ไม่ใช่วิธีที่จะถึงพระนิพพาน


    สมหวัง   กราบท่านอาจารย์ สืบเนื่องจากการฟังนี้ คือ ตอนแรกตัวเองยังไม่ได้ฟังธรรมะ ยังไม่ได้มาฟังการสนทนาธรรม จะมีความรู้สึกว่า ตัวเองมีกิเลสน้อยมาก  แล้วก็จะทำอะไรในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร หลังจากได้มาฟังแล้ว จะรู้ตัวเองว่า  ตัวเองมีกิเลสมากเหลือเกิน ความโกรธก็จะโกรธมากที่สุดเลย คนข้างเคียง คนที่บ้าน ไม่ชอบให้ออกมาฟังธรรมะ  เมื่อเรากลับไปถึงจะต้องมีการถาม ลักษณะแรกๆ ที่เรากลับไปเราก็จะมีการโต้แย้ง หลังจากที่เราได้ฟังธรรมแล้ว เราพยายามแยกคำ  อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ตัวของเราพยายามแยก พอหลังจากที่กลับไปถึงบ้าน ถ้าที่บ้านถามว่า ไปไหนมา ก็จะพยายามแยกคำว่า ไป แล้วก็ ไหน แล้วก็ มา เพราะฉะนั้น ก็เลยทำให้เห็นว่า ตัวเองหลังจากที่ฟังธรรมแล้วได้ประโยชน์มาก แต่เวลานี้ความโกรธรู้สึกจะลดน้อยไป  เพราะว่าพยายามไปแยกเป็นคำๆ แล้วก็ไม่มีความหมายอะไร โดยที่ว่าเราจะไม่จับคำมารวมกัน  แล้วทำให้เกิดความโกรธ สมัยแรกๆ ก็จะโกหก ไปไหนมา พอระยะหลัง เดี๋ยวมันเป็นนิสัยก็จะไม่โกหก ก็เลยพูดตรงไปเลย

    .   นี่ก็เป็นอีกแบบหนึ่งซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เรื่องของการฟังธรรมะก็เป็นเรื่องที่ว่า ฟังเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็อย่าผ่านไปง่ายๆ โดยที่ว่ายังไม่ได้เข้าใจจริงๆ อย่างที่พูดว่า สักกายทิฏฐิ  โดยคำแปล ฟังครั้งแรกก็อาจจะคิดว่า พอจะเข้าใจบ้าง แต่ว่าถ้าเข้าใจขึ้นก็จะเป็นประโยชน์  เช่นคำว่า ทิฏฐิ หมายความถึง ความเห็น

    เพราะฉะนั้น ความเห็น มี ๒ อย่าง ถ้าเป็นความเห็นถูกก็เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นความเห็นผิด ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ว่าเวลาที่พูดถึงทิฏฐิทั่วไป ก็ทางฝ่ายอกุศล ก็จะไม่ใช้คำว่า มิจฉา  ถ้าใช้คำว่าทิฏฐิ ทางฝ่ายอกุศล ก็เข้าใจได้ว่าหมายความถึง มิจฉา คือความเห็นผิด คนส่วนใหญ่คงจะไม่ชอบที่จะรู้ตัวเองว่าเห็นผิด แต่ว่าตามความเป็นจริงใครก็ตามที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย แล้วจะมีความเห็นถูกในสภาพธรรมะ หรือสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เป็นไปไม่ได้ เพราะแม้แต่คำว่าธรรมะที่เราได้ยินได้ฟัง ทราบไหมคะว่าอยู่ที่ไหน คนที่ฟังครั้งแรกจะไม่ทราบเลย ก็ไปหาธรรมะ หยิบหนังสือขึ้นมาก็คิดว่า ธรรมะจะอยู่ที่นั่น  แต่ว่าเมื่อได้ฟังบ่อยๆ แล้วมีความเข้าใจ ก็จะได้ทราบว่า ธรรมะหมายความถึงธาตุ หรือสิ่งที่มีจริง แต่ว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย  เป็นสิ่งที่มีไม่ใช่ไม่มี แต่ไม่เคยสนใจ ไม่เคยรู้ ตั้งแต่เกิด ก็เกิดมาแล้วก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน และอะไรเกิด ก็เป็นเรา

    เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้ความหมายหรือว่าลักษณะจริงๆ ของธรรมะ ขณะนั้นย่อมมีความเห็นผิดในธรรมะนั้นๆ โดยการยึดถือสภาพธรรมะนั้นๆ ว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น รูป ได้ยินคำว่า รูป คนใหม่ๆ ที่ไม่เคยฟังธรรมะเลย ก็จะคิดถึงรูปภาพที่เห็น หรือรูปต่างๆ แต่ความจริง ความหมายของ รู ปะ  ในภาษาบาลีไม่ตรงกับภาษาไทยที่ใช้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังธรรม ก็คือว่า ฟังใหม่ ตั้งต้นใหม่ เข้าใจใหม่ ในสิ่งซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน เช่น คำว่า รู ปะ  หมายความถึงสภาพธรรมะใดๆ ก็ตามที่มีจริง แต่ว่าสภาพนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องมองเห็น แต่ว่าสภาพธรรมะใดที่มีจริง มีจริง คือ มีลักษณะปรากฏให้รู้ว่า ลักษณะของธรรมะนั้น หรือสิ่งนั้นคืออย่างนั้น ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เช่น กลิ่น มีจริงหรือไม่มีจริง มี มองเห็น หรือมองไม่เห็น ไม่มีใครเห็นกลิ่น แต่กลิ่นมีจริง สภาพธรรมะที่มีจริง แต่ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึก สภาพธรรมะนั้นๆ เรียกว่า รูปธรรม เป็นธรรมะฝ่ายรูป คือมีจริงๆ ไม่สามารถจะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ก็มีธรรมะ ไม่ใช่ไม่มี มีธรรมทั้งหมดเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย  ไม่ต้องไปหาที่อื่นเลย ถ้าขณะใดไม่เห็นว่า ธรรมะเป็นธรรมะ ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด ซึ่งมีหลายประการ เริ่มตั้งแต่การเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมะที่ประชุมรวมกันปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้วยความทรงจำว่า สิ่งนั้นมีและเที่ยง แม้ว่าสิ่งนั้นไม่ปรากฏ เช่นถ้าจะนึกถึงคน พี่น้อง มิตรสหาย หรือบ้าน หรือวัตถุใดๆ ก็ตาม ในขณะที่ไม่ปรากฏ ในความรู้สึกเหมือนกับว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริงๆ ยังมีอยู่ ยังไม่ได้หายไปไหน แต่ว่าตามความเป็นจริง ผู้ที่รู้แจ้งสภาพธรรมะตามความเป็นจริง สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏมีจริงชั่วขณะที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะต้องค่อยๆ พิจารณาไป แม้แต่คำพูดที่ว่า สิ่งใดที่มีจริง ก็คือมีจริงในขณะที่ปรากฏ และเพียงชั่วขณะที่ปรากฏ จริงหรือเปล่า  การฟังธรรมะต้อง ฟังแล้วฟังอีก แล้วก็ฟังบ่อยๆ แล้วก็ไตร่ตรองว่า คำนี้ถูกหรือผิด ถ้ายังไม่เห็นด้วย เพราะว่าไม่สามารถละความคิดนึกว่า ยังมีพ่อ มีแม่ มีเพื่อน มีฝูง มีบ้าน มีทรัพย์สมบัติแล้วจะบอกว่า สิ่งนั้นไม่มีได้อย่างไร นั่นก็ยังไกลไป แต่ที่ตัวที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้  มีจริงๆ หรือเปล่า  สิ่งที่เคยจำว่า เป็นปอด เป็นตับ เป็นแขน เป็นขา ปรากฏหรือเปล่า ผู้ที่ประจักษ์ธรรมะตามความเป็นจริงรู้ว่า สภาพธรรมะใดก็ตามที่ปรากฏ เพราะมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับเร็วมากทันที สิ่งใดที่ไม่ปรากฏ เช่น เสียงในป่า มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น เพราะว่าพอต้นไม้ล้ม หรือว่ากระทบกันด้วยประการใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้เกิดเสียง เสียงก็ดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่แม้ว่ามี เพราะปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แต่เมื่อไม่ปรากฏสิ่งนั้นก็คือ เกิดแล้วดับแล้ว

    เพราะฉะนั้น ที่ตัวทั้งหมดมีรูปธรรม แน่นอน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า  ถ้ากระทบสัมผัสจะรู้สึกแข็ง หรืออ่อน หรือเย็น หรือร้อน ทันทีที่กระทบสัมผัส เพราะสิ่งนั้นมีปัจจัยปรุงแต่งเกิด จึงสามารถกระทบได้ สัมผัสได้ ถ้าสิ่งใดที่ดับไปแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะกระทบสัมผัส แล้วก็ปรากฏสิ่งนั้นได้

    เพราะฉะนั้น คำที่ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว คำว่า ดีแล้ว ลึกซึ้งจริงๆ คือ ดีแล้วด้วยพระปัญญาคุณที่สามารถที่จะตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมะ ซึ่งมีอยู่เพียงชั่วขณะที่ปรากฏเท่านั้น ซึ่งเป็นการยากซึ่งจะไถ่ถอนความไม่รู้  หรือความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมะแม้ไม่ปรากฏ หรือแม้กำลังปรากฏ ก็ไม่รู้ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมะนั้น ๆ 

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะต้องเป็นเรื่องตลอดชีวิต แล้วทุกคนที่ได้ฟังแล้ว ก็จะรู้ว่า ไม่ใช่ชาติเดียว ชาติเดียวไม่พอ เพราะเหตุว่าการที่จะรู้ความจริงจนกระทั่งบรรลุถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อที่จะประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณที่จะทรงแสดงพระธรรมไว้มากตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้มีโอกาสไตร่ตรอง และเห็นพระปัญญาคุณ ได้เห็นพระบริสุทธิคุณ ได้เห็นพระมหากรุณาคุณว่า ไม่ใช่เพื่ออย่างใดทั้งสิ้น แต่เพื่อให้ผู้ที่ฟังมีโอกาสที่จะพิจารณาสามารถที่จะเข้าใจความจริงของสภาพธรรมะ แล้วก็จากฝั่งนี้ไปสู่อีกฝั่งหนึ่งได้ มิฉะนั้นก็ไม่มีหนทางเลย ก็จะเลาะอยู่ทางฝั่งนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ วนเวียนไป ซ้ำไป ซ้ำมา ทุกวัน แล้วก็ไม่ใช่เพียงแต่ชาตินี้ชาติเดียว

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ถ้าได้ฟังโดยละเอียด แล้วเห็นประโยชน์ ก็จะพิจารณาทุกสิ่งที่ได้ฟังแล้วก็ไตร่ตรองว่า เป็นความจริงหรือไม่จริง ถ้าเป็นความจริง ประจักษ์ ตามความจริงนั้นหรือยัง เพราะเหตุว่าธรรมะที่มีจริงทนต่อการพิสูจน์ สามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ให้ไปแสวงหาสิ่งที่ไม่มี ไม่ใช่ให้ไปทำขึ้นมา โดยที่มีความเป็นเราทำขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา สามารถที่จะทำได้ แต่ธรรมะไม่ใช่อย่างนั้นเลย  ธรรมะเป็นธาตุ หรือธรรมะ ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถดลบันดาลได้ แต่ว่ามีปัจจัยที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมะแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะก็คือให้รู้จักธรรมะซึ่งมีอยู่จริงในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกภพชาติ เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมะ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งตามที่ได้ทรงแสดงไว้ได้

    อดิศักดิ์   คุณป้าสมหวังพอเข้าใจไหม ไม่ใช่ไปแยกคำ ที่ไปแยกคำนั้นไม่ใช่ ต้องอย่างที่อาจารย์พูดมา ต้องค่อยๆ เข้าใจธรรมะขึ้นว่า มีแต่รูปกับนามเท่านั้น ไม่ใช่ไปแยกคำ แล้วไปแปลความหมายกลายเป็น ไม่ใช่เอกายโนมรรคแล้ว มรรคมีองค์ ๘ เป็นอีกต่างหากไปอีกวิธี ซึ่งคงไม่ใช่วิธีที่จะถึงพระนิพพานได้


    หมายเลข 10230
    18 ก.ย. 2558