ความอยากเป็นเครื่องกั้น


    ส.   ขอถามนะคะ เวลานี้มีใครอยากให้สติเกิดมากๆ บ้างคะ มีไหมคะ มีใครอยากให้สติเกิดมากๆไหมคะ อยาก ไม่ถูกแล้ว เพราะเหตุเรามีอกุศลเท่าไร ตามความเป็นจริง เราค่อยๆ ฟังธรรมะให้เข้าใจ ถ้าอยาก ไม่รู้เลยว่า โลภะมาแล้ว เครื่องกั้นมาแล้ว ความเป็นตัวตนมาแล้ว แล้วเราไม่เห็นตัวนี้ แล้วเมื่อไรเราจะละตัวนี้ได้ ไม่มีทางเลย

    เพราะฉะนั้น ในอริยสัจธรรมซึ่งเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแต่รู้ทุกข์ ยังต้องรู้เหตุของทุกข์ด้วย ว่าตราบใดที่ยังมีโลภะ มีความต้องการอยู่ ไม่มีการถึงอริยสัจที่ ๓ คือ พระนิพพาน ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้ก็ยังอยากอยู่นั่นแหละ ประเดี๋ยวๆ ก็อยากอีก  ประเดี๋ยวๆ ก็อยากอีก แล้วอย่างไรคะ ธรรมะตามความเป็นจริงเป็นอย่างไรก็คือเป็นอย่างนั้น เราไม่สามารถจะรู้แจ้งนิพพานได้โดยรวดเร็ว โดยปัญญาไม่เกิด โดยไม่เข้าใจสภาพธรรมะขึ้น เพราะว่าการเข้าใจสภาพธรรมะขึ้น เห็นความเป็นอนัตตา จึงใช้คำว่า เข้าใจธรรมะขึ้น ถ้าศึกษาธรรมะแล้วก็เป็นเราทั้งหมด ก็หมายความว่าไม่ได้เข้าใจความจริง ตามที่ได้ศึกษาว่า เป็นธรรมะ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะจึงต้องละเอียดว่า ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ใช่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น ฟังเรื่องของสังฆทาน มีผลมากมีอานิสงส์มาก อยากได้ผลมาก ฟังเรื่องความสงบของจิต อยากสงบ แล้วนี่อะไร เป็นเรื่องต้องการทั้งหมดเลย ไมใช่เรื่องรู้แล้วละตามความเป็นจริง  ค่อยๆ รู้ ว่า ความสงบนั้นก็คือขณะใดที่กุศลจิตเกิด แล้วเวลาโกรธ กุศลจิตเกิดหรือเปล่าคะ ไม่ใช่

    เพราะฉะนั้น ก็เห็นได้เลยว่า ขณะที่โกรธก็เป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล ก็เป็นของธรรมดาที่เมื่อยังมีเหตุจะให้อกุศลจิตเกิดก็เกิด แต่ถ้าเข้าใจธรรมะขึ้นไม่เดือดร้อน แต่ถ้าคนที่ฟัง ฟังแล้ว เป็นอนัตตา เป็นอนัตตา พออกุศลเกิด ไม่อยากมีอกุศล พอสติปัฏฐานไม่เกิด อยากมีสติปัฏฐาน แล้วก็เลยทิ้งความเข้าใจที่ว่า เป็นอนัตตาไป แต่เป็นเรื่องละเอียด ธรรมะเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ต้องพิจารณาโดยรอบจริงๆ

    ทีนี้ถ้าถามว่ามีใครอยากให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ ยังมีไหมคะ ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิดมากๆ ไม่ต้องอยาก เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยพอที่จะให้สติเกิดมากๆ ทุกอย่างขึ้นกับเหตุปัจจัย ถ้ายังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ  สติปัฏฐานก็เกิดบ่อยไม่ได้ แต่ถ้ามีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐานก็เกิด ใครก็จะไปยับยั้งไม่ให้สติปัฏฐานเกิด ก็เกิดไม่ได้  แต่ข้อสำคัญ คือ  เมื่อสติปัฏฐานเกิด อยากให้เกิดอีก เรื่องของความอยากจะติดตามไปโดยตลอด

    เพราะฉะนั้น เรื่องของสมุทัย เป็นเรื่องที่จะต้องรู้อย่างละเอียดมากว่า โลภะที่จะต้องละก่อน คือโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ความเห็นผิด สำคัญคนที่ศึกษาพระธรรม ก็คงจะไม่ไปกราบไหว้ต้นไม้  แต่ว่ามีความเห็นผิดในการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสติเกิดระลึก แล้วก็มีความต้องการเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่เห็นถูกก็คือรู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมะอย่างหนึ่ง จะคิดเรื่องเจตสิก จะคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นสภาพธรรมะแต่ละอย่าง นั่นคือผู้ที่เห็นถูก แต่ถ้าผู้ที่เห็นผิดในปฏิบัติก็คือว่า เมื่อสติเกิด อยากให้สติเกิดอีก หรือว่าไม่อยากจะให้คิดอย่างนั้น ไม่อยากจะให้คิดอย่างนี้ 

    นี่คือผู้ที่ไม่เข้าใจหนทางว่า การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นเรื่องรู้สภาพธรรมะว่าทั้งหมดเป็นธรรมะ ไม่มีเรา

       ประทีป   ฟังท่านอาจารย์ถามว่า มีใครอยากให้สติเกิดบ้าง ทั้งๆ ที่คิดว่าตัวเองฟังพอเข้าใจบ้างเล็กน้อย แต่ก็อยากให้สติปัฏฐานเกิด

    ส.   ก็อย่างนี้ แล้วก็ยังมีความต้องการอยู่อย่างนี้ ไม่ลดลงไปเลย แต่เมื่อไรที่เป็นปกติ รู้ว่าชีวิตเป็นอย่างนี้ตามความเป็นจริง มีปัจจัยของอกุศลจิตจะเกิดมาก อกุศลจิตก็เกิดมาก ก็ดับไปแล้ว ก็ไม่เดือดร้อน แล้วก็สะสมฝ่ายกุศลขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งค่อยๆ มีกำลังขึ้น ปัญญาความรู้เพิ่มขึ้นก็ไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่าตามกำลังของตามความเป็นจริงว่า อกุศลในแสนโกฏิกัปมากเท่าไร แล้วจะให้วันนี้ฟังอย่างไรสติปัฏฐานจะเกิดมากๆ  ทำอย่างไรถึงจะรู้ความจริงของสภาพธรรมะ  ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องอบรม

    ประทีป   บางทีก็อยากให้เกิดมากๆ บางทีท่านอาจารย์ถาม บางทีก็รู้สึกเฉยๆ  บางทีก็เข้าใจว่า ลักษณะอย่างนั้นเป็นลักษณะของโลภมูลจิต

    ส.   ก็เป็นจริงอย่างนี้ก็เป็นจริงอย่างนี้ จนกว่าปัญญาจะรู้ทั่ว

    ประทีป   กระผมก็คิดว่า เราก็เริ่มรู้จักตัวเราเองได้มากขึ้น ใช่ไหมครับ ท่านอาจารย์

    ส.   เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ขอให้รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมะแต่ละอย่าง ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป

    นิภัทร พูดถึงเรื่องความเข้าใจธรรมะ แม้ผมเองผมก็ยังงง แล้วก็ทุกท่านก็คงอยากจะทราบว่า ความเข้าใจอันนั้นคือเข้าใจอย่างไร ผมอยากจะเรียนถามครับ

    ส.   ค่ะ จิต มีไหมคะ

    นิภัทร มี

    ส.   นั่นคือเข้าใจ จิตมีลักษณะอย่างไรคะ

    นิภัทร จิตมีลักษณะรู้อารมณ์ครับ

    ส.   นั่นคือความเข้าใจ จิตเกิดโดยไม่มีปัจจัยได้ไหมคะ

    นิภัทร ไม่ได้

    ส.   นั่นคือความเข้าใจ

    นิภัทร ก็จำได้กันทุกคน

    ส.   ไม่ใช่จำได้ค่ะ ถามตอบนี้หมายความว่า ต้องคิด ไม่ได้ไปท่องหรือไปจำ จิตมี ไม่ใช่มีแต่รูปธรรม จิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน นี่คือ จิต ทั้งนั้นเลย  ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีสภาพรู้ ไม่มีนามธรรม ก็ไม่มีอะไรปรากฏ ที่กำลังปรากฏ ปรากฏกับจิต เพราะจิตเป็นสภาพรู้


    หมายเลข 10096
    17 ก.ย. 2558