เป็นเราโดยตัณหา มานะและ ทิฏฐิ


        ผู้ถาม ขณะที่เราเพลิดเพลินอยู่ ขณะนั้นก็ไม่มีความคิดว่าเป็นตัวเรา เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าโดยสภาพที่เป็นเราโดยตัณหา มานะ ทิฏฐิ สภาวะที่ยึดถือว่าเป็นเราด้วยตัณหา ขณะนั้นแม้จะไม่คิดว่าเป็นเรา ขณะนั้นก็มีความยึดถือว่าเป็นเราอยู่แล้วใช่ไหม

        สุ. เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่เราด้วยทิฏฐิ ตราบใดที่มีตัณหา มีความยินดีพอใจ ขณะที่ยินดีพอใจนั้นเป็นเราด้วยความพอใจ แต่ไม่ได้เป็นเราด้วยทิฏฐิหรือความเห็นผิด

        ผู้ถาม แม้ไม่คิดว่าเป็นเรา แต่โดยสภาวะก็ยึดถือแล้วว่าเป็นเราด้วยตัณหา

        สุ. เพราะฉะนั้นก็ขอกล่าวถึงเราด้วยตัณหา เราด้วยมานะ เราด้วยทิฏฐิ อย่างเราด้วยทิฏฐิ เราพูดว่ามีเรา แต่เวลาที่กล่าวถึงสภาพของจิต เฉพาะโลภมูลจิตเท่านั้นที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วก็มีต่างออกไป โลภมูลจิต ต่างออกไปเป็น ๘ ประเภท ๔ ประเภทเป็นโลภะล้วนๆ ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ที่กล่าวว่าล้วนๆ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย ก็มีเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตได้ แต่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่ามีทิฏฐิเจตสิกหรือมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราทุกขณะไม่ได้เลย นี่คือการศึกษาอย่างละเอียด แต่มีโลภะ มีความยินดี เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าสำหรับทิฏฐิ พระโสดาบันบุคคลละ แต่สำหรับโลภะซึ่งไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นไปในรูปเสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ พระอนาคามีบุคคลละ ถ้าไม่มีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ พระอรหันต์ละ เพราะฉะนั้นเห็นความต่างกัน

        ก่อนอื่นเรายังไม่ได้พูดถึงทิฏฐิเพราะจะต้องมีความตรง และชัดว่าขณะนั้นทิฏฐิเจตสิกต้องเกิดจึงจะกล่าวว่ามีทิฏฐิ แต่ขณะนั้นทิฏฐิเจตสิกไม่เกิด มีแต่โลภะ จะกล่าวว่ามีทิฏฐิเจตสิกไม่ได้ แต่ทิฏฐานุสัยยังไม่ได้ดับ แต่ไม่ได้เกิดทำกิจการงาน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าต้องแยกกัน เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เราด้วยอะไรมากที่สุด

        ผู้ถาม ด้วยตัณหา

        สุ. เพราะฉะนั้นคุณสุกัญญาเห็นความต่างแล้วนะคะ ระหว่างโลภะซึ่งเป็นเรา เพราะว่ามีความยินดีพอใจในเรา แต่ว่าไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ความยินดีพอใจในเรามากขนาดไหนตั้งแต่ตื่นมา ทั้งหมดตั้งแต่ตื่น แปรงฟัน ล้างหน้า รับประทานอาหาร แต่งตัว เส้นผม รองเท้า ทุกอย่าง เราด้วยโลภะ แต่ไม่ใช่เราด้วยทิฏฐิ

        เพราะฉะนั้น กว่าจะละความรักตัวๆ นี่คือเรา เพราะว่ายึดถือโลภะที่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะว่าเป็นเรา ต้องถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล สำหรับความเห็นผิด ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดเราเพียงเหมือนกับว่ามีความเป็นเราด้วยความเห็นผิด แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นเราด้วยโลภะ ถ้าจะแยก เพราะฉะนั้นผู้ที่จะรู้ลักษณะของทิฏฐิมีจริงๆ ด้วยสติสัมปชัญญะ

        ธรรมทุกประการที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดเป็นเรื่องทั้งหมด ยังไม่ได้รู้จักตัวจริงเลย เพราะว่าเกิดแล้วก็ดับไปเร็วมาก แต่ว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด สิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดคือกำลังเป็นความจริง เพราะว่ามีลักษณะที่ปรากฏกับสติที่กำลังรู้ตรงลักษณะนั้น

        เพราะฉะนั้น ถ้าโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะว่าสภาพธรรมจะปรากฏได้ทีละทาง ลองคิดถึงความจริงในความมืดสนิท เพราะเหตุว่าไม่มีการเห็น ถึงแม้มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึกก็มืดสนิท ขณะนั้นอะไรอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นรู้เป็นเราหรือเปล่า ที่ตัวธรรมทั้งหมดเลย จะหาธรรมไม่ต้องไปหาไกลเลย ที่ตัวนี่มีครบ และเพราะรู้อย่างอื่นจึงเป็นเราที่เห็นสิ่งนั้นบ้างหรือว่าได้ยินสิ่งนั้นด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นด้วยโลภะ ด้วยทิฏฐิ หรือด้วยมานะ

        แต่ถ้าจะกล่าวถึงด้วยทิฏฐิจริงๆ ที่จะรู้ได้ด้วยสติสัมปชัญญะ เมื่ออย่างอื่นไม่ปรากฏ แต่มีสภาพธรรมปรากฏ แข็งที่ตัว เคยกระทบสัมผัสใช่ไหม มีความรู้สึกว่าเป็นเราด้วยทิฏฐิหรือเป็นเราด้วยโลภะ หรือว่าเป็นเราด้วยมานะ แข็งที่ตัวเฉพาะแข็ง หรืออ่อนก็ได้ อ่อนหรือแข็งที่ตัวเป็นเราด้วยโลภะดีไหม ผิวหนังนุ่ม ไม่หยาบกระด้าง ผิวใคร ผิวเรา เราด้วยโลภะ เราด้วยมานะ ก็มีความสำคัญตนได้ .ในทุกอย่างที่ตัว ตาก็สำคัญได้ หูสำคัญได้ไหม คิ้ว ปาก จมูก ได้หมดทุกอย่าง แต่ด้วยทิฏฐิ เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่มีเลย แต่มีแข็งที่ตัวเหมือนเดิม เราใช่ไหม เรายังมีอยู่ใช่ไหม เรายังเหลือแข็งอยู่ใช่ไหม แข็งนั่นยังเป็นเราใช่ไหม ขณะนั้นคือทิฏฐิ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 192


    หมายเลข 10387
    25 ม.ค. 2567