ต้องชินต่อลักษณะของรูปซึ่งต่างกับลักษณะของนาม


        ผู้ถาม อุทธัจจะพอสังเขปได้เวลาที่เกิดกับโลภะ หรือว่ากับโทสะ แต่ว่าอุทธัจจะที่เกิดกับโมหะนี่ยังไม่เข้าใจ

        สุ. อกุศลจิตทุกประเภทต้องมีโมหะเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นขณะใดที่โลภะเกิด เห็นโมหะไหม หรือว่าเห็นโลภะ เวลาที่โทสะเกิดเห็นโมหะหรือเห็นโทสะ กำลังโกรธนี่ค่ะ ทั้งๆ ที่ มีโมหะเกิดร่วมด้วย แต่เห็นโทสะ เพราะว่ามีโทสะที่เป็นเหตุเกิดร่วมกับโมหะ เพราะฉะนั้นตัวโมหะจริงๆ โดยที่ว่าไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วย จะรู้ได้อย่างไร เพราะว่า เป็นพื้นอยู่แล้วของอกุศล ขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะนั้นมีแล้ว ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด แล้วถ้าขณะนั้นไม่มีลักษณะของโลภะหรือโทสะปรากฏให้รู้ ก็เข้าใจได้ว่าขณะนั้นเป็นโมหะ แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของโมหะด้วยสติสัมปชัญญะ ต้องเป็นอีกระดับหนึ่ง เจาะจงรู้ลักษณะของโมหะหรือว่ารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สติระลึก เพราะขณะนั้นแสดงถึงความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด แล้วธรรมะที่สติระลึกก็ดับอย่างรวดเร็ว และสติก็ดับอย่างรวดเร็วก่อนที่จะรู้ชัดในความเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุนี้จึงต้องชินต่อลักษณะของรูปซึ่งต่างกับลักษณะของนาม และก็ชินในลักษณะของนามซึ่งต่างกับลักษณะของรูปโดยที่ไม่สามารถที่จะไปรู้ชัด ว่าขณะนั้นมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย หรือว่าเป็นอกุศลประเภทไหน เพียงรู้ความต่างของขณะที่สติเกิด ซึ่งต่างกับขณะที่หลงลืมสติ และขณะที่สติเกิดก็มีลักษณะของสภาพธรรมะซึ่งเกิดแล้วก็ดับเร็วมาก แต่ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมที่จะต้องรู้ก่อน แต่ถ้าเราเรียนว่า ขณะนี้เป็นธรรมะ ไม่สนใจในชื่อเลย จะชื่ออะไร จักขุวิญญาณ จิตที่กำลังเห็น จะรู้ว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภทอะไรบ้าง นั่นคือคิด แต่ว่าไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพที่เป็นนามธาตุที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้นการศึกษาของเราถ้าศึกษาแบบชื่อ เราจะไม่รู้จักตัวจริงของธรรมะ แต่แทนที่เราจะรู้ชื่อ แต่เรารู้ว่ามีธรรมะ แล้วถ้าเราเข้าใจลักษณะของธรรมะ แล้วธรรมะที่เราเข้าใจนั้นชื่ออะไร เราก็จะสามารถที่จะเรียกได้ว่าขณะที่เห็นคือเห็น ขณะที่ได้ยินคือได้ยิน ชื่อนั้นต่างกันเพราะว่าอาศัยเหตุปัจจัยต่างกัน รู้อารมณ์ต่างกัน แต่เป็นธรรมะคือเป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ซึ่งกำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ หรือว่ามีเสียงเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นถ้ารู้ตัวธรรมะ และรู้จักชื่อก็จะดีกว่า และจะรู้ด้วยว่าเรารู้จักตัวธรรมะน้อยแค่ไหน แต่เรารู้จักชื่อ และเรื่องราวมากมายเป็นหนังสือ เป็นตำรา เป็นเล่มๆ แต่ว่าขณะนี้ลักษณะของสภาพธรรมไม่รู้จักเลย

        เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็นการศึกษาชื่อ ศึกษาเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะ แล้วก็ตรงกับชื่อที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติไว้ เช่น วิญญาณหรือจิตเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เราต้องคิด และเข้าใจความหมายของคำว่า“ธาตุ”หรือ“ธรรมะ” น่าอัศจรรย์ ใครบังคับบัญชาไม่ได้ มีปัจจัยก็เกิดคือให้เห็นความน่าอัศจรรย์ของธรรมะ นามธรรมเป็นอย่างนี้ฉันใด รูปธรรมก็น่าอัศจรรย์ แข็ง ใครทำให้เกิด ทีนี้ก็จะเข้าถึงความเป็นอนัตตาว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครทำ แต่ว่าเป็นธรรมะ เพราะฉะนั้นที่เราศึกษาทั้งหมดเพื่อเข้าถึงลักษณะของธรรมะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่อย่างนั้นเราก็จะพูดแต่คำว่าไม่ใช่ตัวตนๆ แต่ก็ ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ แต่ถ้าเราฟังแล้วพิจารณาว่าในขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเรื่องราวต่างๆ ถ้าไม่มีธาตุรู้คือจิต ธรรมะทั้งหลายเหล่านี้จะปรากฏไม่ได้เลย แม้มีก็ไม่ปรากฏ เพราะว่าไม่มีธาตุที่สามารถรู้สิ่งนั้น ทางตาคือเห็น รู้คือเห็นในขณะนี้ ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187


    หมายเลข 10349
    28 ม.ค. 2567