สัจจญาณ ปัญญาที่รู้ความจริงอย่างมั่นคง


        ผู้ถาม อาจารย์จะช่วยอธิบายลักษณะของสมถภาวนาเป็นกุศลในชีวิตประจำวัน

        สุ. นอกจากสติปัฏฐานมีหนทางอื่นไหมที่จะทำให้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

        ผู้ถาม ไม่มีหนทาง แต่ว่าจิตเป็นอนัตตา ไม่สามารถที่จะเลือกกุศลได้ว่าเป็นไปในทาน ในศีล หรือว่าเป็นไปในวิปัสสนา

        สุ. เพราะฉะนั้นความรู้ต้องตรง ขณะใดเป็นกุศลขั้นทาน ก็รู้ว่าเป็นกุศลขั้นทาน ขณะใดเป็นกุศลขั้นศีล ก็รู้ว่าเป็นกุศลขั้นศีล ขณะใดที่เป็นกุศลขั้นความสงบ ก็รู้ว่าเป็นกุศลขั้นความสงบ นี่คือปัญญา สามารถจะรู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่สับสนปะปนแล้วไม่รู้ แล้วก็คิดเอง เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ด้วยขณะไหนเป็นกุศลระดับใด นี่คือปัญญา

        ผู้ถาม ถ้าหากว่าเป็นสติปัฏฐานแล้ว ก็จะต้องมีลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเป็นอารมณ์เท่านั้น

        สุ. เพราะอะไร เพราะเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม

        ผู้ถาม ไปอ่านในพระสูตรต่างๆ เช่นปฏิกูลมนสิการบรรพ อานาปานสติรู้สึกว่าในพระสูตรนั้นให้ทำทั้งหมดเลย

        สุ. อ่านถูกหรือเปล่า เข้าใจถูกหรือเปล่า เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าคนที่อ่านมากจะเข้าใจมาก จะมีความเข้าใจในสิ่งที่อ่านหรือจะมีความเข้าใจผิดเห็นผิดในสิ่งที่อ่าน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมีพื้นฐานที่มั่นคง (สัจจญาณ) การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมมี ๓ รอบ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ทำไมไม่กล่าวถึง แต่กล่าวถึงเพียงแค่อริยสัจ ๔ ถ้าไม่มีสัจจญาณคือปัญญาที่รู้ความจริงอย่างมั่นคง ก็จะเขวไป แต่ถ้ามีสัจจญาณที่เป็นความรู้จริงๆ ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเกิดขึ้น และดับไป ผู้ใดรู้ ผู้นั้นเป็นพระอริยบุคคลสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏได้ และหนทางที่จะรู้ก็มีหนทางเดียวที่ทรงแสดงไว้ว่าเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด แล้วรู้ตรงลักษณะนั้นด้วยความค่อยๆ เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ

        นี่เป็นหนทางเดียวไม่ใช่หนทางอื่น เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอย่างนี้ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าแม้ว่าจะมีเรื่องของสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ตาม ก็สามารถที่จะแยกรู้ได้ อย่างอานาปานสติ เป็นทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ผู้ที่มีปัญญารู้ตามความเป็นจริงก็สามารถที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา ขณะใดเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อจะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่มีความเป็นเราหรือมีความเป็นตัวตนที่จะทำ

        เพราะฉะนั้นเวลาอ่านพระสูตรหรือพระไตรปิฎก ขอให้ได้เข้าใจตามความจริงว่าผู้ที่ทรงตรัสรู้ทรงแสดงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหมดจริงหรือเปล่า ถ้าจริงทำไมเราลืม และกลายเป็นเราทำ ลืมเลย เพราะแท้จริงแล้วการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเหนียวแน่นมาก ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงพระธรรมตามความเป็นจริงโดยละเอียดเพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อที่จะละความเป็นเรา ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาไม่รู้ความจริงว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่ว่ามีความรักใคร่ผูกพันเหนียวแน่นในความเป็นเราที่ต้องการสงบโดยที่ว่าไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏความจริงเป็นเรื่องอวิชชา ความไม่รู้ทั้งหมดเลยซึ่งแสดงให้เห็นว่ากว่าจะค่อยๆ เข้าใจได้ต้องเป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่ละเอียด และก็เป็นผู้ที่จริงใจ และก็ไม่คลอนแคลนด้วย แม้แต่ปัญญาก็มีหลายระดับ ขั้นกามาวจรเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ขั้นความสงบที่เป็นสมถะ ขั้นสติปัฏฐานซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทำไมเราศึกษาธรรม เพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อจุดประสงค์เป็นอย่างนี้ ความจริงใจเป็นอย่างนี้ว่าเพื่อรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าเราจะศึกษาอะไรที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกก็เป็นความจริงที่ปรากฏ แต่ผู้ที่ไม่รู้ก็เป็นเราทั้งหมด แต่ผู้ที่รู้ก็รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง

        เพราะฉะนั้น การศึกษาพระไตรปิฎก จะรู้ได้ว่ามีทั้งอกุศลทุกประเภทที่ทรงแสดงไว้ตามความเป็นจริง แล้วก็มีกุศลทุกระดับ ทุกประเภท ที่ทรงแสดงไว้ตามความเป็นจริง ซึ่งผู้ศึกษาต้องรู้ว่าเป็นอนัตตาไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม กุศลก็เป็นธรรม แม้แต่การสะสมที่จะระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ หรือว่าแล้วแต่จะเป็นเรื่องของความสงบของจิตใจ ขณะนั้นก็เป็นธรรมด้วย แต่ตราบใดที่ยังเป็นเรา ขณะนั้นก็คือไม่ใช่ความรู้ที่สามารถจะละความเป็นตัวตนได้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 191


    หมายเลข 10380
    28 ม.ค. 2567