วิปัสสนาคืออะไร ๑


    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความมั่นคงในการเข้าใจธรรม เราจะรู้เลยว่า ปัญญาคือความเข้าใจ แล้วเราจะไม่ทำอย่างอื่นทั้งหมด เพราะเหตุว่ายังไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี จะไปทำอะไรล่ะคะที่จะให้เข้าใจ จะไปทำอย่างไรก็ไม่เข้าใจ

    พระ   ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่ต้องเรียนวิปัสสนาเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์    คนที่พูดว่า เรียนวิปัสสนาหรือทำวิปัสสนา ไม่ได้เข้าใจว่า วิปัสสนาคืออะไร

    พระ   ตามที่อาตมาเข้าใจ ก็คือการมีสติคอยตามดูการเคลื่อนไหวของจิต คือ วิปัสสนา

    ท่านอาจารย์    ไม่ใช่เจ้าค่ะ วิปัสสนาคือปัญญาที่สามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้  แต่ถ้าลืมว่า ถ้าใช้คำว่า “ปัญญา” หมายความถึงความเข้าใจ เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่กำลังเห็น เข้าใจลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรม  ที่เป็นจิตที่กำลังเห็นหรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจ จะไปทำอย่างอื่นอย่างไร ก็ไม่ได้ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นภาวนาคือการอบรมให้เกิดขึ้น ให้มีขึ้น ให้เจริญขึ้น ให้เพิ่มขึ้น เพราะ “ภว” คือ การเกิด หรือการมี ถ้าเราพูดว่า เรามีปัญญาแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไร หรือบอกว่า จะใช้ปัญญา เราก็ไม่ต้องทำอะไรอีก เพราะเรามีปัญญาจะใช้แล้ว แต่ถ้าเราเข้าใจว่า ปัญญายังไม่มี ต้องอบรมเจริญให้เกิดขึ้น อันนี้จะถูกหรือจะผิด

    พระ   วิธีการของอาจารย์ คล้ายๆกับว่า ให้เรียนมาก ฟังมาก แล้วจะเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์    เพราะปัญญาคือความเข้าใจ ถ้าทิ้งความหมายอันนี้เสียแล้วจะผิดหมด

    พระ   นั่นก็แสดงว่าจะต้องไม่ใช่ปัญญาธรรมดา

    ท่านอาจารย์    ใช้ปัญญาไม่ได้เลย เพราะว่าไม่มีปัญญา ต้องเจริญให้เกิดขึ้น ให้มีขึ้นก่อน

    พระ   แล้ววิธีที่จะเจริญขึ้น ปัญญาในความรู้สึกของอาจารย์ มันคืออย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์    ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ เข้าใจหรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจ ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น

    พระ   แล้วจะให้เข้าใจอย่างไร เพราะอย่างที่อาจารย์พูดมาเข้าใจหมดแล้ว

    ท่านอาจารย์    ถ้าคิดเองนี่ไม่เข้าใจ ต้องฟังพระธรรม

    พระ   อาจารย์จี้ลงไปเลยว่า ต้องเข้าใจในลักษณะอย่างนี้นะ

    ท่านอาจารย์    ไม่ใช่ต้องเจ้าค่ะ นี่คือความเข้าใจผิดว่าไปบังคับ ไปทำ แต่จริงๆแล้ว ภาวนา คือ จิรกาลภาวนา จีร แปลว่า ยาว นาน กาล แปลว่า เวลา ถ้าเราจะปลูกต้นไม้สักต้นหนึ่ง  ต่อให้เป็นต้นไม้ที่ขึ้นยากเย็นสักเท่าไร ก็ยังง่ายกว่าการอบรมเจริญปัญญาให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ใช่เป็นการที่เพียงฟัง ซึ่งการฟังเป็นขั้นต้นจริงๆ อย่างที่พระคุณเจ้ากล่าวว่า เข้าใจจากการฟัง แต่พระธรรมมี ๓ ระดับ ปริยัติศาสนา คำสอนเรื่องสภาพธรรม เราไม่เคยรู้ว่ามีจิต ไม่เคยรู้ว่ามีเจตสิก ไม่รู้ว่ามีรูป ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา แต่จากการฟังทำให้เรารู้ว่า อนัตตาคืออะไร เพราะเราได้ยินบ่อย คนเราเกิดมาที่อยู่ที่เมืองไทย ไม่ได้ยินคำว่า “อนัตตา” คงยาก หรือไม่ได้ยินคำว่า “ทุกขัง” อนิจจัง” ก็คงยาก เพราะว่า ๓ คำนี้ไปด้วยกัน คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เคยได้ยินไหมคะ

    ตอบ  เคย

    ท่านอาจารย์    แสดงว่า ถูกนะคะ ที่พูดนี่ว่า ทุกคนต้องชินหูกับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่อะไรเป็นอนิจจัง อะไรเป็นทุกขัง อะไรเป็นอนัตตา ต้องมีความเข้าใจ ถ้ายังไม่มีความเข้าใจแล้ว วิปัสสนาไม่ได้เด็ดขาด จะไปทำวิธีอื่นก็ไม่ได้ทั้งสิ้น แต่ต้องเข้าใจว่า อนิจจัง หมายความถึงสภาพธรรมใดที่เกิด สภาพธรรมนั้นดับทันที เร็วมาก ถ้าดับช้า คนก็สามารถประจักษ์ได้ ใช่ไหมคะ อย่างเกิดแล้วก็ไปดับตอนตาย จริงๆไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ ความโกรธเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย ความโกรธนั้นก็หมด ไม่ได้โกรธทั้งวันทั้งคืน ความติดข้อง ชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ไม่ได้ชอบสิ่งนั้นตลอดชีวิต เห็น เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับ ถ้าเห็นยังไม่ดับ จิตที่จะได้ยินเกิดขึ้นได้ยินไม่ได้

    นี่แสดงถึงความรวดเร็วของสังขารธรรม หรือสังขตธรรมที่ว่า ธรรมใดเกิด ธรรมนั้นดับ สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง ลักษณะที่เกิดดับไม่ประจักษ์ จึงเห็นว่า เป็นสิ่งที่น่าต้องการ เพราะว่าเห็นว่ามีอยู่ตลอดเวลา กลิ่นหอมนี่ก็หอมอยู่นาน สิ่งที่สวยก็ยังสวยอยู่ มองไปทีไรก็น่าดู แต่ถ้ารู้ความจริงว่า ไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม เป็นสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา เกิดแล้วดับ  ทุกอย่างเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ ต้องประจักษ์ลักษณะที่เป็นอนิจจังจึงจะเห็นว่าเป็นทุกข์ ไม่ใช่ว่าพอเราป่วยไข้ทีหนึ่งก็เป็นทุกข์ พอเราค้าขายขาดทุนทีหนึ่งก็เป็นทุกข์ พอเรามีเรื่องญาติพี่น้องเป็นทุกข์เดือดร้อนเราก็เป็นทุกข์ ไม่ใช่เลยค่ะ นั่นเป็นทุกข์จร แต่ว่าทุกข์จริงๆ คือ ทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดแล้วดับ จึงจะเข้าใจซึ้งถึงความหมายของ “อนัตตา”  ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของใคร

    ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ของเราหมด แขนของเรา ผมของเราทั้งนั้น แต่จริงๆแล้ว รูปที่เกิดจากกรรมก็มี รูปที่เกิดจากจิตก็มี รูปที่เกิดจากอุตุ ความเย็น ความร้อน ก็มี รูปที่เกิดจากอาหารก็มี ชื่อว่า รูปธรรม แล้วจะไม่เกิดจากสมุฏฐานหนึ่งสมุฏฐานใด คือ ธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิด ๑ ใน ๔ นี้ไม่มี

    อย่างดอกไม้นี่ไม่ได้เกิดจากกรรม ไม่มีจิต ก็ไม่ได้เกิดจากจิต แต่เกิดจากอุตุ คือ ความเย็น ความร้อน ที่เหมาะควรที่พืชพันธ์ชนิดนี้จะเกิด แล้วก็มีดอกเมื่อถึงกาล

    เพราะฉะนั้นรูปอื่นข้างนอกกายทั้งหมด เป็นรูปที่เกิดจากอุตุ ความเย็นหรือความร้อน แม้แต่เสียงที่เราได้ยิน ก็ต้องมีธาตุที่เหมาะสมที่จะทำให้เสียงนั้นเกิดขึ้น โดยการกระทบกัน ถ้าไม่มีอะไรกระทบ เสียงก็เกิดไม่ได้ แต่ถ้าสิ่งที่กระทบไม่อ่อนไม่แข็ง ก็กระทบไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็สืบสาวราวเรื่องไปจนกระทั่งถึงว่า ทุกอย่างที่เกิด เกิดแล้วก็ดับ จึงเป็นอนัตตา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเป็นรูป เพราะฉะนั้นจะเป็นของเรา หรือจะเป็นเราได้อย่างไร ในเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด เกิดขึ้นมีตา เกิดขึ้นมีหู เกิดขึ้นเป็นแขน  เกิดขึ้นเป็นศีรษะ เกิดขึ้นเป็นร่างกาย ก็มีเหตุที่จะให้รูปนี้เกิด เหมือนกับรูปข้างนอก รูปข้างนอกก็มีเหตุให้เกิด รูปนี้ก็มีเหตุให้เกิด แล้วจะเป็นของใคร เพราะกำลังเกิดดับอยู่ตลอดเวลา

    จิตใจก็ไม่ใช่ของใคร เราบอกว่าเป็นเราโกรธ ความจริงโกรธเกิดขึ้นเป็นลักษณะโกรธแล้วก็ดับ โกรธที่ดับไปแล้ว อยู่ที่ไหน ถ้าใช้คำว่า “ดับ” ก็เหมือนกับไฟดับ ไฟที่ดับแล้วไม่มีที่อยู่ เพราะฉะนั้นความโกรธที่เกิดแล้วดับก็หมด แต่ก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดต่อไป เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นรูป ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆก็ตาม ล้วนเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ของใคร และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย

    ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ แล้วจะไปทำวิปัสสนาอย่างไร ไม่มีความเข้าใจเลย วิปัสสนาคือขณะนี้ คือการเริ่มต้นของการเข้าใจความจริงของสภาพธรรม ซึ่งถ้าไม่มีการฟังให้เข้าใจ จะไม่มีการเริ่มต้นเป็นวิปัสสนาเลย

    เพราะฉะนั้นวิปัสสนา คือ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งที่กำลังเป็นจริงอย่างนี้ ซึ่งต้องอาศัยการฟัง คือ การอบรม นี่คือการตั้งต้น ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น  ถ้าไปทำอย่างอื่นแล้ว อย่างไรๆก็ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่วิปัสสนา


    หมายเลข 8500
    10 ก.ย. 2558