เพื่อเขาหรือเพื่อเรา


    ประทีป   กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ผมต้องทำอย่างไรครับ ตรงไหนในขณะที่ให้ทาน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรครับในขณะนั้น  เราทำโดยไม่หวังผล

    ส.   จะทำหรือคะ หรือว่าจะเข้าใจให้ถูกต้อง

    ประทีป   จากการศึกษา จากการสนทนากัน จากการฟังพระธรรมและจากการอ่าน เรารู้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นประโยชน์ ถ้าเราไม่ทำ เราจะทำอย่างไรครับ

    อกิศักดิ์   เข้าใจ

    ส.   จะไม่เห็นได้ไหมคะ

    ประทีป   จะไม่เห็น ไม่ได้ครับ

    ส.   จะไม่ได้ยินได้ไหม

    ประทีป   ไม่ได้

    ส.   ถ้ากุศลจิตจะเกิด จะไม่ให้เกิดได้ไหม

    ประทีป   ไม่ได้

    ส.   ถ้าอกุศลจิตจะเกิด จะไม่ให้เกิดได้ไหม นี่คือความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าเราไปทำ ไม่มีใครทำ ขณะนี้สภาพธรรมะเกิดตามเหตุตามปัจจัย  ไม่ใช่ว่าเมื่อฟังแล้วก็จะมีแต่กุศลตลอด หรือว่าจะพยายามไปทำกุศล ขณะนั้นไม่ได้เข้าใจความจริง ก็ยังมีความเป็นเราอยู่

    เพราะฉะนั้น กุศลทั้งหลายก็เจริญไม่ได้ เพราะมีความเป็นเรา แล้วมีการทำทุกอย่างด้วยโลภะ คือ ด้วยความต้องการสำหรับเรา

    เพราะฉะนั้น ที่จะเป็นกุศลยิ่งขึ้นก็คือมีความเข้าใจในสภาพธรรมะว่า เป็นสภาพธรรมะยิ่งขึ้น และเมื่อมีความเข้าใจถูกต้องก็ต้องเห็นอกุศลเป็นอกุศล และกุศลเป็นกุศล เมื่อกุศลเกิด หรืออกุศลเกิด ไม่ใช่มีเราอยากจะทำ หรือเราไปทำอีกเพื่อหวัง เพราะเหตุว่าโลภะละเอียดมาก  แล้วก็ยากเหลือเกินที่ใครจะละโลภะโดยไม่รู้จักโลภะเลย  แต่ต้องค่อยๆ รู้จักโลภะเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    ประทีป   คือผมฟังท่านอาจารย์แล้วก็พอจะเข้าใจบ้างเล็กน้อย ทีนี้จากการศึกษาเรารู้ว่า สิ่งนี้ดี ตามความเป็นจริงแล้วขณะที่ให้ทานจะเป็นอย่างไร ในขณะนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ในขณะที่ให้ทาน ในขณะที่เป็นจาคะ ในขณะที่กำลังมีอะไรเป็นอารมณ์ ครับท่านอาจารย์

    ส.   ถ้าไม่มีรู้ คุณประทีปให้เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น รู้ไหมคะ หรือว่าเพราะต้องการอะไรจึงให้ ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์เขา  หรือบางคนบอกคนก็บอกว่า ถ้าเขาไม่รับเราก็ไม่ได้กุศล กลายเป็นอย่างนั้นไปอีก เพราะฉะนั้นก็ควรจะพิจารณาจริงๆ ขณะที่ให้ ให้เพื่อประโยชน์ของคนนั้นหรือเปล่า นี่การที่จะรู้สภาพของจิตได้

    ประทีป   ก็ต้องเป็นในขณะที่กำลังให้ในขณะจิตนั้น

    ส.   เวลาให้ต่อไปนี้ก็ดูว่าเวลาให้ ให้เพื่อประโยชน์ของคนนั้นหรือเปล่า หรือให้เพื่อหวังอะไรหรือเปล่า

    ประทีป   หมายความว่าในขณะใดที่ให้ทานแล้วจิตผ่องใส หรือว่าในขณะที่ศึกษาพระธรรม หรือว่าในขณะที่กำลังประพฤติปฏิบัติธรรม จะต้อง…

    ส.   ทำไมใช้คำว่าประพฤติปฏิบัติคะ

    ประทีป   หมายความว่าที่กำลัง

    ส.   เวลานี้กำลังประพฤติปฏิบัติธรรมะหรือเปล่า

    ประทีป   ครับ กำลัง ทีนี้ท่านอาจารย์มักจะพูดว่า  ในขณะใดที่จิตผ่องใส ในขณะใดที่ไม่หนัก ในขณะใดที่สบาย ความหมายอันนั้นท่านอาจารย์หมายถึงในขณะที่ผ่องใส หมายถึงเป็นจิตที่เป็นกุศลจิต ใช่ไหมครับ

    ส.   ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีการที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เกิดดับเร็วมากแล้วสลับกัน อย่างในขณะนี้ที่เห็น มีทั้งวิบาก มีทั้งกิริยาจิต มีทั้งกุศลจิต หรืออกุศลจิต เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมะ ก็เพียงแต่นึกว่า ขณะนั้นเป็นกุศล หรือว่าขณะนี้เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ทางที่ดี ถ้าคุณประทีปจะเจริญกุศล ก็คือว่า กุศลเป็นกุศล เวลาที่ให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น คิดจริงๆ ว่าเพื่อเขาหรือเปล่า หรือว่าเพื่อเราจะได้กุศล อยากจะได้กุศล อยากจะให้เป็นกุศล อยากจะให้เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา หรือว่าให้เพื่อประโยชน์แก่คนรับจริงๆ เท่านั้น ไม่ได้ห่วงกังวลถึงตัวเองเลย ในขณะใดที่ไม่ได้คิดถึงตัวเอง ไม่ห่วงตัวเอง เป็นการให้เพื่อบุคคลนั้นจริงๆ นั่นคือกุศลจิตจริงๆ ไม่หวังสิ่งใดเป็นการตอบแทนทั้งสิ้น

    ประทีป   ฟังแล้วก็มาถึงจุดที่ต้องเข้าใจว่า ในขณะใดที่สติไม่เกิด ก็จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นสภาพจิตเป็นอย่างไร

    ส.   ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดไม่รู้ลักษณะของจิต แต่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะที่ให้ ให้อย่างไร ให้โดยหวังตอบแทน หรือไม่หวังตอบแทน ต้องรู้อย่างนี้ก่อนที่จะไปรู้ลักษณะของจิต การที่จะไปมีสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ ต้องมีเหตุปัจจัย คือความรู้ความเข้าใจธรรมะ แล้วก็ไม่หวังรอว่า เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด ถ้าหวังรอก็ไม่เกิด ทุกอย่าง หวังรอ คือโลภะ เครื่องกั้น เครื่องเนิ่นช้าทั้งหมด

    ประทีป   ศึกษาพระธรรมเข้าใจว่า พระธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ แสดงเพื่อไม่ให้เราเกิดทั้งโลภะและโทสะ รวมกระทั่งถึงโมหะด้วย ก็มาถึงจุดสำคัญที่ว่าในขณะที่กำลังทำทานหรือให้ทานนั้น จะต้องมีสภาพธรรมะสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เรารู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ใช่ไหมครับท่านอาจารย์ ถึงจุดๆ นี้

    ส.   ให้ใครรู้คะ

    ประทีป   ให้ตัวเองรู้

    ส.   ถ้าตัวเองไม่มีปัญญาที่พร้อมจะรู้ก็รู้ไม่ได้

    ประทีป   อย่างน้อยที่สุดก็ให้รู้จักตัวเองว่า เรายังไม่รู้ สติยังไม่เกิด ใช่ไหมครับ

    ส.   ขณะใดหลงลืมสติก็หลงลืมสติ ขณะใดที่สติเกิดก็สติเกิด เป็นขณะที่ต่างกัน

    ประทีป   ครับ การศึกษาพระธรรมหรือการฟังพระธรรมเพื่อให้รู้จักตัวเองดีมากพอสมควรว่า

    ส.   ค่อยๆ รู้ทีละเล็กทีละน้อยตามลำดับ เวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิดก็รู้ขณะอื่นได้ ที่ไม่จำเป็นต้องไปรู้ลักษณะของจิต หรือเจตสิก หรือรูป

    ประทีป   ต้องรู้จักตัวเองว่า

    ส.   เพียงแต่ว่าเวลาที่คุณประทีปให้ คุณประทีปหวังอะไรหรือเปล่า คนอื่นรู้ ไม่ได้ นอกจากคุณประทีปเอง

    ประทีป   เราก็ต้องรู้จักตัวเองดีพอสมควรครับ ก็มาถึงจุดๆ นี้ก็ทำให้ผมคิดมาว่า ก่อนอื่นเราน่าจะรู้จักตัวเราเองดีพอสมควรหรือยังว่า เราเริ่มค่อยๆ เข้าใจพระธรรม เพียงพอหรือยัง แล้วที่สติไม่เกิด เพราะว่าความเข้าใจในขั้นการฟังของเรายังไม่เพียงพอ ก็ทำให้ผมจะได้ศึกษามากขึ้น


    หมายเลข 10090
    17 ก.ย. 2558