ไม่ได้รู้ความจริงของภาวะที่ไม่ใช่ตัวตน


        ผู้ถาม เมื่อกล่าวว่าทุกสิ่งเป็นธรรม พอลักษณะที่มันปรากฏขึ้นมามันเป็นความรู้สึกซึ่งเราพอใจหรือไม่พอใจ เราก็จะคิดนึกต่อไปว่าถ้าพอใจเราก็คิดนึกว่าสิ่งนั้นคือโลภะ นี่คือสิ่งที่เกิดจากการตรึกนึกคิดในชีวิตประจำวัน

        สุ. ขณะนี้คุณสุกัญญาเห็นไหม

        ผู้ถาม เห็นค่ะ

        สุ. เห็นมีจริงหรือเปล่า

        ผู้ถาม มีจริง

        สุ. แล้วต้องเรียกอะไรหรือเปล่า

        ผู้ถาม ไม่ต้อง

        สุ. เห็นเป็นอะไร

        ผู้ถาม เห็นก็เป็นธรรม

        สุ. เห็นเป็นการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้รู้ใช่ไหม ขณะนี้สามารถที่จะบอกได้ว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาแน่นอนเพราะเห็น ไม่ต้องไปเรียกชื่อใช่ไหม ถ้าเรียกเป็นอะไร

        ผู้ถาม ถ้าเรียกก็เป็นจิต

        สุ. เห็นไหมแล้วจะบอกว่าไม่มีจิต วันหนึ่งๆ จิตไม่ได้ปรากฏเลย มีแต่ไม่รู้ และก็รู้จักแต่ชื่อว่าธาตุรู้ที่กำลังเห็นเรียกว่าจิต เป็นจิต ใช้คำว่าเป็นจิตด้วย ไม่ได้เป็นเจตสิกด้วย แต่ว่าไม่ได้รู้จริงๆ ว่าขณะนี้เป็นจิตทั้งๆ ที่เห็น เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดเสียใจ รู้ลักษณะที่เสียใจ เหมือนกับรู้ว่าเห็นใช่ไหม แต่เรียกชื่อว่าเจตสิก และก็เรียกชื่อว่าเวทนาเจตสิก แต่สามารถที่จะรู้ในความเป็นธาตุที่เป็นเวทนาในความที่เป็นธรรมที่เป็นเวทนาหรือว่าเพียงแต่ว่าเมื่อความรู้สึกเกิดขึ้น บอกให้เราเรียกชื่อเราก็เรียกถูกเท่านั้นเองว่านี่เป็นเวทนาเจตสิกเหมือนกับขณะนี้กำลังเห็น บอกเรียกชื่อก็เรียกถูกว่าเรียกว่าจิต แต่ว่าไม่ได้รู้ความจริงของภาวะที่ไม่ใช่ตัวตน ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมมีแน่นอน มีจริงๆ เกิดพร้อมกับขณะแรกของชาตินี้คือปฏิสนธิเกิดขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป จนถึงขณะสุดท้ายที่จากโลกนี้ไป ทั้งหมดเป็นธรรม แต่ว่าฟังให้เข้าใจว่าเป็นธรรมแล้วที่กล่าวว่าเพื่อให้ไม่ลืมว่าเป็นธรรมเพราะเหตุว่าฟังว่าเป็นธรรมแต่ลืม ขณะที่เห็นไม่ได้เข้าใจว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้ภาษาบาลี ไม่ลืมว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงแน่ๆ เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ธรรมนั้นเป็นอะไร สภาพที่ไม่ลืมนั่น สภาพที่ไม่ลืมว่าเป็นธรรมมี สภาพนั้นมีชื่อภาษาบาลีเพราะต้องใช้ชื่อ ถ้าไม่ใช้ชื่อจะรู้ได้ยังไงว่าหมายความถึงขณะไหน อย่างไร อย่างใช้คำว่า “จิต” กับ “ เจตสิก” หรือ “เวทนาเจตสิก” ก็แสดงให้รู้ถึงลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่ลืมว่าขณะนี้เป็นธรรม สภาพนั้นมีจริงๆ ภาษาบาลีใช้คำว่าอะไร

        ผู้ฟัง สัญญาเจตสิก

        สุ. สัญญาจำทุกขณะขณะที่กำลังหลงลืมก็มีสัญญาเจตสิก

        ผู้ฟัง อวิชชาความไม่รู้

        สุ. อวิชชาไม่รู้อะไรเลย อวิชชาเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท

        ผู้ถาม แต่ว่าลักษณะของเห็นอย่างนี้ เมื่อเห็นก็มีความเป็นตัวตนอยู่ตลอดเวลา

        สุ. ถ้าตราบใดที่ปัญญาไม่ได้รู้จริง เข้าใจถูกต้อง ค่อยๆ อบรมไปจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ยังมีความเป็นตัวตน นี่เพียงฟัง

        ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ที่อาจารย์ถามขอตอบว่าเป็นปัญญา

        สุ. ปัญญาเป็นสภาพที่เห็นถูกต้อง ขณะที่ไม่ลืมว่าขณะนี้เป็นธรรม มีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏ

        ผู้ฟัง ขอตอบอีกทีว่าเป็นสติ

        สุ. เป็นลักษณะที่เราใช้คำว่า “สติ” เป็นสภาพที่ระลึกได้ไม่หลงลืมหรือไม่ลืม แต่ต้องเป็นไปในทางฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นแต่ละคนได้ยินชื่อธรรม แต่ว่าชื่อนี้แปลอย่างนี้ แล้วลักษณะจริงๆ คืออย่างไร แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง ถ้าขณะนั้นไม่ใช่กุศล ขณะนั้นก็ต้องเป็นแต่เพียงการจำ แต่เกิดจำขึ้นมา ขณะนั้นยากที่จะรู้ได้ว่าจำด้วยจิตอะไร ใช่ไหม เพราะว่าการจำของเราทุกคน จำชื่อนี่แน่นอน ปลาทูจำได้ไหม ก็จำได้ ทีนี้พอเกิดนึกอะไรขึ้นมาที่เคยจำไว้ ก็จำได้ถึงคำนั้น แต่ว่าความเข้าใจ และสภาพของจิตขณะนั้นเป็นอย่างไร ต้องเป็นผู้ที่ตรง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัตตังเป็นความรู้เฉพาะตนจริงๆ ใครจะไปบอกคนอื่นว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตจะถูกหรือจะผิดในเมื่อไม่ใช่จิตของตนเอง และจิตของคนอื่นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นเป็นวิตกก็ได้ เป็นสติก็ได้ เป็นสัญญาที่จำก็ได้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีความรู้ความเข้าใจที่เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมขั้นไหน เพราะว่าถ้ามาฟังเพียงครั้งแรกก็อาจจะจำเพียงชื่อกว่าจะพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ด้วยเหตุนี้ก็ต้องแต่ละบุคคล

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 225


    หมายเลข 11119
    24 ม.ค. 2567