บุคคลผู้มีปัญญาแก่กล้า ก็จักบรรลุคุณวิเศษได้ [สติปัฏฐานสูตร]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ก.ย. 2551
หมายเลข  9828
อ่าน  2,100

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 629

ข้อความบางตอนจาก ..

สติปัฏฐานสูตร

[๑๕๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้อย่างนี้ตลอด ๗ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีขันธปัญจกเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๗ ปี ยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี . . . ๑ ปี ยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างนี้ตลอด ๗ เดือน เขาพึงหวังผล๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่ออุปาที (สังโยชน์) มีเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๗ เดือน ยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๖ เดือน ๕ เดือน๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน กึ่งเดือน. . . กึ่งเดือนยกไว้ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๗ วัน เขาพึงหวัง ผล ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่ออุปาทิ (คือสังโยชน์) ยังเหลืออยู่เป็นพระอนาคามี

ฯลฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงความที่ศาสนธรรมเป็นเครื่องนำออกด้วยอำนาจ (ระยะเวลา) ๗ ปี อย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นเข้าไปอีก จึงตรัสคำว่า ติฏฺฐนฺตุ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น และธรรมทั้งหมดนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ด้วยอำนาจเวไนยบุคคลผู้ (มีสติปัญญา) ปานกลางเท่านั้น. ฝ่ายพระโบราณาจารย์หมายเอาบุคคลผู้มีปัญญาแก่กล้า จึงกล่าวไว้ว่า บุคคลผู้มีปัญญาแก่กล้า ได้รับคำสอนในตอนเช้า ก็จักบรรลุคุณวิเศษได้ในตอนเย็น ได้รับคำสอนใน ตอนเย็น ก็จักบรรลุคุณวิเศษได้ในตอนเช้า


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 16 ก.ย. 2551

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้อย่างนี้ตลอด ๗ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีขันธปัญจกเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี

ขอเรียนถามท่านอาจารย์วิทยากรคำว่า ขันธปัญจก หมายความว่า

อย่างไรค่ะ ขอขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 28 ก.ย. 2551

เมื่อเทียบกับพระไตรปิฏก ฉบับภาษาบาลี และ ฉบับสยามรัฐแล้ว ผมเข้าใจว่าข้อความที่ถูกควรจะเป็น เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือ เมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี (อุปาทิเสเส อนาคามิตา) ผิดถูกอย่างไรขอวิทยากรโปรดให้ความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prachern.s
วันที่ 29 ก.ย. 2551

ตอบความเห็นที่ ๑ คำว่า ขันธปัญจก หมายถึงขันธ์ห้า

ผู้ที่บรรลุเป็นพระอนาคามีเมื่อจุติจากชาตินี้ยังต้องเกิดอีก อาจจะเกิดในรูปพรหม หรืออรูปพรหมตามสมควรแก่ฌานที่ท่านได้ การเกิดขึ้นในพรหมภูมิอีก ชื่อว่า ยังมีขันธปัญจกะ คือขันธ์ ๕ เกิดอีกตามสมควร

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 29 ก.ย. 2551

ผู้ที่บรรลุถึงความเป็นพระอนาคามี เมื่อจุติจากชาตินี้ไปแล้ว จะไม่กลับมาเกิดใน-กามโลกอีก (อนาคามีบุคคล หมายถึง ผู้ไม่กลับมาสู่กามโลกอีก เพราะดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และดับโทสะ ได้อย่างเด็ดขาด) แต่จะไปเกิดเป็นพรหมบุคคล จึงกล่าวได้ว่า ขันธปัญจกะ (ขันธ์ ๕) ยังเป็นไปอยู่อย่างไม่ขาดสาย จนกว่าจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วดับขันธปรินิพพาน ขันธ์ ๕ จึงจะไม่เกิดขึ้น-เป็นไปอีก ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
suwit02
วันที่ 30 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 3 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาและขอบพระคุณท่านอาจารย์prachern.s และ คุณkhampan.a ค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 16 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ