รู้ถึงกรรมของแต่ละบุคคล


        ผู้ฟัง ขอเรียนถามท่านอาจารย์ครับ ผมย้อนไปนิดหนึ่งที่ว่า สิกขาสูตร มีข้อแรกที่ว่า ปาณาติบาต ช่วยขยายความ ปาณาติบาต ว่ามีความหมายอย่างไร

        ท่านอาจารย์ ไม่ทราบเคยคิดที่จะวิรัติ เว้นการฆ่าบ้างหรือเปล่า

        ผู้ฟัง อันนี้อาจจะเคย แต่ว่าความเป็นจริง แล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆ แล้ว ก็ไม่ทราบว่าเป็นไปได้หรือเปล่า

        ท่านอาจารย์ เพราะว่าเวลาที่ไปวัด ก็มีการถวายทาน ถวายภัตตาหารก็มีการให้ศีล ทุกคนก็พูดตาม ในขณะที่พูดตาม ไม่ทราบว่าเจตนาอะไรเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า หรือว่าเพียงแต่กล่าวตามเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ตรง ถึงแม้ไม่มีใครมาบอกให้พูดว่าปาณาติปาตาเวรมณี สิกขาปทังสมาธิยามิ ไม่มีใครมาบอกอย่างนี้ แต่ถ้าในขณะใดที่เกิด ต้องเป็นสติ เป็นไปในการที่จะวิรัติ ก็จะมีความคิดว่า ต่อจากนี้ไป หรือว่าเมื่อไรก็ตามแต่ ที่คิดอย่างนั้นว่า จะไม่ฆ่าสัตว์ ขณะนั้นก็เป็นเจตนาศีล หมายความว่ายังไม่ได้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเผชิญหน้า แต่ว่ามีเจตนาที่จะวิรัติทุจริต ยกตัวอย่างในเรื่องของปาณาติบาต แต่ว่า หลังจากคิดอย่างนั้น แล้ว อกุศลจิตก็เกิดเป็นประจำ มีใครบ้างที่จะมีกุศลจิตเกิดบ่อย เป็นประจำ เป็นเจ้าของบ้าน แล้วนานๆ อกุศลจิตก็จะมาเยี่ยมเยียน เพราะว่าปกติ แล้ว อกุศลจิตก็ต้องเกิดมาก ไม่รู้ตัวเลย แล้วนานๆ กุศลจิตก็จะมาเยี่ยมเยียน อย่างขณะนี้เอง ถ้าง่วงก็อาจจะเป็นประจำของอกุศลซึ่งมีอยู่บ่อยๆ

        เพราะฉะนั้น อกุศลก็ครอบครองอยู่เสมอ แม้ในขณะฟังธรรม อกุศลก็มาเยี่ยมเยือน แต่แขกที่มาจะมานาน หรือว่าจะกลับเร็ว นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละขณะจิต แต่ให้ทราบว่า ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ก็คือกุศล แม้แต่ความคิด สมาทานที่จะถือ ที่จะวิรัติทุจริตต่างๆ เช่น บางท่านอาจจะบอกว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปจะไม่พูดคำที่ไม่น่าฟัง ที่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ จะไม่พูดเรื่องที่ไม่จริง ก็ แล้วแต่ว่าจะเกิดกุศลจิต ขณะใดที่เป็นไปในทาน หรือเป็นไปในศีลที่ตั้งใจไว้ ขณะนั้นก็เป็นเพียงเจตนา ถ้าการกระทำนั้นยังไม่ได้สำเร็จ

        เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่กล่าวตามโดยที่ว่า ไม่ได้มีความคิดสักนิดเดียวที่จะวิรัติ เพียงแต่พูดตาม ก็ต่างกับคนซึ่งแม้ไม่ได้พูดตาม แต่มีเจตนาจริงๆ ที่จะงดเว้นชั่วขณะที่คิด แต่ข้างหน้าไม่ทราบ อะไรจะเกิดขึ้น เพราะความเป็นอนัตตา แต่ให้เห็นความวิจิตรของจิตที่ว่า เมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้น ที่จะเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าขณะนั้นเป็นเจตนาศีล แต่ไม่ใช่วิรตีศีล จนกว่าจะมีวัตถุเผชิญหน้าเมื่อไร ตอนนี้จะรู้ได้ ว่าจะวิรัติหรือไม่วิรัติ ก็เป็นเรื่องของศีลที่จะเกิดขึ้น แต่ข้อสงสัย สงสัยว่าจะมีศีลตลอดเวลาหรือเปล่า ใช่ไหมคะ

        ผู้ฟัง ข้อสงสัยก็คือ

        ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่ได้ทำอะไร ก็น่าจะ เป็นผู้มีศีลอยู่ตลอดเวลา แต่ลองคิดถึงเด็ก เด็กที่เกิดมานอนในเบาะ ก็ไม่ได้ทำอะไร มีศีลหรือเปล่า

        ผู้ฟัง ก็ไม่มีศีล

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราจะกล่าวเหมาว่า ขณะที่ไม่ได้ทำอะไร เป็นผู้ที่มีศีลไหม ก็เป็นเรื่องที่พิจารณาได้ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม จะเห็นความบริสุทธิ์ของพระธรรม ไม่ส่งเสริมให้เกิดอกุศลจิตแม้เพียงเล็กน้อย ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล แล้วที่เป็นไป แล้วแต่ว่าจะในเรื่องอะไร แต่ขณะนั้นก็มีความโน้มเอียง มีความพอใจ แล้วก็มีการสรรเสริญด้วย แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้กระทำ แต่หวังอยู่ในใจหรือเปล่าว่าเหมือนกับอยากจะให้เป็นอย่างนั้น แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้กระทำเอง แต่เวลาที่มีการกระทำสำเร็จลงไป ก็ดีใจว่า เป็นอย่างนั้น

        เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงจึงเปรียบเหมือนกระจกที่จะส่องจิตของตนเองให้รู้ว่า ขณะนั้น เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล มากน้อยขนาดไหน ไม่ใช่เพียงพอใจว่า เราไม่ได้ฆ่า ก็ไม่เป็นไร แต่แม้แต่เพียงความยินดีในการฆ่าเกิดขึ้น ก็ยังรู้ว่าขณะนั้นเป็น อกุศล ซึ่งเป็นไปในเรื่องของการฆ่า หรือว่าเป็นไปในเรื่องของทุจริตอื่นๆ แล้วก็ถ้าฟังอย่างนี้ แล้วพอเห็นข่าวอะไรๆ ก็ยังคงจะคิดอย่างเดิมหรือเปล่าคะ หรือว่ารู้ว่า แต่ละคนก็มีกรรมเป็นของตนเอง แล้วทุกคนก็ไปสงสารตอนที่ผลของกรรมเกิดขึ้น ไม่ว่าเขาจะยากจน ไม่ว่าเขาจะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าเกิดอุบัติเหตุ ได้รับทุกข์ทรมานต่างๆ ก็สงสารตอนนั้น แต่ว่าตอนที่เขายังไม่ได้รับผล พลอยเป็นอกุศลไปด้วยในการที่จะเกลียดชัง หรือว่าในการที่จะทำให้เขาได้รับผลเร็วๆ

        เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม อย่างละเอียด แล้ว แล้วเป็นผู้ที่มีจิตอ่อนโยน เชื่อฟัง เคารพ ในพระธรรมจริงๆ ก็ต้องรู้ว่า ทรงแสดงพระธรรมอย่างละเอียดเพื่ออะไร ถ้าไม่ทรงมีพระมหากรุณาอย่างนี้ ที่จะรู้ว่า อกุศลเกิดได้บ่อยๆ แล้วก็เกิดมากในเรื่องสารพัดเรื่อง

        เพราะฉะนั้น ก็ทรงอธิบายให้เห็นโทษของอกุศลตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ถ้ามีข่าวหรือว่าเห็น หรืออะไรก็ตามแต่ ปัญญาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นจะไม่ทำให้จิตหวั่นไหวที่จะพลอยเป็นอกุศลไปด้วย แต่ว่าจะรู้ถึงกรรมของแต่ละบุคคล ถ้าไม่มีกรรมที่ได้กระทำ แล้ว สิ่งใดๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นกับใครในลักษณะอย่างนั้นแน่นอน แต่ว่าถ้าสิ่งใดได้เกิดขึ้น แล้ว หมายความว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำ แล้ว

        เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้มีปัญญาเพิ่มเติมไปอีก ก็ทำให้มีการระลึกที่จะไม่กระทำ กรรมอย่างนั้นๆ เพราะว่าผลของกรรมก็ปรากฏให้เห็นอยู่


    หมายเลข 10227
    9 ม.ค. 2567