การยกตนข่มท่าน สำคัญตนหมายว่าเหนือกว่าผู้อื่น ...

 
Bemindful
วันที่  11 มี.ค. 2551
หมายเลข  7823
อ่าน  7,360

การเพ่งโทษผู้อื่น และการอวดรู้ เป็นกิเลสหรือเปล่าครับ

ผมเป็นคนหนึ่งที่มีตระกูลสูง การศึกษาดีระดับหนึ่ง (แพทย์) แต่ผมจะละมานะทุกครั้งที่ไปวัด ไปปฏิบัติธรรม ไปที่มูลนิธิฯ ไม่รังเกียจที่จะขัดถานให้พระ และไม่เคยบอกใครว่าผมเป็นใคร ลูกของใคร ทำงานอะไร เพื่อจะสางมานะในตัวด้วยอุบายหนึ่ง แต่ผมเกิดธรรมสังเวชในผู้ที่ อ้างว่าตัวไปปฏิบัติธรรม ซึ่งยังคงไม่เข้าใจว่าปฏิบัติธรรมคืออะไร ในเมื่อธรรมเกิดอยู่รอบๆ ตัวเราทุกวัน ยังมีพฤติกรรมบางอย่าง ที่เด็กวัยหลังอย่างผมเห็น คือ

๑. ยกตนข่มท่านอ้างว่ารู้ธรรมมาก พูดได้ทุกข้ออรรถ พูดได้ทุกคาถา สำคัญว่าตนรู้ธรรมมาก แต่ลืมคิดไปว่าตนเป็นเจ้ามานะ ทำตัวเป็นสัจจกะนิครนถ์นาฏบุตร

๒. เบียดเบียนเพื่อนผู้ประพฤติธรรมด้วยวาจา สร้างวจีกรรม แรงกล้าไปด้วยอุปกิเลส ชื่อ สารัมภะ คือคิดแข่งดีผู้อื่น ไม่ได้ให้ธรรมแก่เขา ด้วยเมตตา เพื่อให้เขารู้ แต่หมายที่จะทำผู้อื่นว่าโง่ รู้ธรรมไม่เท่าตน ประหารผู้อื่นด้วยวาทะ

๓. เพ่งโทษพระภิกษุ บุตรแห่งพรตถาคต รูปนั้น รูปนี้ ทั้งๆ ที่ศีลก็ไม่ได้ถือเท่าท่าน อ้างตัว ว่ารู้อภิธรรมมากกว่าท่าน ทั้งๆ ที่บทสรรเสริญพระธรรมคุณ ก็ว่า ปัจจังตังเว ทิตตัพโพ วิญญูหิติ แล้วเราเป็นใคร ที่จะไปรู้ว่า ท่านตรัสเป็นพระอริยบุคคลแล้วหรือยัง

๔. พฤติกรรมที่เป็นบางคน (ส่วนน้อย) ใน webboard นี้ ที่ผมเห็นและสังเวช คือคอยหาคำผิดหรือข้อผิดพลาดของผู้อื่นเล็กๆ น้อยๆ (การเพ่งโทษ ) แล้วมาทับถม ยิ้มเยาะ ด้วยสำคัญ ตัวหมายว่ารู้มากกว่าเขา ไม่ได้เป็นไปด้วยเมตตา แต่เป็นไปด้วยกิเลส บางรายร้ายหนักถึงขนาดใช้ วาจาส่อเสียดเขา ทั้งๆ ที่มันก็เป็นอกุศลธรรม ๑๐ ซึ่งแม้แต่ศีลก็ยังวิรัติไม่ได้ แล้วจะมาอ้างว่ามีปัญญาฉะนั้นหรือ? ทั้งๆ ที่ผมก็เป็นผู้รู้ธรรมขั้นต้น แต่ผมก็จะไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยวิธีแบบนี้

ต้องขอกราบอภัยต่อสหายธรรมท่านอื่น ที่น้องใหม่ (ทั้งๆ ที่ผมก็เป็นผู้รู้ธรรมขั้นต้นแต่ผมก็จะไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยวิธีการแบบนี้) อย่างผม ใช้กระดานข่าวตรงนี้ เพื่อแจ้งความรู้สึกบางอย่าง ที่ผมสังเกตในกิริยาของบางคน ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในนี้ก็เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ให้ธรรมทานผู้อื่นด้วยกรุณา ก็ยังมิวาย มีกาในฝูงหงส์ แต่ที่ผมได้ตักเตือน ทำไปด้วยเมตตาเป็นที่ตั้ง หวังในใจให้ผู้ที่ทำเช่นนี้ ลด ละ เลิก แต่จะ โอปนยิโก หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล บัณฑิต ย่อมน้อมธรรมเข้ามาใส่ตัว ว่าอะไรควร ไม่ควร แต่ผู้ที่หนาไปด้วยกิเลสย่อมน้อมนำไปเป็นกิเลสที่ตนบ่มเพาะไว้ ย่อมกำเริบหนัก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Bemindful
วันที่ 11 มี.ค. 2551

ขอบพระคุณสมาชิกทุกๆ ท่านที่รับฟังน้องใหม่อย่างผมโดยสำรวม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 11 มี.ค. 2551

ทุกๆ วันเราจะต้องพูดคุยกัน ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ยังต้องมีการพูดเพ้อเจ้อ แต่ถ้าสติเกิดก็วิรัตงดเว้นวจีทุจริต คำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ควรพูดค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
devout
วันที่ 11 มี.ค. 2551

ผู้ที่ศึกษาธรรม ไม่ได้หมายความว่า เป็นผู้ที่หมดกิเลสนะคะ กิเลสแต่ละประเภท พร้อมที่จะหลุดออกมาให้เราได้เห็นเสมอ เมื่อได้เหตุปัจจัย นี่คือความจริงค่ะ ทั้งที่เกิดกับตัวเราเอง และที่เกิดกับคนอื่น เป็นความจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้เราได้ระลึกศึกษาสภาพธรรมนั้นๆ เพราะถ้าเราไม่พิจารณาสถาพธรรมในขณะนั้นให้ดี แทนที่จิตจะเป็นกุศล ก็เป็นอกุศล ประโยชน์ที่ควรจะเกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ก็ผ่านเราไป ขณะที่ไม่ชอบ รังเกียจ ตำหนิติเตียนอยู่ในใจนั้นก็เป็นกิเลสค่ะ ก็คงไม่ต่างอะไรกันกับกิเลสของคนอื่นในขณะนั้นด้วยใช่มั้ยค่ะ เพียงแต่เป็นคนละประเภท และยังไม่ได้ล่วงออกมาทางกายวาจาเท่านั้น แล้วประโยชน์อยู่ตรงไหนค่ะ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เราคงแก้ไขเปลี่ยนแปลงจิตใจคนอื่นไม่ได้ (นอกจากจะให้คำแนะนำได้ ถ้าอยู่ในฐานะและโอกาส) แต่จิตใจของเราเอง เราอยู่ในฐานะที่จะอบรมได้ค่ะ

So... bemindful as you named it.

ขอให้เจริญในธรรม และ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
shumporn.t
วันที่ 11 มี.ค. 2551

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ ๔๖๕

ข้อความบางตอนจาก ธรรมปริยายสูตร

[๑๙๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมอันใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น. ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ทุกคนต้องได้รับผลของกรรมแน่นอน ผลของอกุศลกรรมนั้นน่ากลัวจริงๆ เมตตากันเถอะนะ ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เบน
วันที่ 11 มี.ค. 2551

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ ๔๒๗

๗. อตุละ การนินทาและสรรเสริญนั่นเป็นของเก่า นั่นไม่ใช่เป็นเหมือนมีในวันนี้ ชนทั้งหลายย่อมนินทาผู้นั่งนิ่งบ้าง ย่อมนินทาผู้พูดมากบ้าง ย่อมนินทาผู้พูดพอประมาณบ้าง ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก คนผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือว่าอันเขาสรรเสริญโดยส่วนเดียว ไม่ได้มีแล้ว จักไม่มี และ ไม่มีอยู่ในบัดนี้ หากว่าวิญญูชนใคร่ครวญแล้วทุกๆ วัน สรรเสริญผู้ใด ซึ่งมีความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา ผู้ตั้งมั่นด้วยปัญญาและศีล ใครเล่าย่อมควร เพื่อติเตียนผู้นั้น ผู้เป็นดังแท่งทองชมพูนุท แม้เทวดาทั้งหลายก็สรรเสริญเขา ถึงพรหมก็สรรเสริญแล้ว.

๘. พึงรักษาความกำเริบทางกาย พึงเป็นผู้สำรวมทางกาย พึงละกายทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตทางกาย พึงรักษาความกำเริบทางวาจา พึงเป็นผู้สำรวมทางวาจา พึงละวจีทุจริต พึงประพฤติสุจริตทางวาจา พึงละความกำเริบทางใจ พึงเป็นผู้สำรวมทางใจ พึงละมโนทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตทางใจ ธีรชนทั้งหลายสำรวมทางกาย สำรวมทางวาจา สำรวมทางใจ ธีรชนเหล่านั้นแล ชื่อว่าสำรวม รอบคอบดีแล้ว.

จบโกธวรรคที่ ๑๗.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 11 มี.ค. 2551

ให้เข้าใจว่าเป็นธรรมและเป็นธรรมดาครับ ลองฟังไฟล์ธรรมในเวปนี้ครับ มีไฟล์ธรรมดีๆ มากมายครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ajarnkruo
วันที่ 12 มี.ค. 2551

บททดสอบ "เมตตา" ในชีวิตประจำวันอย่างดีเลยครับ การที่จะมีปกติอยู่ด้วยเมตตาได้ ไม่ใช่การหลีกเร้นไปเพื่ออยากสงบแต่เป็นการที่อยู่กับความดี ความไม่ดี ทั้งของตนเองและของผู้อื่นได้ อย่างไม่หวั่นไหวเราเปลี่ยนกิเลสของใครไม่ได้เลย เพราะกิเลสของเราก็ยังมีอยู่เต็มที่ เขาแสดงกาย วาจาออกมาไม่ดี คิดๆ แล้วก็คงไม่ต่างกันเท่าไร เพราะเราก็เคยกระทำสิ่งที่ไม่ดีอย่างนั้นมาแล้วในอดีตโดยเฉพาะในเวลาที่อกุศลแสดงกำลังออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนคิดได้อย่างนี้ เมตตาก็เกิดแทนความขุ่นเคืองใจทันทีได้แต่ก็ต้องมีเหตุปัจจัยเพียงพอจากการเจริญเมตตาบ่อยๆ ด้วยครับ อาศัย "โทสะ" ละ "โทสะ" คือ ปัญญารู้ว่าเป็นเพียง "โทสะ" ที่เกิดและดับไปเป็นเพียง "ธรรมะ" ไม่ใช่เรา เท่านั้นจริงๆ กระทู้นี้ก็เป็นกระทู้เตือนใจที่ดีกระทู้หนึ่งสำหรับสหายธรรมทุกๆ ท่านครับ

อนุโมทนาในกุศลจิตของคุณ bemindful ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Sam
วันที่ 12 มี.ค. 2551

ในความคิดเห็นส่วนตัว ผมรับได้กับการแสดงความคิดเห็นที่บ้านธรรมะแห่งนี้ครับ อย่างน้อยทุกคนก็พยายามที่จะสุภาพที่สุดแล้ว ส่วนการแสดงความคิดเห็น ก็คงเป็นไปตามการสะสมจากอดีต จะน่าฟังหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ฟังด้วย ซึ่งแม้แต่พระอรหันต์ผู้ปราศจากกิเลสก็ยังไม่อาจละวาสนา กิริยาอาการที่ไม่งาม นับประสาอะไรกับปุถุชนคนหนากิเลสครับ แล้วอะไรล่ะที่เป็นสิ่งสำคัญในการให้ความเห็นและการอ่านความเห็น สำหรับผมแล้วคือปัญญาความเข้าใจถูกครับ หากทำให้เกิดความเข้าใจถูกได้ ผมก็ไม่เกี่ยงเลยที่จะมีผู้ว่ากล่าวตักเตือน แต่หากไม่ทำให้เกิดความเข้าใจถูก คำที่อ่อนหวานปะโลมใจก็ด้อยประโยชน์ โดยส่วนตัว ผมชื่นชมท่านผู้ไม่ปรารถนาแม้แต่จะเป็นที่รักของใครๆ แต่ความปรารถนาสูงสุดของท่านเหล่านั้นคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ฟังเป็นสำคัญ แล้วในที่สุด ท่านเหล่านั้นก็จะเป็นที่รักของผู้มีความเข้าใจโดยที่ท่านไม่ได้ปรารถนาเลย

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ