ฟุ้ง-เหม่อ -พฐ.188


        สุ. สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือหู หรือจมูกลิ้น กาย ใจ หรือเรื่องราวต่างๆ ถ้าไม่มีธาตุรู้คือจิต ธรรมทั้งหลายเหล่านี้จะปรากฏไม่ได้เลย แม้มีก็ไม่ปรากฏ เพราะว่าไม่มีธาตุที่สามารถรู้สิ่งนั้น ทางตาคือเห็น รู้คือเห็นในขณะนี้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ หรือเสียงที่กำลังปรากฏทางหูก็เป็นอย่างนี้ นี่คือทั้งหมดที่เราเรียนก็จะมาสรุปตรงที่จิต เจตสิก รูป ที่เราจะต้องรู้จนกว่าจะละความเป็นตัวตน กุศลจิตเกิดขณะไหน ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เราจะรู้หรือไม่รู้ขณะที่เป็นกุศลหรือขณะที่เป็นอกุศลก็ตามแต่ๆ เรามีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกว่าขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นต้องมีอุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย เราก็จะไปเข้าใจดีขึ้นได้ไหมถ้าเรายังคงใช้คำว่า “ฟุ้ง” ต่อไป กับการที่เราจะเข้าใจว่าอุทธัจจะก็เป็นสภาพที่ไม่สงบ และก็อกุศลจิตก็เกิด และดับเร็วมาก เกินกว่าที่เราจะไปรู้ลักษณะที่เราใช้คำว่า “ฟุ้ง” เพราะสำหรับเรา ฟุ้งดูเหมือนว่าจะก้อนหินทุบทิ้งลงไปบนขี้เถ้า นั่นเป็นคำอุปมาเท่านั้น เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ไม่ใช่ไปติดที่คำอุปมา แต่ต้องรู้ลักษณะจริงๆ และต้องสอดคล้องกันด้วยว่าแม้อกุศลเพียงเล็กน้อยที่เกิดก็มีอุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ก็เลิกใช้คำนี้ได้ใช่ไหม แต่ถ้าอยากจะใช้ บางคนก็บอกว่าวันนี้ฟุ้งซ่านหรือว่าวันนี้ฟุ้งมาก ก็ฟุ้งอะไร คิดใช่ไหม แล้วอะไรคิด จะโยนไปหาอุทธัจจะหรือว่าขณะนั้นก็คิดด้วยโลภะ ฟุ้งไปด้วยโลภะหรือว่าฟุ้งไปด้วยโทสะ แต่ความจริงก็คือโทสะเกิดบ่อย และมาก โลภะเกิดบ่อย และมาก ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้คำในภาษาไทยซึ่งเราอาจจะชินกับความเข้าใจความหมายนั้น แต่ว่าลักษณะสภาพธรรมจริงๆ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

        ธิ. หมายถึงว่าลักษณะของอุทธัจจะนั้นทำให้จิตไม่สงบ ทำให้จิตนั้นวุ่นวายอย่างนี้ใช่ไหม

        สุ. แล้วลักษณะของอุทธัจจเจตสิกเป็นลักษณะที่ไม่สงบ เมื่อเกิดกับจิตก็ทำหน้าที่ของอุทธัจจะ

        ธิ. ก็คือทำให้จิตนั้นไม่สงบ

        สุ. เจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมกันต่างก็ทำหน้าที่เฉพาะของตนๆ และก็จิตก็เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์

        ผู้ถาม ขณะที่เราเหม่อลอย และคิดถึงเรื่องราวต่างๆ อาจจะเป็นที่ผ่านมาแล้วหรือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แล้วเราก็รู้สึกตัวว่าเราคิดทำไมหรือว่าเราคิดไปมันก็ไม่มีประโยชน์ในลักษณะอย่างนี้ พอเรามาเรียนเรื่องโมหะหรือว่าโมหอุทธัจจะ ก็มีความรู้สึกว่าอันนี้คือลักษณะสภาพธรรมของโมหอุทธัจจะ แต่อยากจะถามท่านอาจารย์ๆ ก็คงบอกว่าแล้วใครจะรู้ นอกจากตัวเราๆ จริงๆ ไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะสภาพธรรมนี้มันคืออะไร

        สุ. นั่นคือเราคิด เราว่าใช่ไหม ขณะที่กำลังเหม่อลอย คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ยิ้มหรือเปล่า

        ผู้ถาม ถ้าสมมุติเราคิดถึงเรื่องที่เราพึงพอใจ เราก็อาจจะยิ้มก็ได้

        สุ. ก็ใช่ ขณะนั้นเราจะไปบอกได้ไหมว่าไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะเรามุ่งไปที่อุทธัจจะทำไม เป็นอะไรก็ตามที่อกุศลจิตเกิด จะต้องมีสภาพที่เป็นอกุศลเกิดร่วมกันคือโมหะ อหิริกะ อุทธัจจะ อโนตตัปปะ เมื่อมี ๔ จึงใช้คำว่า “โม” นำหน้าจตุกะหมวดนี้ไม่เคยแยกกันเลย ขณะใดที่มีโมหเจตสิก ขณะนั้นก็มีอหิริกเจตสิก มีอโนตตัปปเจตสิก มีอุทธัจจเจตสิก แล้วเราสนใจอุทธัจจะ แล้วเราไม่สนใจอหิริกะ อโนตตัปปะหรือโมหะหรือๆ ว่าอยากจะรู้หมดทั้ง ๔ อย่าง แต่ว่าเวลาศึกษาธรรม อย่าคิดถึงเรื่องราว เพราะว่าเรื่องราวเกิดจากจิตมากมายหลายขณะสืบต่อกัน แม้แต่ในขณะที่กำลังนั่งฟังธรรมก็เป็นเรื่องใช่ไหม กำลังนั่งฟังธรรม แล้วจิตอะไรบ้างเกิดดับสืบต่อกัน จะกล่าวรวมๆ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นบัญญัติให้รู้ว่าจิตขณะนั้นมีอารมณ์อะไรเป็นปรมัติหรือว่าเป็นเรื่องราวต่างๆ ถ้าศึกษาธรรมก็คือว่าศึกษาให้เข้าใจตัวธรรม เรื่องราวออกหมดเพราะว่าถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป เรื่องราวก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มี แต่ทีนี้เราไปคิดถึงเรื่องราวแล้วไปพยายามที่จะให้เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นจิตอะไร เป็นเจตสิกอะไรซึ่งไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลยเพราะเป็นเรื่องราว ไม่ใช่เป็นลักษณะของจิตแต่ละประเภทว่าจิตประเภทนี้เป็นอกุศล และจิตประเภทนั้นเป็นวิบากหรืออะไรอย่างนั้น จิตประเภทนี้มีเหตุเกิดร่วมด้วย จิตประเภทนั้นไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ถ้าเราเข้าใจธรรมเพราะว่าเราศึกษาธรรม เวลาที่ธรรมใดเกิด แม้ว่ากำลังคิดเรื่องราวต่างๆ ก็ตาม ขณะนั้นก็ยังสามารถเข้าใจถูกต้องว่าจิตขณะนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้นเวลาถามขณะที่ว่าฟุ้งเหม่ออะไรพวกนี้ ยิ้มบ้างหรือเปล่า ก็แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริง เราเอาเรื่องราวมาสรุปว่าขณะนั้นเป็นอุทธัจจะแต่ต้องมีอุทธัจจเจตสิกแน่นอน มีโมหเจตสิกแน่นอน มีอหิริกะ อโนตตัปปะด้วยเวลาที่จิตเป็นอกุศล

        ผู้ถาม สมมุติเราเหม่อ เราคิดไป และมีการระลึกได้ว่าเรารู้สึกตัวว่าเราเหม่อ

        สุ. นี่เหมือนกัน เรื่องราวทั้งหมด จนกว่าจะรู้ว่าขณะไหนเป็นกุศลจิต ขณะไหนเป็นอกุศลจิต ทีนี้ก็จะตัดสินได้โดยที่ว่าไม่ได้คิดเอาว่าเวลานั้นเป็นอย่างนั้นแล้วเป็นอะไร เวลานี้เป็นอย่างนี้แล้วเป็นอะไร เพราะเราเคยชินกับการเรียนโดนชื่อ แต่ถ้าเราจะเรียนโดยการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เราจะรู้เลยว่าขณะนั้นไม่ได้มีชื่อติดอยู่กับลักษณะของสภาพธรรมเลย อย่างแข็ง ไม่ต้องนึกถึงคำว่า “แข็ง”ลักษณะของแข็งก็ปรากฏ ถ้าเราคุ้นเคยกับลักษณะนั้น ก็จะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คุ้นเคยกับเสียงก็จะรู้ว่าต่างกับแข็ง เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะคุ้นเคยกับลักษณะของสภาพธรรมที่จะรู้ว่าเป็นธรรม จะต้องมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ แยกให้รู้ว่าธรรมที่มีจริงเกิดดับ แต่ว่าการคิดเรื่องราวของสิ่งที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาไม่ทำให้สามารถรู้ในการเกิดดับของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นก็ยังคงเป็นเราที่เที่ยงเพราะว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 188


    หมายเลข 10350
    25 ม.ค. 2567