บวชที่วัดไหนดี

 
นิบภาณ
วันที่  11 มี.ค. 2551
หมายเลข  7821
อ่าน  3,338

ทราบมาว่า ผู้ใดบวชพระภิกษุแล้ว ต้องถือ นิสสัยกับพระอุปปัชฌาย์ ๕ ปี จึงอยากเรียนถาม ว่า ถือนิสสัย คืออะไร ครอบคลุมแค่ไหน และถ้ามีผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุในสมัยนี้ ต้องไปถือนิสสัยกับพระภิกษุรูปใด วัดไหน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 11 มี.ค. 2551

การถือนิสัย คือ การเข้าไปอาศัยอุปัชฌาย์หรืออาจารย์อยู่ อธิบายว่าเข้าไปมอบตนเป็นศิษย์อยู่รับใช้ท่าน อยู่ในโอวาทและการดูแลของท่าน อยู่ประพฤติวัตรที่สมควร มีอุปัชฌายวัตร เป็นต้น

ควรถือนิสัยกับพระภิกษุที่มีคุณธรรม มีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป มีศีลงาม สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร เป็นลัชชี มีความละอายต่อบาป มีความเห็นถูกตรงตามพระธรรมวินัย มีปัญญาสามารถสอนแนะนำให้ศิษย์เห็นแจ้งในธรรมได้ เป็นผู้ศึกษามามากเป็นพหูสูต เป็นต้น

ขอเชิญอ่านข้อวัตรที่ควรกระทำแก่พระอุปัชฌาย์ (ความเห็นที่ 2, 3)

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 11 มี.ค. 2551

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๔๐

อุปัชฌายะวัตร

[๘๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกพึงประพฤติชอบในอุปัชฌายะวิธีประพฤติชอบในอุปัชฌายะนั้น มีดังต่อไปนี้ :-

สัทธิวิหาริกพึงลุกแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มผ้าเฉวียงบ่า แล้วถวายไม้ชำระฟัน ถวายน้ำล้างหน้า ปูอาสนะไว้.

ถ้ายาคูมี พึงล้างภาชนะแล้วน้อมยาคูเข้าไปถวาย เมื่ออุปัชฌายะดื่มยาคู แล้วพึงถวายน้ำ รับภาชนะมาถือต่ำๆ อย่าให้กระทบกัน ล้างให้สะอาดแล้วเก็บไว้ เมื่ออุปัชฌายะลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ. ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย.

ถ้าอุปัชฌายะประสงค์จะเข้าบ้าน พึงถวายผ้านุ่ง พึงรับผ้านุ่งผลัดมา พึงถวายประคดเอว พึงพับผ้าสังฆาฏิเป็นชั้นถวาย พึงล้างบาตรแล้ว ถวายพร้อมทั้งน้ำด้วย.

ถ้าอุปัชฌายะปรารถนาจะให้เป็นปัจฉาสมณะ พึงปกปิดมณฑล ๓ นุ่งให้เป็นปริมณฑล แล้วคาดประคตเอว ห่มสังฆาฏิ ทำเป็นชั้นกลัดดุม ล้างบาตรแล้ว ถือไป เป็นปัจฉาสมณะของอุปัชฌายะ ไม่พึงเดินให้ห่างนัก ไม่พึงเดินให้ชิดนัก พึงรับวัตถุที่เนื่องในบาตร เมื่ออุปัชฌายะกำลังพูด ไม่พึงพูดสอดขึ้นในระหว่าง อุปัชฌายะกล่าวถ้อยคำใกล้ต่ออาบัติ พึงห้ามเสีย.

เมื่อกลับ พึงมาก่อน แล้วปูอาสนะที่นั่งฉันไว้ พึงเตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งผลัด พึงรับผ้านุ่งมา.

ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อพึงผึ่งแดดไว้ตระหนึ่ง แต่ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด. พึงพับจีวร เมื่อพับจีวร พึงพับให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ด้วยตั้งใจมิให้มีรอยพับตรงกลาง พึงทำประคตเอวไว้ในขนดอันตรวาสก.

ถ้าบิณฑบาตมี และอุปัชฌายะประสงค์จะฉัน พึงถวายน้ำ แล้วน้อมบิณฑบาตเข้าไปถวาย พึงถวายอุปัชฌายะด้วยน้ำฉัน เมื่ออุปัชฌายะฉันแล้วพึงถวายน้ำ รับบาตรมาถือต่ำๆ อย่าให้กระทบ ล้างให้สะอาด เช็คให้แห้งแล้ว ผึ่งไว้ที่แดดตระหนึ่ง แต่ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด.

พึงเก็บบาตรจีวร เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง แล้วจึงเก็บบาตร แต่ไม่พึ่งเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง. เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง แล้วทำชายไว้ข้างนอก ทำขนดไว้ข้างใน แล้วจึงเก็บจีวร.

เมื่ออุปัชฌายะลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั่นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย.

ถ้าอุปัชฌายะใคร่จะสรงน้ำ พึ่งจัดน้ำสรงถวาย ถ้าต้องการน้ำเย็น พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าต้องการน้ำร้อน พึงจัดน้ำร้อนถวาย. ถ้าอุปัชฌายะประสงค์จะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุณ แช่ดิน ถือตั่งสำหรับเรือนไฟแล้วเดินตามหลังอุปัชฌายะไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟแล้ว รับจีวรมาวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พึงถวายจุณ ถวายดิน. ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อเข้าเรือนไฟพึงเอาดินทาหน้า ปิดทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง แล้วเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดภิกขุผู้เถระ ไม่พึงห้ามกันอาสนะภิกษุใหม่ พึงทำบริกรรมแก่อุปัชฌายะในเรือนไฟ. เมื่อออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วปิดทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลังออกจากเรือนไฟ.

พึงทำบริกรรมแก่อุปัชฌายะแม้ในน้ำ อาบเสร็จแล้ว พึงขึ้นมาก่อน ทำตัวของตนให้แห้งน้ำ นุ่งผ้าแล้ว พึงเช็ดน้ำจากตัวของอุปัชฌายะ พึงถวายผ้านุ่ง พึงถวายผ้าสังฆาฏิ ถือตั่งสำหรับเรือนไฟมาก่อน แล้วปูอาสนะไว้ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงถวายอุปัชฌายะด้วยน้ำฉัน.

ถ้าประสงค์จะเรียนบาลี พึงขอให้อุปัชฌายะแสดงบาลีขึ้น. ถ้าประสงค์จะสอบถามอรรถกถา พึงสอบถาม. อุปัชฌายะอยู่ในวิหารแห่งใด ถ้าวิหารแห่งนั้นรก ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงปัดกวาดเสีย เมื่อปัดกวาดวิหาร พึงขนบาตรจีวรออกก่อน แล้ววางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พึงขนผ้าปูนั่ง และผ้าปูนอน ฟูก หมอนออกวางไว้ ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง. เตียง ตั่ง สัทธิวิหาริกพึงยกต่ำๆ อย่าให้ครูดสี อย่าให้กระทบกระแทกบานและกรอบประตู ขนออกให้เรียบร้อย แล้วตั้งไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เขียงรองเตียง กระโถน พนักอิง พึงขนออกตั้งไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เครื่องปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม แล้วขนออกวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
study
วันที่ 11 มี.ค. 2551

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๔๒

ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดแต่เพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุมห้องพึงเช็ดเสีย ถ้าฝาเขาบริกรรมด้วยน้ำมัน หรือพื้นเขาทาสีดำขึ้นราพึงเอาผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ดเสีย ถ้าพื้นเขามิได้ทำ พึงเอาน้ำประพรมแล้วเช็ดเสีย ระวังอย่าให้วิหารฟุ้งด้วยธุลี พึงกวาดหยากเยื่อทิ้งเสีย ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

เครื่องลาดพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ เคาะปัด แล้วขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึงผึ่งแดด ขัดเช็ดแล้วขนกลับตั้งไว้ที่เดิม เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดดขัดสี เคาะเสีย ยกต่ำๆ อย่าให้ครูดสี กระทบกระแทกบานและกรอบประตู ขนกลับไปให้ดีๆ แล้วตั้งไว้ตามเติม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน พึงผึ่งแดด ทำให้สะอาด ตบเสีย แล้วนำกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักอิง พึงผึ่งแดด เช็ดถูเสียแล้วขนกลับตั้งไว้ตามเดิม.

พึงเก็บบาตร จีวร เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่งแล้วจึงเก็บบาตร แต่ไม่พึงเก็บบาตรบนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง.

เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง แล้วทำชายไว้ข้างนอก ทำขนดไว้ข้างใน แล้วเก็บจีวร.

ถ้าลมเจือด้วยผงคลีพัดมาแต่ทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก ถ้าพัดมาแต่ทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก ถ้าพัดมาแต่ทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ ถ้าพัดมาแต่ทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้ ถ้าฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน กลางคืนพึงปิด ถ้าฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน กลางคืนพึงเปิด.

ถ้าบริเวณซุ้มน้ำ โรงฉัน โรงไฟ วัจจกุฎี รก พึงปัดกวาดเสีย ถ้าน้ำฉัน น้ำใช้ไม่มี พึงจัดตั้งไว้ ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี พึงตักน้ำมาไว้ในหม้อชำระ.

ถ้าความกระสันบังเกิดแก่อุปัชฌายะ สัทธิวิหาริกพึงช่วยระงับ หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยระงับ หรือพึงทำธรรมกถาแก่อุปัชฌายะนั้น ถ้าความรำคาญบังเกิดแก่อุปัชฌายะ สัทธิวิหาริกพึงช่วยบรรเทา หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยบรรเทา หรือพึงทำธรรมกถาแก่อุปัชฌายะนั้น ถ้าความเห็นผิดบังเกิดแก่อุปัชฌายะ สัทธิวิหาริกพึงให้สละเสีย หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วย หรือพึงทำธรรมกถาแก่อุปัชฌายะนั้น ถ้าอุปัชฌายะต้องอาบัติหนัก ควรปริวาส สัทธิวิหาริกพึงทำความขวนขวายว่าด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อุปัชฌายะ ถ้าอุปัชฌายะควรชักเข้าหาอาบัติเดิม สัทธิวิหาริกพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอุปัชฌายะเข้าหาอาบัติเดิม ถ้าอุปัชฌายะควรมานัต สัทธิวิหาริกพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อุปัชฌายะ ถ้าอุปัชฌายะควรอัพภาน สัทธิวิหาริกพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานอุปัชฌายะ.

ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะทำกรรมแก่อุปัชฌายะ คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม สัทธิวิหาริกพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อุปัชฌายะ หรือสงฆ์พึงน้อมไปเพื่อกรรมสถานเบา หรืออุปัชฌายะนั้นถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว สัทธิวิหาริกพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ อุปัชฌายะพึงประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงประพฤติแก้ตัว สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย. ถ้าจีวรของอุปัชฌายะจะต้องซัก สัทธิวิหาริกพึงซัก หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงซักจีวรของอุปัชฌายะ

ถ้าจีวรของอุปัชฌายะจะต้องทำ สัทธิวิหาริกพึงทำ หรือพึงทำความขวนขวายว่าด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงทำจีวรของอุปัชฌายะ ถ้าน้ำย้อมของอุปัชฌายะจะต้องต้ม สัทธิวิหาริกพึงต้ม หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ. ใครๆ พึงต้มน้ำย้อมของอุปัชฌายะ ถ้าจีวรของอุปัชฌายะจะต้องย้อม สัทธิวิหาริกพึงย้อม หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงย้อมจีวรของอุปัชฌายะ เมื่อย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาให้ดีๆ เมื่อหยดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย ไม่พึงหลีกไปเสีย.

สัทธิวิหาริกไม่บอกอุปัชฌายะก่อน ไม่พึงให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบาตรของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้จีวรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับจีวรของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้บริขารแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบริขารของภิกษุบางรูป ไม่พึงปลงผมให้ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปปลงผมให้ ไม่พึงทำบริกรรม ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปทำบริกรรมให้ ไม่พึงทำความขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงสั่งให้ภิกษุบางรูปทำความขวนขวาย ไม่พึงเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป ไม่พึงพาภิกษุบางรูปไปเป็นปัจฉาสมณะ ไม่พึงนำบิณฑบาตไปให้ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปนำบิณฑบาตมาให้ ไม่ลาอุปัชฌายะก่อนไม่พึงเข้าบ้าน ไม่พึงไปป่าช้า ไม่พึงหลีกไปสู่ทิศ ถ้าอุปัชฌายะอาพาธ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าจะหาย.

อุปัชฌาวัตร จบ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
study
วันที่ 11 มี.ค. 2551

ตัวอย่างคุณธรรมของผู้ที่เป็นพระอุปชฌาย

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๙๘

ศุกลปักษ์ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสัย พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก คือ :-

๑. ประกอบด้วยกองศีล อันเป็นของพระอเสขะ.

๒. ประกอบด้วยกองสมาธิ อันเป็นของพระอเสขะ.

๓. ประกอบด้วยกองปัญญา อันเป็นของพระอเสขะ.

๔. ประกอบด้วยกองวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ และ

๕. ประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นของพระอเสขะ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ นี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสัย พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก.

ศุกลปักษ์ ๒ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสัย พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก คือ :-

๑. ตนเองประกอบด้วยกองศีล อันเป็นของพระอเสขะ และชักชวนผู้อื่นในกองศีล อันเป็นของพระอเสขะ.

๒. ตนเองประกอบด้วยกองสมาธิ อันเป็นของพระอเสขะ และชักชวนผู้อื่นในกองสมาธิ อันเป็นของพระอเสขะ.

๓. ตนเองประกอบด้วยกองปัญญา อันเป็นของพระอเสขะ และชักชวนผู้อื่นในกองปัญญา อันเป็นของพระอเสขะ.

๔. ตนเองประกอบด้วยกองวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ และชักชวนผู้อื่นในกองวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ และ

๕. ตนเองประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นของพระอเสขะและชักชวนผู้อื่นในกองวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นของพระอเสขะ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล พึงให้อุปสมบทพึงให้นิสัย พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล พึงให้อุปสมบทพึงให้นิสัย พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก. คือ

๑. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยศีล ในอธิศีล.

๒. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยอาจาระ ในอัธยาจาระ.

๓. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยทิฏฐิ ในทิฏฐิยิ่ง.

๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก และ

๕. เป็นผู้มีปัญญา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล พึงให้อุปสมบทพึงให้นิสัย พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก.

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นิบภาณ
วันที่ 11 มี.ค. 2551

เป็นวัตรปฏิบัติ ที่ทำได้ยากหนอ ทำได้โดยยาก เป็นคฤหัสถ์ที่ดีก็ยังยาก เป็นพระภิกษุที่ดี ยิ่งยาก แสนยาก

ผู้ที่เห็นว่าพระวินัย ทำตามได้ยาก แสดงว่าไม่มีอัธยาศัยในการบวช ผู้ที่มีอัธยาศัยในการบวช ย่อมเห็นพระวินัย เหมือนมาลาพวงดอกไม้ที่พระพุทธองค์มอบให้ เพื่อน้อมใส่เกล้า ใส่กระหม่อม อันนี้จริงเท็จ ประการใด?????

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
study
วันที่ 11 มี.ค. 2551

ขออนุโมทนาคุณนิบภาณที่มีเข้าใจถูกต้อง เป็นคฤหัสถ์ที่ดีก็ยังยาก เป็นพระภิกษุที่ดีตรงตามพระธรรมวินัยยิ่งยากมาก

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
devout
วันที่ 11 มี.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 11 มี.ค. 2551

เป็นคฤหัสถ์สั่งสมปัญญาและรักษาศีลได้มากกว่า ๕ ข้อ บวชใจก็ได้ค่ะ ขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 11 มี.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ajarnkruo
วันที่ 12 มี.ค. 2551

การบวชจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ใครคิดจะกระทำ ก็กระทำได้ครับ

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว

สงฺฆํ นมา มิ

ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์

...อนุโมทนาครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
happyindy
วันที่ 12 มี.ค. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
lovedhamma
วันที่ 15 มิ.ย. 2554

เป็นคฤหัสถ์ที่ดียังยาก การเข้าไปบวช ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม "ยิ่งรักษาใจได้ยากกว่า อย่างแน่นอนครับ" เพราะฉะนั้น การที่เราเป็นคฤหัสถ์ที่ลองรักษาศีลได้มากกว่า ๕ ข้อ จะดีกว่า ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
nopwong
วันที่ 20 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ