รูปธรรมและนามธรรม


        ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะมั่นคงไปเลยว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็คือการเข้าใจว่าไม่ใช่เรา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ท่านอาจารย์กล่าวในลักษณะที่บอกว่า สีถูกเห็น แล้วอะไรเห็นสี เพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องเข้าใจทั้งรูป และนาม แต่เผื่อเป็นคำถามนี้ สีถูกเห็น อะไรเห็นสี สิ่งที่ถูกเห็นเป็นรูปหรือคะ เพราะว่าถูกเห็น เป็นลักษณะอย่างนั้นหรือเปล่าคะ

        สุ. รูปคืออะไร

        ผู้ฟัง ที่ฟังแล้ว รูปคือสิ่งที่ไม่รู้อะไรเลย

        สุ. เพราะฉะนั้นคำนี้เปลี่ยนไม่ได้เลย ไม่ว่าจะมองเห็นหรือมองไม่เห็นอย่างไรก็ตาม สภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นรูปธรรม กลิ่นมองไม่เห็น รสมองไม่เห็น ก็เป็นรูปธรรม เพราะว่าไม่สามารถจะรู้อะไรด้วย

        ผู้ฟัง แล้วคำว่าอะไรเห็นสี

        สุ. ขณะนี้มีเห็นหรือเปล่าคะ

        ผู้ฟัง เห็นค่ะ

        สุ. เห็นนั่นแหละเห็นสี หรือสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่เห็นอย่างอื่น

        ผู้ฟัง ฟังดูแล้วลักษณะที่เป็นรูปธรรมกับนามธรรมตรงนี้ก็ต้องสนใจอยู่ ก็คงไม่ต้องไปเรียนอะไรมากมาย ในชีวิตประจำวันก็มีอย่างนี้อยู่แล้ว

        สุ. เรียนมาก แต่ไม่เข้าใจ กับเข้าใจคำทุกคำที่ได้ยินยิ่งขึ้น อย่างไหนจะมีประโยชน์

        ผู้ฟัง สังเกตดูมาฟังที่นี่ ก็จะพูดกันแต่ลักษณะตรงนี้ว่า การเห็นสิ่งที่ปรากฏ และก็สภาพรู้ ก็เลยเข้าใจว่าตรงนี้กำลังจะแยกความ ...

        สุ. แล้วข้อความนี้มีในพระไตรปิฎกหรือเปล่า

        ผู้ฟัง มีค่ะ

        สุ. ถ้ามี ก็ชื่อว่า ฟังธรรมเพื่อเห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีจริงๆ

        ผู้ฟัง การที่เราศึกษาพระธรรม คือจะได้น้อมเข้ามาพิสูจน์ใช่ไหมว่า พระพุทธองค์ท่านตรัสเรื่องต่างๆ เป็นความจริง

        สุ. ค่ะ ไม่มีคำเท็จเลย ไม่มีสิ่งที่ไม่จริง

        ผู้ฟัง แต่บางครั้งเรายังเข้าใจไม่ได้ ก็เลยคิดว่า นี่จริงหรือเปล่านะ

        สุ. เช่นอะไรคะ

        ผู้ฟัง เช่นอย่างสติปัฏฐาน เราจะระลึกรู้ได้จริงๆ หรือตรงสภาพธรรมที่ปรากฏ

        สุ. สิ่งนั้นมีจริงหรือเปล่า

        ผู้ฟัง มีค่ะ

        สุ. แล้วถ้ามีความเข้าใจถูก แล้วก็รู้ความต่างกันขณะที่เพียงคิดเรื่องราวกับขณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสิ่งนั้น ก็เป็นความต่างกัน

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 257


    หมายเลข 11960
    23 ม.ค. 2567