ฟังด้วยดี ฟังอย่างไร


    ศุกล   เมื่อพูดถึงสังสารวัฏ ท่านอาจารย์เคยกล่าวไว้ในเทป หลายครั้งหลายตอน ว่า ทุกท่านเกิดมาแสนโกฏิกัปแล้ว แล้วถ้ายังเป็นความไม่รู้อยู่ต่อไปเหมือนอย่างชาตินี้ ที่ก่อนได้มีโอกาสฟังพระธรรม  สังสารวัฏก็จะต้องมีเวลายืดยาวนานต่อไปอีก การฟังพระธรรมเพื่อความรู้ เพื่อความเข้าใจ นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติ เพื่อดับสังสาระ เราจะได้ไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิดอย่างที่ผ่านมาแล้ว แม้ว่าจะไม่ทราบว่า ชาติก่อนเคยเกิดเป็นอะไร แต่ก็พอจะประมาณได้ว่า ต้องเป็นสิ่งที่ดี จึงทำให้ปัจจุบันนี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็ยังได้มีโอกาสฟังพระธรรม แล้วก็ได้เข้าใจในเรื่องหนทางต่างๆ ตามที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้บรรยายมาทั้งหมดนี้

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ตรงนี้ กระผมใคร่อยากจะขอความเข้าใจจากท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ทุกท่านเมื่อมาประชุมกันแล้ว ทราบว่ามีรายการธรรมะหลายๆ สถานี หลายๆ เวลา ต่างก็ให้ความสำคัญและสนใจ แต่ทีนี้ว่าการฟังธรรม จะเป็นวิทยุก็ดี ฟังอย่างไร จึงจะทำให้เกิดความเข้าใจ แล้วก็ละคลายความเป็นตัวเป็นตนลงไปทีละเล็กทีละน้อยได้บ้าง

    ส.   ฟังอย่างไร ใช่ไหมคะ

    ศุกล   ฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างไร

    ส.   ฟังแล้วก็พิจารณาในสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังว่า เป็นความจริงอย่างนั้น ไหม ฟังให้เข้าใจในเหตุในผลที่ถูกต้อง

    ศุกล   เช่น บอกว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ฟังแล้วโดยความเป็นจริง ถ้ายังไม่มีความรู้จริงๆ อย่างที่พอจะเข้าใจได้ เห็นก็เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งตลอดเวลา แต่ถ้าสมมุติว่า มีความรู้ทางภาคปริยัติ ก็พอจะมีการสังเกตในขณะที่เห็นได้  อย่างนี้ถือว่าเป็นการสังเกตพิจารณาได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ไหมครับ

    ส.   ต้องเป็นการฟังบ่อยๆ แล้วให้เข้าใจในอรรถของความไม่มีตัวตน ถ้าฟังปริยัติมาแล้วมาก แต่เวลาที่สติเกิด ปริยัติอยู่ที่ไหน มานั่งนึกหรือคะว่า นี่เป็นจิตอะไร ประกอบด้วยเจตสิกอะไร ไม่ใช่อย่างนั้นเลย การฟังให้เข้าใจในความเป็นอนัตตา เช่น จิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตก็คือเจตสิก เพราะฉะนั้น จิตกับเจตสิกก็เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ค่อยๆ ฟังไปจนกระทั่งรู้ว่า เมื่อเป็นจิตและเจตสิก แล้วเป็นรูป  เราอยู่ที่ไหน เมื่อยังไม่เข้าใจหรือว่าเข้าใจไม่พอ ก็ฟังอีก เวลาที่สติเกิดแล้วรู้ไม่พอก็ยังต้องระลึกอีกบ่อยๆ เนืองๆ ไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องของการอบรม เป็นเรื่องของการเจริญภาวนา หมายความว่าอบรมไปจนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์

    อดิศักดิ์   ถามพระอาจารย์สมพรว่า  สุสูสังลภเตปัญญัง ที่ว่า ฟังด้วยดี อาจารย์สมพรลองช่วยขยายหน่อยสิครับ ฟังด้วยดี ฟังด้วยดีอย่างไร

    สมพร  สุสูสัง แยกเป็น ๒ อย่าง ฟังด้วยดี สุสูสัง ลภเต  ย่อมได้  ปัญญัง คือปัญญา ฟังด้วยดีคือฟังอย่างไร เราตั้งใจฟัง ในสมัยก่อนแม้พระองค์จะตรัสธรรมเทศนา พระองค์ก็เตือนภิกษุก่อน เรียกภิกษุก่อนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังไม่แสดงธรรมเลย ภิกษุบางพวกก็กำลังเข้าฌาน บางพวกก็กำลังสนใจอย่างอื่น คิดอย่างอื่น เมื่อพระองค์ตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ตั้งใจ คือตั้งใจฟังธรรมะ แล้วพระองค์ได้ตรัสธรรมะ ก็เช่นเดียวกัน สุสูสังลภเตปัญญัง ฟังด้วยดี ตั้งใจฟัง การตั้งใจฟัง พระองค์ก็ตรัสว่า เคารพในธรรม

    อดิศักดิ์   ทีนี้ว่า เราก็มา บาลีมีว่าอย่างนั้น ที่ท่านอาจารย์ได้พร่ำสอน พร่ำพูดอยู่เป็นเวลา ๓๐ - ๔๐ ปี คุณศุกลก็สงสัยว่า ฟังอย่างไร ถึงถือว่าฟังด้วยดี ฟังอย่างไรอย่างไร เห็นทีไรก็เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้  แล้วที่ฟังอย่างไรถึงจะเป็นการฟังด้วยดี ฟังท่านอาจารย์ฟังไปเรื่อยๆ ท่านก็เคยพูดแล้ว ไม่ต้องจด แล้วไม่ต้องก้มหน้าก้มตาลงจดอะไรๆ ผมก็ถืออย่างนี้มาตลอด ทั้งๆ ที่ก่อนที่ท่านจะสั่งสอนผมว่า ไม่ต้องจด ผมก็ไม่จด เพราะว่าไปฟังก็ไปที่วัดบวรก็ไป ก็ฟังอย่างเดียว ฟังแล้ว หลังจากที่ออกจากวัดบวร ขับรถกลับบ้าน เป็นเวลา ๒ วัน ที่คำสอนของท่านประมาณ ๒ - ๓ ชั่วโมง ก้องอยู่ในหู ความไม่มีตัวตน มีแต่สภาพธรรมะ มีแต่ปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูป มันก็ก้องเข้าไปในหู เห็นเป็นสิ่งที่ปรากฏ เห็นเป็นสภาพรู้ สิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุวิญญาณเท่านั้นที่จะรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันก้องเข้าไป ก้องเข้าไป มันเกิดสัญญาความจำ ความจำในสภาพธรรมะ มันก็เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย วันหนึ่งมันได้เหตุ ได้ปัจจัย สติก็เกิดระลึกได้


    หมายเลข 10094
    17 ก.ย. 2558