สติสัมปชัญญะเกิดจะรู้ความต่างของปรมัตถ์กับบัญญัติ


        ผู้ฟัง ธรรมที่จะไปแยกอารมณ์เป็นสมมติบัญญัติ และปรมัตถ์ สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปรมัตถ์ทั้งนั้นเลย และส่วนใหญ่สติระลึกที่บัญญัติธรรมส่วนใหญ่

        สุ. ก็ถูกต้อง

        ผู้ฟัง เท่าที่ศึกษามา มีอารมณ์แค่ ๖ ส่วนใหญ่จะไประลึกตรงธัมมารมณ์ หรือสมมติบัญญัติ

        สุ. ก็ต้องทราบว่า อารมณ์ ๖ หมายถึงอะไรบ้าง จึงจะรู้ได้ว่า อารมณ์มี ๖

        ผู้ฟัง ใช่ครับ

        สุ. ที่กล่าวว่ามีอารมณ์ ๖ ก็ต้องรู้เหตุผลด้วยว่า เพราะอะไรจึงมีอารมณ์ ๖ ประเภท หรือ ๖ ทาง เพราะเหตุว่าทางตาขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏได้ทางตา นี่ ๑ แล้วนะคะ อารมณ์หนึ่งแล้วที่สามารถปรากฏได้ทางตา

        ขณะนี้เสียงปรากฏ ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า เสียงเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นอีกอารมณ์หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา และต้องอาศัยหู โสตปสาทด้วย สิ่งนี้จึงปรากฏได้ นี่เป็นอารมณ์หนึ่ง เป็น ๒ แล้ว

        ขณะที่กลิ่นปรากฏ เป็นอีกอารมณ์หนึ่งแล้ว และต้องอาศัยจมูกด้วย กลิ่นจึงปรากฏได้ ก็เป็น ๓

        และเวลาที่ลิ้มรส รสปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นอีกอารมณ์หนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยลิ้น คือ ชิวหาปสาท รสจึงปรากฏได้

        และสำหรับขณะนี้มีเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ปรากฏไหมคะ เพราะอาศัยตาหรือเปล่า เพราะอาศัยหูหรือเปล่า เพราะอาศัยจมูก อาศัยลิ้นหรือเปล่า ไม่ใช่ แต่ต้องอาศัยกายปสาท เพราะฉะนั้นก็เป็นอีกอารมณ์หนึ่ง

        นี่ ๕ แล้วนะคะ ส่วนอารมณ์อื่นๆ ที่รู้ได้ทางใจทั้งหมด เป็นอารมณ์ประเภทที่สามารถจะรู้ได้ทางใจ

        เพราะฉะนั้นจึงเป็นอารมณ์ ๖ เวลาที่จะกล่าวถึงอารมณ์ ก็ต้องอาศัยทวาร หรือเป็นทางที่จะให้อารมณ์นั้นปรากฏได้ เมื่อทางที่จะรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์จึงเป็น ๖ ประเภท

        เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นบัญญัติ หรือว่าไม่ใช่สีสันวัณณะต่างๆ เหล่านี้ ก็ปรากฏทางใจได้ แต่ละเอียดยิ่งกว่านั้น ก็คือว่าทางใจสามารถจะรู้อารมณ์ได้ทุกประเภท แต่ไม่ว่าจะเป็นประเภทหนึ่งประเภทใด ก็คือไม่พ้นจาก ๖ คือ ถ้าเป็นขณะที่รู้ได้ทางตาขณะนี้ ก็เป็นอารมณ์ทางตา แต่ว่าใจก็สามารถจะรับรู้ต่อได้

        ด้วยเหตุนี้สำหรับจิตที่เกิดโดยอาศัยใจ จึงสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์ แต่ก็ต้องเป็นอารมณ์ ๖

        ผู้ฟัง ครับ แต่ว่าเกิดจากความเคยชินหรือเกิดจากสังขารขันธ์อย่างไรก็ไม่รู้ จึงนึกถึงสมมติบัญญัติแทบทั้งสิ้น

        สุ. ค่ะ ขณะที่คิด ทวารไหน อาศัยตา หรือหู หรือลิ้น หรือกาย ขณะที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ อาศัยใจ เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดา เมื่อมีใจก็คิด ที่จะไม่ให้คิด เป็นไปไม่ได้เลย และคิดอะไรคะ คิดต่อจากเห็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ใจกำลังรู้สิ่งนั้นทางใจ

        ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นจริง แต่ต้องเข้าใจถูกว่า เป็นธรรม สิ่งที่ฟังทั้งหมดทุกชาติ เพื่อสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จากการฟัง พิจารณาไตร่ตรองเข้าใจ จนกระทั่งสติสัมปชัญญะระลึก คือ กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละลักษณะ เพื่อจะได้เข้าใจได้ถูกต้องว่า ตรงตามที่ได้ฟัง ได้เข้าใจแล้ว

        ผู้ฟัง แล้วที่อาจารย์พร่ำสอน สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็คือปรมัตถ์เท่านั้น ใช่ไหมครับ

        สุ. ค่ะ เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็เป็นธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

        ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นปรมัตถ์เท่านั้น แต่ถ้าเป็นสมมติบัญญัติ ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ ใช่ไหมครับ

        สุ. เมื่อคืนนี้ฝันไหมคะ

        ผู้ฟัง ฝันครับ

        สุ. ฝันนะคะ ในขณะที่ฝัน เห็นหรือเปล่า

        ผู้ฟัง ไม่เห็น

        สุ. แล้วฝันเห็นอะไร

        ผู้ฟัง ไม่เห็นใดๆ ทั้งสิ้น

        สุ. แล้วจะว่าฝันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า แม้เห็นแล้ว ความจำเพราะเกิดคิดนึกถึงเรื่องที่เห็นได้ แต่ไม่ใช่ขณะที่เห็น

        เพราะฉะนั้นเราจะรู้ได้ว่า ขณะไหนเป็นบัญญัติ ก็คือขณะนั้นไม่ได้มีลักษณะของสภาวธรรมจริงๆ ปรากฏกับจิตที่กำลังเห็นสิ่งนั้น แต่เป็นแต่เพียงความจำ แล้วก็คิดเมื่อไร เมื่อนั้นก็คือเรื่องราว บัญญัติของสิ่งที่จำไว้

        เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจความต่างของสิ่งที่เห็นจริงๆ เป็นลักษณะของสภาพธรรมของสิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ กับขณะที่คิดแล้วก็จำเรื่องราวต่างๆ ตามที่เคยเห็น เคยฟัง

        ผู้ฟัง ยังไม่ค่อยเข้าใจสมมติบัญญัติ และปรมัตถธรรม จะไปถึงรูปธรรมนามธรรมไม่ได้

        สุ. นี่เป็นเหตุที่จะเข้าใจได้ว่า เราฟังเรื่องราวของธรรมที่กำลังเกิดดับเร็วมาก เห็นไหมคะ กำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรมที่เกิดดับเร็วมาก นี่คือความจริง

        เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดก็ตามที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่สามารถจะรู้ความต่างกันของขณะที่เป็นปรมัตถ์กับขณะที่กำลังเป็นสมมติบัญญัติ เช่น ขณะนี้เห็นคน เห็น มีสิ่งที่ปรากฏ เป็นปรมัตถ์ แต่ความคิดความจำเรื่องคน เป็นบัญญัติ และก็อยู่อย่างนี้ทุกวัน เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ เห็นคน ไปเรื่อยๆ เพราะความเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว จะแยกได้อย่างไรว่าขณะไหนเป็นปรมัตถ์ ขณะไหนเป็นบัญญัติ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะที่มีจริง ขณะนั้นก็คือมีลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ ต่างกับขณะที่กำลังคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 251


    หมายเลข 11902
    23 ม.ค. 2567