วิชชา-อวิชชา


        สุ. เพราะฉะนั้นสำหรับวันนี้ ที่ได้ยินคำว่า “อุปนิสยปัจจัย” หรือ “ปกตูปนิสยปัจจัย” จะไม่คิดล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิด เพราะรู้ไม่ได้เลย แต่จะรู้ว่า ขณะนี้อะไรที่เกิด เพราะได้เคยเกิดมาแล้ว สะสมมาที่จะมีกำลัง ที่จะทำให้จิตขณะนี้เป็นอย่างนี้

        ถ้าขณะที่โทสะเกิด คุณเด่นพงศ์จะทราบได้เลย สะสมมาจึงเป็นปัจจัยที่มีกำลังให้โทสะขณะนี้เกิด ถ้าเมตตาเกิด ขณะนั้นก็รู้ได้ว่า มีการสะสมมาที่มีกำลัง ที่จะทำให้เมตตาเกิดขณะนั้น ก็จะเห็นความเป็นปกตูปนิสยปัจจัยของการสะสม

        เด่นพงศ์ ถ้าอย่างนั้นขณะที่ผมโกรธ ก็เหมือนกับผมสะสมแล้ว

        สุ. แน่นอนค่ะ

        เด่นพงศ์ ทีนี้คนข้างๆ เขาบอกว่า ปล่อยวางเถอะๆ

        สุ. ไม่ได้สะสมที่จะปล่อยวาง

        เด่นพงศ์ มันปล่อยวางไม่ลงครับ

        สุ. ถ้าพูดอย่างนั้น แสดงว่าไม่เข้าใจความเป็นปัจจัย แต่มีความเป็นตัวตนที่คิดว่า จะบังคับ หรือจะทำได้ ระหว่างการที่เข้าใจว่า ทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา กับการที่คิดว่า เราจะทำให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อะไรถูกต้อง

        นี่คือวิชชา และอวิชชาที่ต่างกัน

        เด่นพงศ์ วิธีที่ผมคิดอาจจะคิดแบบชาวบ้านธรรมดา คือ ถ้าปล่อยวางๆ ก็ทำให้คนเอาเปรียบกันเรื่อย แต่ก็คิดไปคิดมา โกรธก็ไม่ได้ช่วยให้เขาทำดีขึ้น

        สุ. แล้วปล่อยวางได้อย่างไร ปล่อยวางจริงๆ หรือเปล่า ปล่อยวางหมายความว่าอะไร ยังไม่รู้อะไรเลย เพียงแต่อาศัยคำนี้

        เด่นพงศ์ คืออย่าไปโกรธ

        สุ. แล้วทำได้ไหม

        เด่นพงศ์ ไม่ได้ซิครับ ท่านอาจารย์

        สุ. ทำไม่ได้ แต่เข้าใจได้ และขณะโกรธมี การสะสมมาที่จะเกิดขึ้น ถึงเวลาที่มีกำลังที่โกรธจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้น

        เด่นพงศ์ เป็นเรื่องธรรมดา

        สุ. แน่นอนค่ะ ธรรมเป็นเรื่องของธรรม เรื่องของปัจจัย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 244


    หมายเลข 11752
    10 ม.ค. 2567