ชื่อ-อัตตา-อนัตตา


        ผู้ถาม จะถามเรื่องผลหรือวิบากที่เกิดจากโมหะมูลจิต ในหนังสือกล่าวว่าโมหะมูลจิตเป็นจิตที่โง่ งมงาย ผู้ใดถูกโมหะเจตสิกครอบงำ ผู้นั้นย่อมหลงใหลเพลิดเพลินในอารมณ์ตามเป็นจริง ในสมัยใด มนุษย์มีสันดานมากไปด้วยโมหะ สมัยนั้นย่อมเกิดโรค “โรคันตราย” คืออันตรายเกิดจากโรคภัยเบียด- เบียนเป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดล้มตายเป็นอันมาก อันนี้เกี่ยวข้องกันยังไงคะ

        สุ. ถ้าเป็นอกุศลก็จะต้องนำผลที่ไม่ดีมาให้

        ผู้ถาม เจาะจงต้องเป็นโรคระบาดหรือ

        สุ. โรคอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องโรคระบาดอย่างเดียว ถ้ามีความเข้าใจในเหตุในผลว่าธรรมะที่เป็นอกุศลเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลคือจิตที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายที่ไม่น่าพอใจ ถ้าเข้าใจอย่างนี้โรคระบาดก็เป็นชื่อ และโรคอะไรๆ ทั้งหลายระบาดหรือไม่ระบาดก็เป็นชื่อทั้งหมด แต่ว่าความจริงก็คือว่าขณะใดก็ตาม เราไม่ได้คิดถึงชื่อ แต่ขณะนั้นกำลังรู้สึกไม่สบายกาย ขณะนั้นก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม จะเรียกว่าระบาดหรือไม่ระบาดก็ได้ เพียงแต่คิดถึงชื่อว่าโรคระบาด

        ผู้ถาม มันก็เกี่ยวกับทางโลก ไม่ใช่ทางธรรม

        สุ. ทางโลกจะพ้นจากธรรมะได้ไหม ถ้าไม่มีธรรมะ ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป จะมีโลกไหม เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้จักโลกตามความเป็นจริง โลกที่เป็นนามธรรมกับโลกที่เป็นรูปธรรม แล้วเวลาที่เราพูดถึงรวมๆ เราก็มีเรื่องราวมากมายของโรคระบาดหลายๆ โรค ชื่อต่างๆ กัน แต่ก็จะพ้นจากสภาพธรรมะคือ จิต เจตสิก รูป ไม่ได้

        เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมะมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเราศึกษาเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะ ที่กำลังปรากฏ แล้วจึงได้รู้ว่าชื่ออะไร อย่างขณะนี้กำลังเห็น มีเห็น แล้วก็เข้าใจได้ ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็เกิดขึ้นด้วย แล้วก็ดับไปด้วย เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งนั้นต้องไม่ใช่เรา ก็จะเข้าใจความหมายของ “ตัวตน” และ “อนัตตา” ว่า ถ้าเรามีความเห็นผิดว่าเป็นเรา ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เราเลย ก็ใช้คำว่า “ตัวตน” หรือ “อัตตา” แต่ถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมะก็หมาย ความถึงคำที่เราใช้ว่า“อนัตตา”

        เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมะที่จะทำให้เข้าใจธรรมะก็คือว่ารู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมะ แล้วก็เวลาที่รู้ชื่อก็จะมีชื่อหลากหลายตามความหลากหลายของธรรมะ เท่านั้นเอง แต่ต้องรู้ธรรมะ จึงจะชื่อว่าศึกษาธรรมะ อย่างคุณหมอใช้คำว่า “โรคระบาด” อหิวาตกโรค หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าธรรมะจริงๆ ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบกาย เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบกาย และรู้สึกว่าไม่สบาย เป็นทุกข์ ต้องเรียกว่าโรคอะไรหรือเปล่า ต้องใช้คำว่าโรคนั้นโรคนี้หรือเปล่า ในเมื่อขณะนั้นก็เป็นความรู้สึกไม่สบายทางกายซึ่งมีจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาธรรมะโดยเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะที่มี แล้วภายหลังจึงเรียกชื่อ ก็จะทำให้เราไม่หลงไปตามชื่อ หรือว่าแยกธรรมะออกจากโลก เพราะเหตุว่าถ้ำไม่มีธรรมะ โลกก็ไม่มี ไม่สำคัญที่ชื่อ แต่สำคัญที่ขณะนั้นสภาพธรรมะนั้นเกิดเพราะอกุศลกรรมเป็นปัจจัย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187


    หมายเลข 10347
    25 ม.ค. 2567