เรื่องการแบ่งบุญ2

 
เจริญในธรรม
วันที่  10 มี.ค. 2551
หมายเลข  7795
อ่าน  2,001

เรียนถามผู้รู้ธรรม และแตกฉานในพุทธพจน์ด้วยครับ

๑. เรื่องการแบ่งบุญ ในเรื่องของนายอันนะภาระ (อดีตชาติของพระอนิรุทธะเถระ) แก่สุมนเศรษฐี ที่มีการเปรียบเหมือนการต่อตะเกียง แก่ผู้มาขอแบ่ง จริงๆ แล้วสามารถแบ่งแค่เฉพาะ ในกรณีทำกรรมทิฐธรรมเวชนียกรรม เช่นนี้ หรือไม่? หรือแม้แต่การถวายสังฆทาน รักษาศีล ๕ ให้อาหารปลา ก็สามารถแบ่งได้?

๒. มีตัวอย่างการแบ่งบุญในกรณีของท่านอื่นๆ ในพระไตรปิฏกหรือไม่ครับ?

๓. ผมสงสัยว่า มีท่านหนึ่ง บอกในกระทู้ก่อนหน้านี้ว่า หากบุญแบ่งได้จริง ทำไมพระพุทธเจ้า ไม่แบ่งบุญให้แก่สัตว์โลก เพราะพระพุทธองค์ ย่อมมีบุญเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว (แต่ผมคิดว่าสัตว์โลก ไม่ขอแบ่งจากพระพุทธองค์มากกว่า) จริงๆ แล้วการขอแบ่งบุญนั้น ต้องมีการทำครบองค์ประกอบใช่หรือไม่ เช่นมีผู้ขอ ผู้รับ บุญที่ได้กระทำ?

๔. การขอแบ่งบุญ หากเราอยากได้บุญของผู้หนึ่ง เช่น รู้ว่าเขาทำบุญมากมาย เช่น ทำสังฆทาน รักษาศีล ภาวนา มาหลายปี เช่น ๑๐ กว่าปี เราขอแบ่งบุญนั้น ทั้งหมดที่เขาทำได้หรือไม่? หรือว่า เราขอแบ่งบุญได้ เฉพาะบุญที่เขาทำในวันนั้น มีบอกกาลเวลา ที่จะขอแบ่งบุญไว้ในพระไตรปิฏกหรือไม่?

ขอความกระจ่างให้ด้วยครับ

ขออนุโมทนาในธรรมทานครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 10 มี.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

๑. เรื่องการแบ่งบุญ ในเรื่องของนายอันนะภาระ (อดีตชาติของพระอนิรุทธะเถระ) แก่สุมนเศรษฐี ที่มีการเปรียบเหมือนการต่อตะเกียงแก่ผู้มาขอแบ่ง จริงๆ แล้วสามารถแบ่งแค่เฉพาะในกรณี ทำกรรมทิฐธรรมเวชนียกรรม เช่นนี้ หรือไม่? หรือแม้แต่การถวายสังฆทาน รักษาศีล ๕ ให้อาหารปลา ก็สามารถแบ่งได้?

ถ้าเป็นกุศลแล้ว สามารถอุทิศส่วนกุศลได้ครับ แม้กุศลที่เป็นการฟังธรรม การรักษาศีล แม้การให้อาหารปลา ซึ่งก็เป็นกุศลก็สามารถอุทิศได้ครับ (ดังข้อความในพระไตรปิฎกในข้อ ๒)

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 10 มี.ค. 2551

๒. มีตัวอย่างการแบ่งบุญในกรณีของท่านอื่นๆ ในพระไตรปิฏกหรือไม่ครับ?
ให้อาหารปลาแล้วอุทิศกุศลได้

[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ ๓๐๕ ข้อความบางตอนจาก... มัจฉทานชาดก
ว่าด้วยบุญที่ให้ทานแก่ปลา

พระโพธิสัตว์ได้ให้อาหารที่เหลือแก่ปลาทั้งหลายในแม่น้ำคงคาแล้วให้ส่วนบุญแก่เทวดาประจำแม่น้ำ. เทวดาพออนุโมทนาส่วนบุญเท่านั้นก็เจริญพอกพูนด้วยยศอันเป็นทิพย์ จึงรำพึงถึงความเจริญยศของตนก็ได้รู้ถึงเหตุนั้น.

กุศลในการฟังธรรม แสดงธรรมที่ถูกต้อง เป็นต้น ก็อุทิศส่วนกุศลได้

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔-หน้าที่ ๓๒๘

ข้อความบางตอนจาก เรื่อง ท้าวสักกเทวราช

แม้ท้าวสักกะ ทรงสดับธรรมกถาของพระศาสดา ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ทูลว่า พระเจ้าข้า เพื่อประโยชน์อะไร พระองค์จึงไม่รับสั่งให้ ให้ส่วนบุญแก่พวกข้าพระองค์ ในธรรมทานอันชื่อว่าเยี่ยมอย่างนี้? จำเดิมแต่นี้ไป ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกแก่ภิกษุสงฆ์แล้วรับสั่งให้ๆ ส่วนบุญแก่พวกข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า."พระศาสดา ทรงสดับคำของท้าวเธอแล้ว รับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พวกเธอทำการฟังธรรมใหญ่ก็ดี การฟังธรรมตามปกติก็ดี กล่าวอุปนิสินนกถาก็ดี โดยที่สุดแม้การอนุโมทนา แล้วพึงให้ส่วนบุญแก่สัตว์ทั้งปวง."

กุศลที่ถวายทานแก่ผู้มีศีลก็อุทิศได้
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...อรรถกถานันทาเปติวัตถุที่ ๔ [เปตวัตถุ]

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 10 มี.ค. 2551

๓. ผมสงสัยว่า มีท่านหนึ่ง บอกในกระทู้ก่อนหน้านี้ว่า หากบุญ แบ่งได้จริงทำไมพระพุทธเจ้า ไม่แบ่งบุญให้แก่สัตว์โลก เพราะพระพุทธองค์ ย่อมมีบุญเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว (แต่ผมคิดว่า สัตว์โลกไม่ขอแบ่งจากพระพุทธองค์มากกว่า) จริงๆ แล้ว การขอแบ่งบุญนั้น ต้องมีการทำครบองค์ประกอบใช่หรือไม่ เช่นมีผู้ขอ ผู้รับ บุญที่ได้กระทำ?

การอุทิศส่วนกุศล เพื่อให้อีกบุคคล เกิดกุศลจิตของตน แต่ไม่ใช่เป็นการอุทิศแล้ว ไปเอาบุญของอีกคนไปให้ครับ กุศลของใครก็ของคนนั้น สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน ดังนั้น การอนุโมทนาคือ การที่บุคคลนั้น เกิดกุศลจิตของตนเอง ที่ผู้อื่นบอกหรืออุทิศให้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 10 มี.ค. 2551

๔. การขอแบ่งบุญ หากเราอยากได้บุญของผู้หนึ่ง เช่นรู้ว่าเขาทำบุญมากมาย เช่น ทำสังฆทาน รักษาศีล ภาวนา มาหลายปี เช่น ๑๐ กว่าปี เราขอแบ่งบุญนั้นทั้งหมด ที่เขาทำได้หรือไม่? หรือว่า เราขอแบ่งบุญได้เฉพาะ บุญที่เขาทำในวันนั้น มีบอกกาลเวลาที่จะขอแบ่งบุญไว้ในพระไตรปิฏกหรือไม่?

บุญไม่ใช่เพื่อได้ แต่ขณะใดจิตเป็นไปในบุญกิริยาวัตถุเป็นบุญครับ การอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือ ในกุศลที่บุคคลอื่นทำนั้น ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ ต้องมั่นคงเสมอว่า การอนุโมทนานั้น เป็นกุศลจิตของบุคคลนั้นเองที่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อทราบเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะนานเท่าไหร่ แม้เป็นเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาล ก็สามารถเกิดกุศลจิต อนุโมทนาได้ เพราะกุศลจิตเกิดขึ้นได้ไม่จำกัด ขออนุโมทนาครับ

เรื่อง ผู้ช่วยเหลือหรืออนุโมทนาย่อมมีส่วนแห่งบุญ
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๘๔

ข้อความบางตอนจาก...

กาลทานสูตร ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนาหรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น ทักขิณาทานนั้น ย่อมไม่มีผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือนั้น แม้พวกที่อนุโมทนาหรือช่วยเหลือ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ เพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอย จึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ