ลักษณะของสติสัมปชัญญะ


        ผู้ฟัง ในขณะนี้เองมีสิ่งที่ปรากฏทางตา กำลังปรากฏ แต่ไม่รู้ ความเข้าใจของกระผมก็ยังเข้าใจน้อยครับ อยากจะขอความกรุณาให้ท่านอาจารย์ช่วยเพิ่มเติมตรงนี้ด้วยครับ

        สุ. จริงๆ คงไม่ต้องไปนึกถึงอะไรมาก่อน จำอะไรไว้ จะครบถ้วนหรือไม่ครบถ้วนอย่างไร แต่การฟังธรรม เพื่อฟังให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ อันนี้เป็นประโยชน์สูงสุด เพราะเหตุว่าขณะนี้ไม่ใช่ขณะก่อน และก็ไม่ใช่ขณะที่ยังไม่มาถึง แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ

        เพราะฉะนั้นการฟัง พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ใช่เหมือนกับการที่เราจะคิดว่า พอฟังอย่างนี้ แล้วเราจะปล่อย หรือเราจะทำ หรือเราจะอะไรก็แล้วแต่ จะทั้งนั้น และเราทั้งนั้นด้วย แต่ถ้าเป็นผู้เข้าใจธรรมจริงๆ ว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ทุกอย่างในขณะนี้เกิดชั่วขณะ ปรากฏแล้วหมดไป เพราะฉะนั้นถ้าขณะนั้นไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วหมดไป ก็เป็นความไม่รู้ไปเรื่อยๆ

        เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่คือประโยชน์ของการฟัง แม้ว่าจะฟังกี่ครั้งก็ตามแต่ ไม่ใช่เป็นเครื่องวัดว่า เราฟังมาแล้วเท่านี้เท่านั้นครั้ง เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจแค่นี้แค่นั้น ไม่ใช่เลยค่ะ เป็นเรื่องละทั้งหมด ที่ลืมไม่ได้ คือ การฟังธรรมเพื่อละความเป็นเรา ละการยึดถือสภาพธรรม ละความติดข้อง ละอกุศลทั้งหลายจนกว่าจะหมด ไม่เกิดเลย มิฉะนั้นไม่มีประโยชน์เลย การฟังจะไม่มีประโยชน์เลย

        เพราะฉะนั้นฟังเพื่อเข้าใจเท่านั้นเอง

        ผู้ฟัง กระผมฟังท่านอาจารย์ ในขณะที่รู้ชื่อของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่รู้ลักษณะ แต่เป็นขณะเดียวก็ตาม แต่เป็นอีกขณะหนึ่ง ในขณะที่มีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วยังไม่ได้คิดถึงชื่อ ขณะนั้นเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น กระผมก็รู้ได้เพียงเท่านี้ครับ

        สุ. แต่ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพที่เป็นสิ่งที่ปรากฏ

        ผู้ฟัง เพียงแต่คิดถึงเรื่องราวของลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

        สุ. ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะ ไม่มีทางที่โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมที่เป็นส่วนประกอบที่จะให้ปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้ จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้เลย

        เพราะฉะนั้นไม่ใช่ใครก็ตามเพียงฟัง แต่ไม่รู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ แล้วจะกล่าวว่า เจริญโพธิปักขิยธรรม หรือเจริญธรรมที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

        เพราะฉะนั้นการฟัง ต้องฟังด้วยความละเอียด ด้วยความเข้าใจ แม้ฟังสิ่งที่เราอาจจะได้ยินบ่อย ผ่านสายตาเพราะการอ่าน แต่การไตร่ตรองให้เข้าใจ พอหรือเปล่า เช่น สติสัมปชัญญะ จะต่างกับสติประเภทของทาน เป็นไปในทาน หรือสติในขั้นของศีล หรือสติในขั้นความสงบหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสติสัมปชัญญะ ขณะนั้นกำลังมีลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเดี๋ยวนี้กำลังมีอยู่

        เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่ได้นึกถึงชื่อเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามีสติสัมปชัญญะ เพียงไม่นึกถึงชื่อ ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ แต่จะต้องรู้ว่า ลักษณะของสติสัมปชัญญะจะมีได้ ต่อเมื่อมีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของธรรม และในลักษณะของสติสัมปชัญญะด้วย

        ผู้ฟัง กระผมก็ฟังเพียงแค่รู้เรื่องราวของลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเองครับ

        สุ. ก็ต้องฟังไปอีก ฟังไปเรื่อยๆ จนกว่าความเข้าใจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ขาดการฟังไม่ได้เลย ขาดการฟังเมื่อไร หมายความว่าจบ หรือหมด ไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏต่อไปได้

        ผู้ฟัง แล้วในขณะที่สติสัมปชัญญะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา จะต้องรู้ความจริงตรงนั้น ใช่ไหมครับ หรือว่าไม่รู้

        สุ. เดี๋ยวก่อนนะคะ ปัญญารู้หรือไม่รู้

        ผู้ฟัง ปัญญารู้ครับ

        สุ. ถ้าปัญญาเกิด ปัญญารู้ไหม

        ผู้ฟัง ปัญญาก็ต้องรู้

        สุ. ไม่มีผู้เจริญปัญญา แต่เมื่อปัญญาเกิด ปัญญาเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 251


    หมายเลข 11901
    23 ม.ค. 2567