ปัญญารู้อะไรและรู้แค่ไหน


        ผู้ถาม ที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่าเราต้องมีความอดทน เมื่อก่อนก็ไม่ทราบว่าจะต้องทนอะไร ส่วนใหญ่ก็พยายามเป็นตัวตนที่จะทนต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น

        สุ. ขณะนี้กำลังทนหรือเปล่า ทนฟังพระธรรม ทนไหม ต้องฟังด้วยวิริยะจนกว่าจะเข้าใจ และจริงๆ ถ้าศึกษาละเอียดว่าความอดทนหรือว่าวิริยะ ความเพียรจะเกิดกับจิตอะไรบ้างก็จะรู้เลย ยับยั้งไม่ได้ เพราะเหตุว่าวิริยเจตสิกจะไม่เกิดกับจิตเพียง ๑๖ ดวงที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ

        ผู้ถาม ขณะที่อกุศลจิตเกิด แล้วเรารู้ว่าเป็นอกุศล เราต้องอดทนต่ออารมณ์ของอกุศลที่เราได้รับ

        สุ. นี่มีความเป็นตัวตน ฟังให้รู้ว่าไม่มีเราก็ยังมีเรา เพราะฉะนั้นผลของการฟังแค่ไหน อยู่ตรงไหน เพิ่มขึ้นหรือยัง จะมีความอยากอดทนขึ้นมาอีก อยากมีวิริยะขึ้นมาอีกโดยที่ว่าถ้าเข้าใจถูกต้อง วิริยะเกิดแล้ว ไม่เกิดกับจิตเพียง ๑๖ ประเภทที่เป็นอเหตุกจิตคือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ เท่านั้นเอง ขณะใดที่จิตเห็นเกิดขึ้น ไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ พวกนี้ไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่สำหรับอเหตุกจิตก็จะมีมโนทวาราวัชชนจิตกับหสิตุปาทจิตสองดวงเท่านั้นใน อเหตุกจิต ๑๘ ดวงที่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย และนอกจากนั้นมีวิริยะหมดเลยที่เกิดร่วมด้วย นั่งเฉยๆ เป็นอกุศลมีวิริยเจตสิกเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราจะไปสามารถรู้สิ่งที่สติไม่ได้ระลึกเพราะสิ่งนั้นมีปัจจัยเกิดแล้วดับๆ นี่คือไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ถ้าไม่รู้สิ่งนั้นก็ดับไปหมดแล้ว เสียงที่ปรากฏถ้าไม่รู้ เสียงนั้นก็ดับไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเราสะสมความไม่รู้ต่อไปอีกมากแค่ไหน จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่ารู้อะไร ปัญญารู้อะไร และรู้แค่ไหน ฟังให้เข้าใจว่าเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นไม่มีกฏเกณฑ์ แต่ว่าเมื่อมีการฟัง มีการพิจารณา เข้าใจขึ้น ก็ย่อมเป็นปัจจัยที่จะให้แม้การตรึกหรือการคิดก็เป็นไปในทางกุศล ถ้ากุศลจิตของใครเกิดคิดเป็นกุศลเกิดขึ้น ให้รู้ว่าจากที่ได้ฟังพระธรรมหรือได้เข้าใจพระธรรมนานแสนนานมาแล้ว พร้อมที่จะเกิดคิดอย่างนี้จึงคิดอย่างนี้ขึ้น และก็เลือกจะให้คิดเป็นกุศลทั้งวันก็ไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้กุศลนั้นคิดไปในทางไหน ในทานหรือในศีล ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเป็นอย่างนี้หรือเราต้องเป็นอย่างนั้น เพราะอะไร นั่นคือคิด ถึงเวลาจริงๆ แล้วเป็นหรือเปล่า ก็แค่คิด

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213


    หมายเลข 10803
    25 ม.ค. 2567