อารมณ์ของพระนิพพาน


    ผู้ถาม  กราบเรียนอาจารย์สุจินต์ ผมขอทราบว่าอารมณ์ของพระนิพพานนั้นเป็นบัญญัติอารมณ์ได้หรือไม่ ข้อ ๑ อันที่ ๒ อารมณ์ของพระนิพพานนั้นเป็นอารมณ์ภายในหรือภายนอก อย่างไรครับ

    ส.   ปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ เพราะฉะนั้น นิพพานเป็นบัญญัติไม่ได้ ถ้าพูดถึงอารมณ์ ไม่ทราบอารมณ์ภายใน อารมณ์ภายนอกจะหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ถาม  อารมณ์ภายนอก ยกตัวอย่างที่ผมฟังเทปของอาจารย์เมื่อกี้นี้ครับว่า อาจารย์ได้พูดถึงเถรีกถาว่า เมื่อท่านกำลังต้มน้ำผักดอง แล้วน้ำผักดองนั้นมันแห้ง ก็ได้บรรลุธรรมถึงขั้นพระอนาคามี ทีนี้น้ำผักดองที่ว่า  ที่ยก อาจจะมีตัวอย่างอื่น มันเป็น อารมณ์ที่อยู่ มันเป็นอารมณ์ภายนอก  ตัวอารมณ์ภายนอกนี้จะมาระลึกรู้สึกตัว มีสติ ทำให้เกิดมีปัญญาได้อย่างไร

    ส.   ก่อนที่จะกล่าวถึงว่า พระนิพพานเป็นอารมณ์ภายในหรือภายนอก  ขอเชิญอาจารย์สมพรช่วยให้ความหมายอารมณ์ภายในภายนอก

    สมพร  ก่อนอื่นที่จะกล่าวถึงว่า อารมณ์ เราก็กล่าวถึงปรมัตถธรรม ๔ ก่อนว่า อันไหนเป็นผู้รู้อารมณ์ อันไหนเป็นอารมณ์ อารมณ์ทั้งหมดก็มี ๔ อย่าง คือ รูปเป็นอารมณ์ จิตเป็นอารมณ์ เจตสิกเป็นอารมณ์ นิพพานเป็นอารมณ์ ผู้รู้อารมณ์นั้น ก็คือ จิตกับเจตสิก เท่านั้น ผู้รู้อารมณ์ นิพพาน อารมณ์ของนิพพานไม่มี เพราะว่านิพพานเป็นอารมณ์ของจิต  ทีนี้จิตมีอารมณ์ได้ทั้งภายในและภายนอก ที่ถามว่า พระนิพพานนั้นเป็นอารมณ์ภายในหรือภายนอก นิพพานไม่ได้อยู่ในภายใน เป็นของภายนอก เพราะว่าพระนิพพานไม่เกิดขึ้นและไม่ดับ เมื่อจิตเจริญขึ้นจนกระทั่งถึงมรรคจิตแล้ว นิพพานก็ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น นิพพานซึ่งปรากฏเป็นอารมณ์นั้น จัดว่าเป็นพหิทธารมณ์  คืออารมณ์ภายนอก ไม่ใช่ภายใน และไม่ได้อยู่ในบุคคลทุกคน ถ้ามีอยู่ในบุคคลทุกคนแล้ว ปุถุชนก็มีอารมณ์พระนิพพานได้

    ส.   ไม่ทราบผู้ฟังที่นี่ มีความเข้าใจพอสมควรที่จะฟังเรื่องนี้หรือเปล่า แต่คิดว่าถ้ามีผู้ที่สนใจก็พอที่จะสนทนากันต่อได้ในเรื่องนี้ เพราะเหตุว่าแม้แต่เรื่องความสงบของจิตก็ไม่ใช่เพียงเรื่องของการที่เราจะทำสมาธิ แล้วคิดว่าจิตสงบ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องของการอบรมเจริญภาวนาจริงๆ ต้องเป็นเรื่องของปัญญาระดับที่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ แต่ว่าถ้าเรายังไม่มีความรู้หรือว่ายังไม่มีการที่จะเห็นโทษของอกุศลถึงขั้นนั้น การกล่าวถึงเรื่องของสมถภาวนา หรือเรื่องของพระนิพพานซึ่งอยู่ไกล ก็เป็นเรื่องที่ยากที่จะเข้าใจได้ แต่ว่าถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อยก็ได้ อย่างอุปสมานุสสติ เป็นอารมณ์หนึ่งในอนุสติ ๑๐ นี้ก็ต้องสาวไปตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่อยากที่จะให้มีการจับกลางๆ ครึ่งๆ ของอันโน้นอันนี้ เพราะว่าผู้ฟังที่นี่ก็คงจะมีทั้งใหม่และเก่า แล้วก็อาจฟังวิทยุมาบ้างมาก แต่ว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอนุสติ ที่ไหน  แล้วเราก็จะพูดถึงความละเอียดของอนุสติที่นั่นก็ได้

    สมพร  พูดเรื่องอุปสมานุสสติ  เราก็พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อุปสมานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงคุณพระนิพพาน แต่แท้จริงมันอย่างนี้ อุปสมานุสสติ ระลึกถึงความสงบ ความสงบอื่นยิ่งกว่าพระนิพพานไม่มี ความสงบอันนั้นของปุถุชน คิดเอา คิดถึงความสงบไม่ประสบพระนิพพานจริงๆ เมื่อไรบรรลุมรรค เมื่อนั้นจึงมีนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะที่เราระลึกถึงในอนุสติ ๑๐ ในข้อ ๑ ที่บอกว่า อุปสมานุสสติ นั้นแปลว่าความสงบ คือสงบอย่างยิ่ง  แล้วก็การสงบอย่างยิ่งนั้น นอกจากนิพพานไม่มี เพราะฉะนั้น การระลึกอันนั้นท่านก็เลยบอกว่า ระลึกถึงคุณของพระนิพพาน พระนิพพานยังไม่ปรากฏ

    นิภัทร     อาจารย์สมพรครับ ทุกๆ คนยังไม่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ หรือยังไม่รู้ว่าลักษณะของพระนิพพานตามที่ปรากฏจริงๆ ไม่รู้ ก็รู้แต่เรื่องราวของพระนิพพาน ชื่อพระนิพพาน แต่ว่าในอนุสติ ๑๐ ท่านจัดเป็น ๑ ใน ๑๐ ท่านจัดไว้สำหรับบุคคลอย่างเราหรือเปล่า พวกเราที่สนใจในการเจริญกรรมฐานอะไรอย่างนี้

    สมพร  สำหรับเป็นเครื่องระลึกเตือนให้รู้ว่า ทุกวันนี้เราไม่สงบ แม้บางอย่างก็สงบ แต่ว่าการที่จะสงบยิ่งกว่าพระนิพพานไม่มี ก็เลยใช้คำว่า อุปสมานุสสติ ให้หมั่นระลึกแล้ว ก็จะศึกษา เมื่อศึกษาแล้ว ก็จะปฏิบัติ ดำเนินทางไปหาความสงบอย่างยิ่ง คือพระนิพพาน

    นิภัทร     หมายความเป็นอารมณ์ เป็นเครื่องเตือน เตือนให้เรา เพื่อที่จะให้เราระลึกศึกษาต่อไป เบื้องแรกคงจะเป็นแค่จำชื่อ หรือว่าความหมายของคำว่า อุปสมานุสสติ ระลึกถึงความสงบ คือ พระนิพพาน แต่ว่าที่จะรู้จริงๆ ก็จะต้องศึกษาต่อไปอย่างนั้นหรือเปล่า

    ส.   ขอความกรุณาอาจารย์ ให้คำแปลโดยตรงของคำว่า อุปสมานุสสติ

    สมพร  อุปสมานุสสติ ก็คือ อุป กับ สมะ คือสงบ เข้าไปสงบระงับสังขารทั้งปวง ก็คือพระนิพพานนั่นเอง แต่ว่ายังเป็นชื่ออยู่ ยังเป็นบัญญัติอยู่ เป็นของมีอยู่จริง แต่ว่าเราใช้ชื่อ เราเรียกชื่อ เพราะฉะนั้น ในข้อนี้ก็เลยอยู่ในอนุสติ ๑๐ ซึ่งเป็นสมถะ


    หมายเลข 10087
    17 ก.ย. 2558