เมื่อไม่มีเหตุปัจจัย ใครจะทำอะไรได้


    ศุกล   ท่านอาจารย์ก็พยายามที่จะมีเมตตา มีความอนุเคราะห์กับพวกผู้ฟังมาตลอด แล้วโดยเฉพาะคำว่า “ฟัง” หรือคำว่าได้ยิน ๒ คำมีความต่างกันมาก เพราะฉะนั้น ปัจจุบันนี้เราจะเป็นผู้ฟัง หรือว่าเราจะเป็นผู้ได้ยินธรรมะ ก็สุดแล้วแต่ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อปฏิบัติต่างๆ นี้ ถ้าไม่อาศัยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญความรู้และความเข้าใจ ก็ยังจะต้องคิดว่า วิธีอย่างนี้ยาก แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็รู้สึกจะได้ผลช้าเกินไป แต่ถ้ามีข้อปฏิบัติที่จะมีการนำไปเอาจริงเอาจัง หมายความว่าหลีกเร้นจากภาระหน้าที่แล้วก็ไป ถามว่านั่นเป็นชีวิตปกติของท่านหรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งที่กระผมคิดว่า ถ้าท่านผู้ใดยังข้องใจอะไร ยังมีโอกาสซักถามท่านอาจารย์ หรือว่าท่านผู้บรรยายทั้งหมดก็ได้ ผมขอกราบเรียนแค่นี้ก่อนครับ

    ส.   ตลอดชีวิตมา ไม่ทราบว่านานแสนนานเท่าไรแล้ว เคยทราบไหมว่าเป็นธรรมะ แล้วก็จะไปเข้าห้องปฏิบัติ แล้วก็สามารถจะรู้ได้ภายใน ๗ วัน หรือว่า ๑๐ วัน หรือจะเป็น ๑๐ เดือน ๑๐ ปี มีเวลาเท่าไรก็แล้วแต่ เป็นไปได้ไหม ในเมื่อพระสาวกทั้งหลาย แสนกัป

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องตรงเรื่องจริง ว่าเมื่อมีความไม่รู้ แล้วจะค่อยๆ รู้ขึ้นได้โดยวิธีไหน แล้วก็ถ้าไม่มีความรู้ ความไม่รู้ซึ่งเป็นต้นเหตุของกิเลสทั้งหลายจะหมดไปได้อย่างไร มุ่งที่จะไปละโลภะ โทสะ โดยไม่เกิดปัญญา เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีโมหะ มีอวิชชา  โลภะก็ต้องมี โทสะก็ต้องมี  กิเลสอื่นๆ ก็ต้องมี

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปคิดถึงสิ่งที่เกินความหวัง ที่จะไปเกิดปัญญาอย่างรวดเร็ว แล้วก็จริงๆ โดยที่ว่ายังไม่รู้เลยว่าปัญญารู้อะไร คนที่ไป ถามดู จะตอบได้ว่าไม่รู้ ถ้าสามารถที่จะบอกได้ว่าปัญญารู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แล้วก็เมื่อยังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้มีการเข้าใจหรือว่าศึกษาลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่มีปัจจัยพอ ใครจะไปทำอะไรได้ อย่างเสียง ถ้าไม่กระทบหู แล้วจะบอกว่าให้ได้ยิน ก็เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย คือ ไม่มีความเข้าใจเลย แล้วก็บอกว่าให้ไปทำวิปัสสนา แล้วก็จะเกิดปัญญา เป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อถ้าคนนั้นเชื่อก็คือว่า คนนั้นไม่รู้ว่าปัญญารู้อะไร แล้วไม่รู้หนทางด้วยว่า จะอบรมเจริญความรู้ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะในขณะนี้ได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนก็ต้องฟังแล้วก็พิจารณาในเหตุในผล แต่จะไม่มีคำบอกว่าอย่า เพราะว่าเป็นไม่ได้ที่จะบอกใครอย่างนั้น

    บง   คือจากที่ดิฉันได้ฟังเทปของท่านอาจารย์แล้ว การเริ่มเข้าใจนิดๆ ทำให้ดิฉันรู้สึกว่า มีความรู้มากขึ้น อย่างเรื่องง่ายๆ ถ้าเราจะไปเยี่ยมใครตามโรงพยาบาล มาถึงจะเป็นลักษณะของจิตที่เป็นโทมนัส เป็นลักษณะของจิตที่เศร้าสร้อยมากเวลามาเยี่ยมใครตามโรงพยาบาล แล้วนี่ก็ฟังเทปของท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ก็บอกว่าจิตขณะนั้นเป็นอกุศล มันเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นอกุศลก็ต้องเป็นจิตที่ไม่ดี แต่พอมาฟังท่านอาจารย์แล้ว อาจารย์ก็บอกว่า อันนั้นเราต้องเชื่อเรื่องกรรมของเขา เป็นผลของกรรมของเขาที่เขาต้องเป็นอย่างนั้น แทนที่เราจะไปเศร้า ทำให้เป็นโทสะ ก็ควรจะเจริญกุศลเช่นช่วยเหลืออะไรเขาได้ตามที่สมควร จุดตรงนี้ นิดเดียว ทำให้ดิฉันเข้าใจว่า เมื่อมาฟังท่านอาจารย์แล้ว เล็กๆ น้อยๆ ทำให้เราเข้าใจเรื่องที่เราเข้าใจ ไม่รู้เลยว่า เข้าใจผิด คิดว่าดีแล้ว จะต้องโทมนัส บางคนไม่ได้สนิทเท่าไร แต่พอเห็นเขาเจ็บ จะต้องเศร้าไปกับเขา ถึงขณะนี้ญาติสนิทมิตรสหายที่เจ็บ เราก็พยายามเข้าใจว่า นั่นเป็นเรื่องกรรมของเขา ตรงนี้ทำให้ดิฉันมีจิตใจสบายขึ้น จะเรียนให้ทราบว่า ความเห็นส่วนตัวก็คือตรงนี้ ดีกว่าที่จะไปนั่ง  นั่งแล้วก็นึกคิดไปเอง ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ก็เบลอไป นึกคิดไปเรื่อย บางทีก็ไปคุยกับเทวดาต่างๆ ซึ่งทำให้หลงลืมสติได้  อันนี้ฝากตรงนี้ แค่นี้ 

    ขอเรียนถามคำถามนิดหนึ่ง ก็คือว่า ตามที่เข้าใจ เข้าใจจิตกับนามธรรม มีความหมายเหมือนกัน แต่พอมาฟังอีกทีบอกว่า พระนิพพานไม่ใช่จิต แต่เป็นนามธรรม ตรงนี้ ท่านอาจารย์กรุณาแยกแยะให้เห็นว่ามันต่างกันอย่างไรคะ จิตกับนามธรรม

    ส.   อันนี้มีในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป ถ้าใครอยากจะค้นคว้าก็ไปอ่านทบทวนอีกได้ แต่ขอให้ทราบว่า ปรมัตถธรรมมี ๔ จำนวน ๔ ไม่มากเลย แต่ต่อไปจะกว้างออก จะกว้างออก เป็นอายตนะ ๑๒ เป็นธาตุ ๑๘ เป็นปฏิจจสมุปบาท เป็นอริยสัจจะ เป็นธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎก แต่ไม่พ้นจาก จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    สำหรับนิพพานเป็นสภาพธรรมะอีกอย่างหนึ่ง  มีจริง แต่นิพพานปรมัตถ์ แต่ถ้าใช้คำว่าปรมัตถ์ ก็หมายความว่าเป็นสภาพธรรมต่างประเภทกัน เช่นจิตไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน มี ๔ อย่างจริง ที่เป็น ๔ เพราะต่างกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกันเลย จิตไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน เจตสิกไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน รูปไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน นิพพาน ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมะก็มีที่ต่างกันใหญ่ ๆ แยกได้หลายอย่าง ถ้าจะแยกโดยสภาพธรรมะที่เกิดกับไม่เกิด จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมะที่เกิด นิพพานไม่เกิด เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก รูป เป็นธรรมะที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารธรรม ธรรมะทั้งหลายที่จะเกิด ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยจะเกิดลอยๆ ขึ้นมาไม่ได้เลย คนที่ไม่รู้ก็ไม่รู้ ก็คิดว่าเกิดขึ้นมาเอง แต่คนที่รู้สามารถรู้ถึงเหตุปัจจัยทั้งขณะที่เป็นปัจจุบัน และอดีตเหตุปัจจัยด้วย รู้ลึกลงไปอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า  ต้องศึกษาจริง ๆ ให้ทราบว่า แม้ว่าจะได้ยินคำว่าจิต เจตสิก รูป นิพพาน ปรมัตถธรรม ๔ ก็ต้องแยกประเภทให้ถูกต้องว่า จิต เจตสิก รูป เป็นปรมัตถธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดแล้วก็ดับ ส่วนนิพพานตรงกันข้าม ไม่มีปัจจัย ไม่เกิด ไม่ดับ 

    เพราะฉะนั้น โดยศัพท์ก็จะต่างกัน คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขาร หรือเราจะใช้คำว่าสังขารธรรม ก็คงจะได้ เพื่อให้เข้าใจความต่างว่า ต่อไปจะมีคำว่าสังขาร หรือสัง ขา ระ อีกหลายความหมาย แต่ว่าความหมายที่กว้างที่สุดก็คือว่า สัง ขา ระ ในความหมายว่า เป็นธรรมะที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด

    เพราะฉะนั้น จิตเกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง จิตที่เกิดเพราะมีโลภะเกิดร่วมด้วย ก็อย่างหนึ่ง จิตที่เกิดเพราะมีโทสะเป็นเหตุทำให้เกิดขึ้นก็อีกอย่างหนึ่ง จิตเห็นก็เป็นสภาพธรรมะที่เป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตได้ยินก็เป็นธรรมะอีกประเภทหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าจิตทั้งหมดมี ๘๙ ชนิด หรือว่า ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภทโดยพิเศษ แต่จิตเป็นจิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป แล้วก็ไม่ใช่นิพพาน

    เพราะฉะนั้น นิพพานเป็นวิสังขารธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง วิ  ปราศจาก หรือว่าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เราแยกได้อย่างนี้ จิต เจตสิก รูปเป็นสังขารธรรม นิพพานเป็นวิสังขารธรรม หรือจะใช้คำว่า จิต เจตสิก รูป เป็นสังขตธรรม เป็นสภาพธรรมะที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดก็จริง แต่ที่เกิดปรุงแต่งแล้วจึงเกิด ขณะที่เกิดหมายความว่าปรุงแต่งแล้ว เป็นสังขตะ จึงเกิด แล้วก็ดับ ส่วนนิพพานเป็นอสังขตะ เพราะฉะนั้นนิพพานก็เป็นวิสังขาร และก็เป็นอสังขตะ

    แล้วในบรรดาของสังขารธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิด ก็แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ รูปเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่สามารถจะรู้อะไรเลย นั่นเป็นลักษณะของรูปธรรม ส่วนนามธรรมนั้นมี ๒ อย่าง คือ จิตและเจตสิก ไม่ใช่หมายความว่า นามธรรมเป็นจิต แต่จิตเป็นนามธรรม เจตสิกเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น นามธรรมที่เกิดมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก ซึ่งต้องเกิดพร้อมกันแล้วก็ดับพร้อมกัน


    หมายเลข 10086
    17 ก.ย. 2558