ทานกับจาคะ


    สุรีย์   คืออยากจะถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า  ทานกับจาคะ ต่างกันอย่างไร นี่คำถามที่  ๑ คำถามที่ ๒ คือทานกับทานบารมี ต่างกับทานกับจาคะอย่างไร

    ส.   ทุกคนก็คงให้ทานเป็นชีวิตประจำวัน แต่ก็ควรที่จะทราบด้วยว่า ขณะที่ให้ทานเป็นจาคะหรือเปล่า หมายความว่า เราสละความเป็นตัวตน หรือความเป็นเราบ้างไหม สละกิเลสอะไรบ้างหรือเปล่า หรือเพียงแต่ให้ เพราะว่าบางคนสะสมอุปนิสัยที่เป็น  ทานุปนิสัย ให้ได้ง่ายและก็เร็ว  เวลาที่เห็นคนที่มีสิ่งซึ่งเขาต้องการ คนนั้นก็สามารถที่จะสละให้ได้ แต่ว่าเขายังมีความเป็นตัวตน ความเป็นเรา หรือยังมีกิเลส เขาเคยพิจารณาไหม ผู้ที่ให้ทานว่ามีกิเลส เรายังมีกิเลสอยู่ แม้ว่าเราให้ทาน

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นจาคะ หรือกว่าจะเป็นบารมี ก็ให้ทราบว่า เริ่มจากการให้ทานอย่างที่ให้กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นชาติเชื้อใด ภาษาใด นับถือศาสนาใด มีความเห็นอย่างไร ก็มีการให้เป็นการสงเคราะห์ เป็นการอนุเคราะห์ เป็นการบูชา แล้วแต่ว่าในขณะนั้นให้โดยลักษณะใด แต่ว่าไม่ได้พิจารณาสภาพของจิต ไม่ใช่เป็นคนที่รู้ว่า เรายังมีกิเลสมาก

    นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าเพียงให้เท่านั้นไม่ได้ขัดเกลากิเลสอะไรเลย แต่เวลาที่เรามีความรู้สึกตัวว่า เรามีกิเลสมาก แล้วถ้ายังมีกิเลสมากๆ อยู่อย่างนี้ แล้วจะดับกิเลสได้อย่างไร โดยมากไม่ค่อยจะคิดถึงเรื่องของการละหรือว่าการดับกิเลส แต่คิดถึงเพียงแต่ว่าจะได้อะไรจากการให้ ซึ่งบางคนก็หวังว่าจะเกิดในสวรรค์ จะได้เป็นเศรษฐี จะได้มีทรัพย์สมบัติมากมาย จะได้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็แล้วแต่ความหวังทั้งหลาย ซึ่งคิดว่า กุศลนั้นๆ เป็นเหตุที่จะนำมาให้ แต่ไม่ได้เคยคิดเรื่องของตัวเองซึ่งมีกิเลสมาก แล้วทำอย่างไรจึงจะค่อยๆ ละกิเลสลงไป

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนที่ละเอียด แล้วรู้ว่าการให้ เราจะให้ในลักษณะไหน ถ้าให้โดยไม่รู้ตัวว่ามีกิเลสมาก การให้ของเราส่วนใหญ่จะเป็นการหวัง เพราะบางคนหวังจริงๆ สังฆทานมีผลมาก หรือถ้าถวายสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วก็จะได้ผลมาก คิดแต่เรื่องได้ แต่ไม่ได้คิดถึงสภาพจิตในขณะที่ให้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนที่ให้โดยที่ไม่ได้หวังสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะมีปัญญารู้ว่า ได้มาก็คือไปติด ได้อะไรมาก็คือติดอีก สละออกไปนิดเดียว แค่นิดเดียว แต่ไปติดในผลตั้งมากมาย

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา แล้วเห็นโทษ แล้วรู้ว่า กิเลสเป็นสิ่งที่ควรละ เพราะฉะนั้น เวลาที่ให้ จิตของเขาจะละเอียดขึ้น แล้วก็จะรู้ว่า ให้จริงๆ  เป็นการให้โดยที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แล้วขณะนั้นก็อาจจะไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตว่า จิตขณะนั้นมีความผ่องใสมากน้อยหรือเปล่า แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และถ้ามีปัญญามากกว่านั้นอีก ก็รู้ว่าให้เพื่อละ เพื่อประโยชน์ของคนอื่นเท่านั้นจริงๆ ไม่ได้หวังสิ่งใดเป็นการตอบแทน นั่นคือ จาคะ แต่ที่เป็นบารมี เพราะเหตุว่ารู้ว่า การที่จะดับกิเลสแสนยาก ทุกคนมีกิเลสมากมายโดยที่ไม่รู้ตัว บางคนก็บอกว่ามีกิเลสไม่มาก เหมือนกับว่า ไม่เห็นกิเลสของตัวเอง แต่เห็นกิเลสของคนอื่นแม้เล็กน้อย แม้เล็กน้อยแต่ว่าเป็นกิเลสของคนอื่นก็เห็น แต่บางคนก็ยิ่งกว่านั้นอีก คือทั้งๆ ที่คนอื่นจิตเป็นกุศล แต่กลับมีอกุศลจิตที่ไปเห็นกุศลของคนอื่นเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น เรื่องของกิเลสมากมายมหาศาล เป็นเรื่องที่แต่ละคนก็จะต้องมีปัญญาของตัวเองที่จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แล้วก็รู้ว่ากว่าจะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะรู้สภาพธรรมะ แล้วสามารถที่จะละคลายจนกระทั่งดับกิเลสได้ นานมาก

    เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นที่มีปัญญาที่รู้ว่า การกระทำกุศลทั้งหมดก็เพื่อที่จะให้ สามารถที่จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน เป็นเรื่องสละทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของเนกขัมมะ เรื่องของปัญญา เรื่องของเมตตา ทุกอย่างเป็นเรื่องสละหมด บารมีต้องเป็นเรื่องสละอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น สละโดยบารมีใด

    นิภัทร  ในทศพิธราชธรรม มีทั้งทาน มีทั้งบริจาค ทานัง สีลํ ปริจาคํ อาชชวํ มัททวํ ตปํ อกฺโกธ อวิหิงสา ขันติ  อวิโรธนํ  ๑๐ อย่าง ทศพิธราชธรรม มีทาน ศีล มีบริจาคด้วย อันนี้แยกกันอย่างไร ไม่ทราบ

    ส.   นี่เป็นความวิจิตรการเทศนาของพระผู้มีพระภาค ซึ่งแสดงโดยนัยยะต่างๆ ที่จะให้ผู้ฟังเห็นความละเอียดที่จะได้ละ แม้ว่าเรื่องของทาน ก็มีเรื่องของจาคะด้วย แต่ถ้าเป็นเรื่องบารมีล้วนๆ ก็เป็นเรื่องของจาคะทั้งหมดโดยตลอด ทั้ง ๑๐ แต่ว่าจาคะ สละโดยให้ทาน หรือว่าโดยวิรัติทุจริต หรือว่าโดยสัจจะ โดยอธิฐาน

    สุรีย์   เพราะฉะนั้น การทำทาน คือฟังวิทยุเกือบทุกสถานีจะมีคนถามว่า ทำอย่างนั้น ๆ ได้บุญไหมคะ วิทยากรก็ตอบว่า อย่างนั้นจะได้บุญ อย่างนี้จะได้บุญ วิทยากรส่วนมากจะไม่พูดเรื่องลักษณะจิตเลย เพราะฉะนั้น ก็อยากจะพูดอึกครั้งหนึ่งว่า ในการให้ทาน ในขณะซึ่งให้ทาน ลักษณะจิตไม่เป็นกุศลแล้ว ไม่ใช่ทาน ขอบพระคุณค่ะ

    ส.   เรื่องบุญหรือทานนี้ก็น่าคิด คือ ถ้าทราบว่าบุญ คือ ความดี จะทำไหมคะ เพราะเหตุว่าคิดถึงแต่เรื่องทาน คิดว่าให้แล้วจะได้ก็ให้กัน แต่ถ้าทราบว่าบุญ คือ คุณความดี จะทำไหมความดี ทุกอย่างที่เป็นบุญ เป็นความดีทั้งหมด แม้แต่ทานการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น ก็เป็นความดีชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราคิดถึงเรื่องความดี มีความดีอีกหลายอย่าง ซึ่งถ้าพิจารณาโดยละเอียด จะทำไหม หรือไม่เอา แค่ทานพอ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ยังมีกิเลสอีกมากมายกว่าที่จะค่อยๆ ขัดเกลาออกไปได้ เพราะว่าติดมากเหลือเกิน ในการที่สละได้เพียงแค่ทาน แต่ว่าความดีอื่นทำไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด

    อดิศักดิ์   ศีล ๕ เป็นทานอย่างยิ่ง เพราะว่าในวิทยุ อาจารย์ก็เพิ่งพูด แล้วมีข้อหนึ่งที่น่าสนใจ ถ้าใครสามารถให้ ไม่หวังเพื่อความสนิทสนม ถ้าหวังความสนิทสนมก็เป็นอกุศลแล้ว อันนี้ละเอียดมากเลยที่พุทธองค์แสดงไว้ ในเทปอาจารย์ก็มี ให้เพื่อหวังจะรู้จักกัน เพื่อสนิทสนมกัน หวังเท่านั้น นั่นเป็นอกุศลแล้ว

    สมพร  ทานมีหลายอย่างที่เราพูดกัน เช่น ทาสทาน สหายทาน สามีทาน ทาน ๓ ระดับ ทาสทาน ถ้าเราให้ของที่เลว ที่เราไม่ใช้แล้ว ก็เป็นทาน อย่างนี้เรียกว่าทาสทาน ต่ำที่สุด ถ้าเราใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ เราก็ให้สิ่งนั้น เรียกว่า สหายทาน เสมอๆ กับที่เราใช้ เราให้ของที่ประณีต เช่นเราถวายสงฆ์เป็นต้น ที่ดีมาก เรียกว่า สามีทาน เป็นเจ้าของทานโดยตรง แล้วทานที่พูดกันเมื่อครู่นี้ ก็เข้าใจกันดีแล้ว เช่น คำว่าทานที่อาจารย์บอกว่า เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ จาคะเป็นบารมี ต้องประกอบด้วยปัญญา คราวนี้ก็มีอีกอันหนึ่งที่อาจารย์นิภัทรว่า  ทานํ สีลํ ปริจาคํ มีทั้งทาน มีทั้งบริจาค มันอะไรกันแน่ นักศึกษาต้องเข้าใจ ทานก็คือการให้วัตถุในที่นั้น ทั้งหมดมี ๑๐ อย่าง


    หมายเลข 10088
    17 ก.ย. 2558