน ถ้าทางกาย ก็ต้องเป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้ทำแล้ว แต่ถ้าเป็นโทมนัส เป็นความรู้สึกไม่แช่มชื่น เป็นทุกข์ เกิดได้ทุกทวาร ขณะใดที่ลักษณะของโทสมูลจิตเกิด ขณะนั้นต้องเป็นโทมนัสเวทนา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ได้ เป็นชวนะมี ที่เป็นโทมนัส แล้วทางใจก็มี

        จริงๆ ธรรมไม่ได้พูดให้งง แต่หมายความว่า รู้จากชีวิตจริงๆ จะได้เข้าใจได้ เพราะว่าต้องสอดคล้องกัน พระธรรมที่ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงตามความเป็นจริง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 258


    หมายเลข 11978
    23 ม.ค. 2567