วิปัสสนาญาณ
วิ (วิเศษ แจ้ง ต่าง) + ปสฺสนา (การเห็น) + ญาณ (ความรู้ ปัญญา)
ปัญญาที่เห็นแจ้ง ปัญญาที่เห็นอย่างวิเศษ ปัญญาที่เห็นโดยประการต่างๆ หมายถึง ความสมบรูณ์ของปัญญา ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการอบรมสติปัฏฐาน ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่เกิดกับมหากุศลจิตญาณสัมปยุตต์ ที่เห็นแจ้งสภาพธรรมโดยประการต่างๆ คือ เห็นแจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยความเป็นอนัตตา เห็นแจ้งความเกิดดับของนามธรรมรูปธรรม เห็นนามธรรมรูปธรรมโดยความเป็นภัย เห็นโดยความเป็นโทษ เห็นโดยความเป็นผู้ใคร่ที่จะพ้นจากสังขาร ฯลฯ
วิปัสสนาญาณมี ๑๖ ขั้น คือ
๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความแยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม ที่ละอารมณ์โดยสภาพความเป็นอนัตตา
๒. ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความเป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม คือ รู้ชัดว่านามรูปแต่ละอย่างมีปัจจัยเป็นเหตุให้เกิด
๓. สัมมสนญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งการเกิดดับสืบต่อของนามธรรมรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นโทษของการเกิดดับได้ไม่ชัดเจน
๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งการเกิดดับของนามธรรมรูปธรรมอย่างละเอียด เป็นวิปัสสนาที่มีกำลัง เห็นโทษของการเกิดดับของสภาพธรรมได้ยิ่งขึ้น
๕. ภังคานุปัสสนาญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความดับทำลายของนามรูป โดยไม่ใฝ่ใจถึงการเกิด
๖. ภยตุปัฎฐานญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งนามรูป โดยเห็นความเป็นภัยในสังขารทั้งหลาย
๗. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งรูป โดยเห็นความเป็นโทษในสังขารทั้งหลาย
๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งนามรูปโดยเห็นทุกข์โทษภัย จนเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารธรรมทั้งปวง
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งนามรูปโดยความที่ใคร่จะพ้นจากสังขารธรรมทั้งปวง
๑๐. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะทั้ง ๓ ของนามรูป เป็นเหตุที่จะเปลื้องตนให้พ้นจากสังขารธรรม
๑๑. สังขารุเบกขาญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะทั้ง ๓ ของนามรูปที่คมกล้ายิ่งขึ้น จนเกิดความมัธยัสถ์ วางเฉยในสังขารธรรมทั้งปวง
๑๒. อนุโลมญาณ ปัญญาในอนุโลมชวนะ ๓ ขณะในมัคควิถี (บริกรรม อุปจาร อนุโลม) คล้อยตามเพื่อการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน
๑๓. โคตรภูญาณ ปัญญาในโคตรภูชวนะ กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ ข่มเสียซึ่งโคตรปุถุชนเพื่อถึงอริยโคตร เป็นอาวัชชนแก่มรรคญาณ
๑๔. มรรคญาณ ปัญญาในมัคคจิตซึ่งเป็นโลกุตระ สำเร็จกิจทำลายกิเลส ดับวัฏฏทุกข์ ปิดประตูอบาย ๔ เป็นขณะที่ถึงพร้อมด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
๑๕. ผลญาณ ปัญญาในผลจิตที่เกิดต่อกัน ๒ – ๓ ขณะ เสวยวิมุตติสุขอันปราศจากกิเลสซึ่งอริยมัคค์ประหารแล้ว
๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาในปัจจเวกขณวิถีอันเป็นโลกียะพิจารณา มรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่เหลืออยู่รวม ๕ วาระ สำหรับพระอรหันต์ไม่มีกิเลสที่เหลืออยู่ให้พิจารณา จึงมีปัจจเวกขณวิถีเพียง ๔ วาระ ปัจจเวกขณวิถีของพระอริยบุคคลทั้งหมดจึงมี ๑๙ วาระ