ลืมเรื่องที่อยากจะมีสติ


    เรณู   เรื่องของสติปัฏฐาน ซึ่งตอนนั้นเรื่องของเสียง จะทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมะที่มีจริง เป็นจริง อยู่ในขณะนี้ แล้วก็เมื่อช่วงที่ผ่านมา ช่วงกลางวันที่ทานอาหาร หลายๆ คนก็อาจจะมีสติที่จะระลึกรู้สภาพธรรมะที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริง แต่ท่านอาจารย์ก็มักจะเน้นย้ำเสมอว่า ทำไม ถ้าหากว่า ถึงเวลารับประทานอาหาร เรามักจะสนใจ หรือว่าจะบอกว่าเราจะระลึกที่รสที่ปรากฏที่ลิ้น หรืออะไรอย่างนี้  ท่านก็บอกว่าขณะที่รับประทานอาหาร อย่างอื่นก็มี ไม่ว่าจะเป็นเสียง หรือว่าเป็นอาการไหวของกาย หรือว่าเป็นการจับช้อนที่แข็ง หรืออะไรอย่างนี้  หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นเราเห็นแล้วก็เป็นอาหารต่างๆ ชนิดต่างๆ ทั้งนั้นเลย

    เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าใครจะอบรมหรือว่า มีสติเกิด หรือว่าหลงลืมสติ  ก็คงจะไม่ใช่มีสติเกิดบ่อยๆ หรือว่าเนืองๆ คงจะต้องอบรมไปเรื่อยๆ ก็ขอกราบเรียนท่านอาจารย์ได้อบรมเรื่องของสติปัฏฐาน ในภาคบ่ายให้เราได้มีเสียงที่ทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมมากขึ้น กราบเรียนเชิญคะ

    ส.   ที่จริงแล้วการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจขึ้น แล้วไม่ห่วงกังวลเรื่องสติปัฏฐานเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าโดยมากไปตั้งต้นที่สูงสุดคือยอด โดยที่พื้นฐานของเรายังไม่พอ จึงไม่ใช่สติปัฏฐาน หรืออาจจะมีความหวังว่า อยากจะให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องละความหวัง แต่ว่าพระธรรมที่ลืมไม่ได้เลย คือว่าเพื่อละ เพราะว่าตั้งแต่เราเกิดมา เราไม่เคยคิดที่จะละ ทั้งวัน เราก็มีความหวังว่าจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือว่า ทำอย่างนั้นเพื่อสิ่งนี้ แต่ถ้าศึกษาพระธรรมจริงๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า ตรงกันข้ามกับทางโลก เพราะเหตุว่าทางโลกเป็นทางได้ แต่ว่าทางธรรมะเป็นเรื่องละ อย่างที่กล่าวถึงในตอนเช้าที่ว่า เราเคยรู้สึกตัวบ้างไหมว่า เรามีกิเลสมากมาย แล้วเราก็คิดถึงพระนิพพาน พอมีกิเลสมากก็คิดถึงพระนิพพาน แต่ทำไมไม่คิดถึงที่จะเป็นคนดีเพิ่มขึ้น เพื่อจะถึงพระนิพพาน เพราะว่าถ้ายังเต็มไปด้วยกิเลส หรือว่าความไม่ดี ไม่มีทางเลยที่จะถึง อย่างไร อย่างไรก็ถึงไม่ได้ แล้วสำหรับความดีก็มีหลายขั้น ถ้าเป็นความดีที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่ถึงนิพพานเหมือนกัน เพราะเหตุว่าผลของความดีที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่เป็นเหตุให้ออกจากสังสารวัฏ ซึ่งพูดถึงสังสารวัฏ ก็คือขณะนี้ที่กำลังเห็น แล้วก็กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก ทุกขณะจิตที่เปลี่ยน หรือดับไป หมดไป จากทางตาไปสู่ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอย่างนี้ตลอด เมื่อวานนี้ก็เป็นอย่างนี้ วันนี้ก็เป็นอย่างนี้ ต่อไปก็เป็นอย่างนี้ ข้างหน้าอีกแสนโกฏิกัปก็ไม่พ้นจากความเป็นอย่างนี้เลย

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นอย่างนี้ คือ เกิดมาแล้วก็ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องคิดนึก ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส แล้วก็ถ้าเป็นเรื่องอื่น ก็คือถึงจะมีความรู้มากเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะออกจากสังสารวัฏ

    เพราะฉะนั้น ธรรมะเป็นเรื่องละเอียด มิฉะนั้นไม่ทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา โดยง่ายๆ ว่า ขอให้พูดเรื่องสติปัฏฐาน จบ ก็จะไม่มีพระธรรมส่วนอื่นเลย แต่เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก แล้วก็ทุกคนเคยหวังที่จะได้ ไม่เคยคิดที่จะละ ก็ให้กลับมาตั้งต้นใหม่ คือแทนที่จะคิดถึงพระนิพพาน ซึ่งถึงได้ แต่ไม่ใช่วันนี้ หรือพรุ่งนี้ ถึงได้เมื่อมีปัญญา ฟังพระธรรม แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็เห็นประโยชน์ว่า การฟังนั้นไม่ใช่เพื่อเพียงความรู้ แต่เพื่อที่จะละกิเลส ซึ่งอย่างอื่นไม่สามารถจะละได้ นอกจากความเข้าใจจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดถึงเรื่องสติปัฏฐานก็ได้ แต่ว่าคิดถึงเรื่องความเข้าใจธรรมะให้เพิ่มขึ้น เมื่อมีความเข้าใจธรรมะเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นหนทางที่จะทำให้สติมีการระลึก แล้วก็สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏตามที่ได้ศึกษาแล้ว ตรงตามความเป็นจริงทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญ คือ ปัญญาความเข้าใจที่ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนต้น แล้วก็ไม่ต้องกังวลเรื่องสติปัฏฐานเลย  เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังมีเดี๋ยวนี้จริงๆ สติก็เกิดได้ ปัญญาก็สามารถที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่าเคยฟัง เคยเข้าใจ  เคยพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมะโดยขั้นเข้าใจมาแล้ว

    เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่สติเกิดระลึกได้ ก็สามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมะในขณะนี้ ก็ลืมเรื่องสติปัฏฐานไปก่อนก็ได้ แต่ว่าให้มีความเข้าใจธรรมะเพิ่มขึ้น

    ทั้งหมดนี้เพื่อละ เพื่อละความต้องการที่จะให้สติเกิด มิฉะนั้นก็อาจจะเป็นการส่งเสริม แล้วก็มีการทำ พยายามทำหลายๆ ทาง แต่ลืมเรื่องอกุศลของตัวเอง แล้วก็ลืมเรื่องความรู้ที่จะต้องเพิ่มขึ้น


    หมายเลข 10093
    17 ก.ย. 2558