ศีลอุโบสถ


        ผู้ฟัง อยากจะถามเรื่องศีล ๘ ที่ว่าถือในวันอุโบสถศีล ได้ฟังที่ท่านอาจารย์บอกว่า อุโบสถศีลเป็นปกติศีลของพระอนาคามีบุคคล แล้วอย่างชาวบ้านเรานี่ไปถือศีล ๘ ทีนี้ได้ยินคำบอกเล่าจากคนแก่ว่า ถ้าถือศีล ๘ จะทำอะไรไม่ได้เลยเกี่ยวกับการทำมาหากิจในวันนั้น คือ ต้องหยุดเลย

        สุ. ที่ใช้กันมี ๒ คำ ศีล ๘ กับศีลอุโบสถ ศีล ๘ เป็นปกติ จะรักษากี่วันก็ตามอัธยาศัย และศีลอุโบสถ ก็คือ ศีลที่รักษาในวันอุโบสถ

        ผู้ฟัง อย่างรักษาศีลอุโบสถแล้ว กลับมาบ้านแล้ว เรามีงานทำ เราทำต่อได้ไหมคะ

        สุ. จุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลกับการรักษาศีล ๘ ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไรคะ เพราะว่าศีล ๘ เป็นปกติทุกวันได้ ไม่ใช่วันอุโบสถ แต่พอถึงวันอุโบสถ ชื่อเป็นศีลอุโบสถหมายความว่าอะไร ควรจะทำอะไรในวันนั้น หรือควรจะเหมือนทุกๆ วันที่รักษาศีล ๘ แต่ศีล ๘ ไม่ได้ห้าม เป็นปกติในชีวิตประจำวันได้ แต่เพิ่มขึ้นจาก ๕ เป็น ๘

        ผู้ฟัง แต่สำหรับศีลอุโบสถ ก็ถือในวันอุโบสถ

        สุ. คือศีล ๘ นั่นแหล แต่ในวันอุโบสถ

        ผู้ฟัง ก็คือต้องงดการทำมาหากิน

        สุ. มิได้ค่ะ คือ ไม่ได้เข้าใจว่ารักษาศีลด้วยอะไร เพื่ออะไร แต่เหมือนมีกฎ มีระเบียบที่จะต้องทำ ถ้าเป็นกุศลแล้วต้องบังคับไหมคะว่า เมื่อไร วันไหน อย่างไร จะมากจะน้อยอย่างไร อย่างพระภิกษุ ทุกวันของท่านก็ต้องตามพระวินัย ซึ่งมากกว่า ๘ มากกว่า ๑๐

        เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับเจตนา แต่คำที่ใช้ต่างกัน เพราะเหตุว่าวันอุโบสถ พระภิกษุท่านทำอะไร แล้วผู้ที่รักษาศีลอุโบสถ รักษาแล้วทำอะไร

        ผู้ฟัง ทีนี้ก็เลยมาคาใจว่า เราผิดไหมที่ว่า เราไปถือศีลอุโบสถ แต่ก็ไปสนทนาธรรมทั้งวันอยู่แล้ว แต่ ...

        สุ. เดี๋ยวก่อนนะคะ ทำดีแล้วยังต้องคาใจอะไรอีกหรือคะ ในเมื่อเป็นสิ่งที่ดี และทำแล้ว จะต้องคาใจอะไร ทำไมจะต้องมีความข้องใจ จะใช้ชื่ออะไร จะต้องทำอะไร ในเมื่อเป็นสิ่งที่ดี และได้ทำแล้วด้วย

        ผู้ฟัง ทีนี้ได้ฟังท่านอาจารย์ในเทปว่า เป็นศีลของพระอนาคามี

        สุ. ปกติของท่านซึ่งดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ผู้รักษาศีล ๘ เป็นพระอนาคามีหรือเปล่า แล้วจะเป็นปกติอย่างพระอนาคามีได้ไหม

        ผู้ฟัง ทีนี้รู้ว่า อกุศลเกิดขณะที่ระลึกรู้ตรงนี้ จากอกุศลเกิดแล้ว

        สุ. แสดงว่าเราเข้าใจธรรมหรือเปล่า เรารู้ว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศลหรือเปล่า แล้วเรารู้ว่า ชื่อต่างกันเพราะอะไร แต่กุศลจิตเป็นหรือเปล่า ถ้ารักษาอุโบสถศีล ใจคิดถึงเรื่องอื่น ตลอดเลย วันนี้อาหารเป็นอย่างไร อร่อยไหม ออกจากวัดแล้วจะไปทำอะไรที่ไหน ขณะนั้นเป็นประโยชน์ไหม กับการที่เราจะใช้คำว่า “อุโบสถศีล”

        เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจลักษณะของกุศลจิต และอกุศลจิต ในยุคก่อนก็คงจะไม่มีธรรมตามบ้านที่จะฟังจากวิทยุหรือเทปบ้าง เพราะฉะนั้นที่ไหนที่จะมีโอกาสได้ฟัง ถ้าไม่ใช่วันอุโบสถ ซึ่งเป็นวันที่ทุกคนโดยเฉพาะพระภิกษุท่านก็แสดงธรรม สนทนาธรรมได้ แต่เหตุการณ์นี้ก็ผ่านไป แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม อะไรๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม กุศลจิต และอกุศลจิตไม่ได้เปลี่ยน

        เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีความเข้าใจ ขณะไหนเป็นกุศล หรืออยากจะได้ชื่อเพียง รักษาอุโบสถศีล ไปวัด แต่เป็นอกุศลจิต

        นี่เป็นสิ่งที่ต้องตรง และไม่ต้องไปติดที่ชื่อ เพราะว่าชื่อก็เป็นแต่เพียงวันนั้นเป็นวันอุโบสถ เพราะฉะนั้นศีลที่รักษาในวันอุโบสถก็เลยชื่อว่า อุโบสถศีล เพราะว่าโดยปกติก็คงไม่ได้รับทุกวัน หรือไม่ได้เป็นอย่างนั้นทุกวัน

        อ.ธิดารัตน์ ที่ว่าถือศีล ๘ แล้ว ประโยชน์ของการรักษาศีลเพิ่มข้อขึ้น ก็เป็นการน้อมไปเพื่อขัดเกลาอกุศลของเราโดยความติดข้องต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น จากศีล ๕ ปกติเท่านั้นเอง และสิ่งที่ควรพิจารณาหรือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็คือลักษณะของจิตของเราที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิตต่างๆ หรือมีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในโอกาสที่มีสภาพธรรมปรากฏ ก็เป็นเรื่องปกติสบายๆ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 257


    หมายเลข 11961
    23 ม.ค. 2567