ต้องพิจารณา อย่าเพียงฟัง


    ส.   คือบางทีเราฟัง แล้วเราก็จำๆ สิ่งที่ได้ฟัง แต่ถ้าเราคิด เป็นปัญญาของเราเอง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะได้ยินคำอะไรก็ตาม ขอให้อย่าเพียงฟัง หมายความว่าต้องคิดด้วย พิจารณาด้วยให้ถ่องแท้ ให้เป็นปัญญาของเราเอง เช่น คำว่า อนิจจัง คำถามเรื่องสังขารกับอนิจจัง อนิจจัง คือ ไม่เที่ยง ลักษณะที่ไม่เที่ยงคือมี แล้วไม่มี จึงไม่เที่ยง ใช่ไหมคะ เราก็ต้องคิดว่า ถ้ามีคำว่า อนิจจัง แปลว่าไม่เที่ยง อะไรไม่เที่ยง เราไม่เคยคิดมาก่อน เพราะว่าฟังมาเรื่อยๆ จำมาเรื่อยๆ  แต่ถ้าสิ่งใดก็ตามที่ไม่เที่ยงหมายความว่า สิ่งนั้นต้องมี แล้วไม่มี ไม่ใช่ว่ามีอยู่ตลอดไป ถ้ามีตลอดไป ก็คือเที่ยง แต่ถ้าไม่เที่ยงก็คือว่า มีแล้วไม่มี ขณะที่ไม่มีจากสิ่งที่เคยมี ไม่เที่ยงแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีก็ต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นจะมีไหมคะ ไม่ว่าอะไรทั้งหมดก็ตาม ที่บอกว่ามี ขณะนี้มีดอกไม้อยู่บนโต๊ะ ก็ต้องมีการเกิดขึ้น จึงปรากฏได้ แต่ถ้าไม่เกิด ก็ไม่มีอะไรที่จะปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ เราลืมว่า สิ่งนั้นต้องเกิดจึงได้ปรากฏ แล้วสิ่งที่เกิดปรากฏ ถ้าไม่มีการปรุงแต่ง อยู่ดีๆ ลอยๆ ก็จะเกิดมาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็สัมพันธ์กัน จากคำว่าไม่เที่ยง คือ สิ่งที่มีอยู่ แล้วไม่มี นั่นคือไม่เที่ยง  แต่สิ่งที่มีก็ต้องหมายความว่ามีการเกิดขึ้น แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการปรุงแต่ง จึงจะเกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น สังขารก็คือสภาพธรรมะใดๆ ทั้งสิ้นที่เกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดแล้วก็ดับ เป็นอนิจจัง ไตรลักษณะ หรือลักษณะ ๓ ของสังขารธรรมทั้งหมด คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพธรรมะใดก็ตามที่ไม่เที่ยง สภาพธรรมะนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าจะยินดีพอใจเลย เพราะว่าจะพอใจสักเท่าไรก็หมดไปแล้ว หาอีกไม่ได้ หายไปเลย ไม่กลับมาอีกด้วย เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดก็เพียงแต่ว่าให้โลภะ หรือความติดข้องพอใจในสิ่งที่ปรากฏแล้วสิ่งนั้นก็หมดไป โดยไม่รู้เลย

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าทุกขณะที่เรามีชีวิตอยู่  เมื่อมีจิตก็จะต้องมีการรู้สิ่งหนึ่ง สิ่งใด คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพื่ออะไรคะ เพื่อติดในสิ่งที่เห็น ลองคิดดู เห็นเพื่ออะไร เพื่อจะติดในสิ่งที่เห็น ได้ยินเพื่ออะไร เพื่อติดในสิ่งที่ได้ยิน เพื่ออะไร เพื่อความสุขเพียงในสิ่งที่ปรากฏแล้วหมดไป เท่านั้นเอง นี่คือความหลงที่พอใจยึดมั่นในความรู้สึกที่เป็นสุข จากการที่เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นความไม่รู้ของตัวเอง ว่าไม่รู้ขนาดไหน ไม่รู้ว่าทุกอย่างที่ปรากฏ เพื่อให้เวทนา หรือความรู้สึกติดข้อง โสมนัส พอใจยินดี เกิดขึ้นในสิ่งซึ่งไม่เที่ยง ทั้งความรู้สึกนั้นก็ไม่เที่ยง ทั้งสิ่งนั้นก็ไม่เที่ยง  แล้วเป็นอย่างนี้ตลอด จะไม่เปลี่ยนเลย ไม่มีสิ่งไหนที่เที่ยง สิ่งใดก็ตามที่เกิดเป็นสังขาร มีปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งนั้นต้องดับ เป็นธรรมดา แต่ว่าปรากฏเพื่อให้ติดข้อง เพื่อให้พอใจ เพื่อให้ยึดมั่น เพื่อให้เป็นสุข แล้วก็หมด

    นิภัทร  คุณวีณา คือ เราฟัง สังขาร อนิจจัง อะไรที่ว่า ก็ต้องต้อนเข้าหลัก เพราะว่าหลักของเราก็เรียนกันอยู่แล้ว ปรมัตถธรรม ๔ คือ ปรมัตถธรรม ๔ มีอะไรบ้าง เราส่วนใหญ่จะรู้ ผู้ที่เรียน คือ มีจิต เจตสิก รูป  แล้วก็นิพพาน จิต เจตสิก รูป เป็นสังขาร เกิดด้วยปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็สังขารนี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ส่วนพระนิพพานเป็นวิสังขาร คือ พ้นจากสังขาร เที่ยง เป็นสุข แล้วก็เป็นอนัตตา นี้หลัก


    หมายเลข 10208
    18 ก.ย. 2558