จดหมายจากท่านผู้ฟัง [1]

 
สารธรรม
วันที่  11 ก.พ. 2551
หมายเลข  7315
อ่าน  910

บ้านเลขที่....หมู่ที่....แขวง.... เขต....กรุงเทพมหานคร

๒๙ พฤษภาคม ๒๕๑๗

กราบเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพ
กระผมรับฟังแนวทางการเจริญวิปัสสนา มีบางครั้งที่ขาดการรับฟังไปบ้าง แต่ก็ทำให้กระผมได้รับความรู้ที่ตรงและถูกต้องตามธรรมะเป็นอันมาก กระผมขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาที่ท่านอาจารย์กรุณาธรรมะอันยิ่งให้แก่กระผม และท่านที่รับฟังอื่นๆ ได้มีปัญญาและความรู้ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นนิสัย ปัจจัยและในการบรรลุธรรมอันเป็นทางเกษมได้ ในเมื่อมีเหตุปัจจัยให้เป็นเช่นนั้น กระผมขอซักซ้อมความเข้าใจในคำบรรยายของท่านอาจารย์ ตามที่ผมกระผมรับฟังมาดังนี้ ที่นี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่าให้มีสติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง กระผมมีความเข้าใจอย่างนี้จะถูกหรือไม่ครับสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง เช่น เวลาที่รับฟังการบรรยายอยู่ขณะนี้ เสียงของท่านอาจารย์ปรากฏทางหู ทางตาก็มีสีสันต่างๆ ปรากฏ เย็น - ร้อน อ่อน - แข็ง ปรากฏทางกาย เมื่อมีสติพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ทางหูก็มีเสียงของท่านอาจารย์เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้รับผลคือการได้ยิน เมื่อขาดเสียงของท่านอาจารย์หรือกระผมไม่ได้รับฟัง ผลคือความรู้ต่างๆ ที่ผมควรได้ก็ไม่เกิดขึ้น ธรรมต่างๆ ต้องอาศัยเหตุผลของกันและกันจึงจะเกิดขึ้น ไม่ควรยึดสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นตัวตน เป็นบุคคล กระผมเข้าใจอย่างนี้จะถูกหรือผิดอย่างไร ขอให้ท่านอาจารย์กรุณาอธิบายให้กระผมได้เข้าใจ เพื่อจะได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง


ความเห็นจากท่านอาจารย์สุจินต์

ตามที่ท่านผู้ฟังเข้าใจ...ไม่ผิดนะคะ แต่ว่าเรื่องของการอบรมปัญญาเนี่ยค่ะ เป็นเรื่องที่ละเอียด และก็เป็นเรื่องที่จะรู้ชัดเพิ่มขึ้นจริงๆ อย่างคำที่ว่า "ไม่ควรยึดถือสภาพธรรมะ เป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด" จะทำยังไงกับการไม่ควรละคะ เรื่องไม่ควรเนี่ย...ไม่ควรแน่ แต่ทำยังไงถึงจะไม่ยึดถือได้จริงๆ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญนะคะ เพราะฉะนั้น ก็มีทางเดียวเท่านั้น คือเข้าใจลักษณะของสติซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกได้ ระลึกที่นี่ไม่ได้หมายความว่า ต้องคิด หรือ ต้องนึก แต่ว่าแทนที่จะหลงลืมเป็นไปกับตัวตน สัตว์ บุคคลต่างๆ ก็ให้รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะ แล้วแต่ว่าจะระลึกทางตา มีความระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น

วิริยะ คือความเพียรที่เป็น อาตาปี นั้น ไม่ใช่ให้เพียรไปทำอื่นนะคะ แต่เกิดพร้อมสติที่ระลึกได้ขณะนั้น เริ่มที่จะสังเกตุ สำเหนียก รู้ว่ากำลังเห็นเนี่ยค่ะเป็นสภาพรู้ทางตา ไม่ใช่สภาพคิดนึก แต่ว่าเป็นสภาพรู้...ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ยากก็ยากนะคะ แต่ว่าระลึกบ่อยๆ จนง่ายขึ้นได้ จนเป็นความชำนาญได้ไม่ว่าจะเห็นในขณะใด แต่ว่าจะต้องระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เช่นกำลังเห็น บางท่านก็บอกว่าระลึกไม่ได้ ทั้งๆ ที่กำลังเห็นเนี่ยค่ะ คิดถึงเรื่องอื่นได้ไหมคะ คิดถึงเรื่องอื่น...ทำไมคิดได้ แต่ว่ากลับกันเสีย แทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่น รู้ในขณะที่กำลังเห็น รู้ตรงที่เห็นนี้เนี่ยค่ะ ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง ทีคิดถึงอย่างหนึ่ง...ยังคิดได้ ระลึกได้สารพัด กำลังเห็นอยู่ จะระลึกไปถึงเมื่อวานนี้ก็ได้ เดือนก่อนก็ได้ แล้วแต่ว่าจิตจะนึกไป ยังระลึกได้ ก็กำลังเห็นนี้ แทนที่จะไปนึกถึงเรื่องเมื่อวานหรือเรื่องอื่น ก็ให้รู้ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้จริงๆ ว่าเป็นแต่เพียง...สภาพรู้อย่างหนึ่งเท่านั้น

เวลาที่ได้ยินก็เหมือนกันค่ะ เวลาที่ได้ยินอยู่ ยังเคยนึกไปเรื่องอื่นได้หลายเรื่องหลายทาง เพราะฉะนั้น การระลึกได้ที่เสียงก็ดี หรือว่าที่ได้ยินก็ดีย่อมสามารถที่จะระลึกได้..ถ้าอบรม แต่ไม่ใช่หมายความว่า ท่านจะชำนาญทันทีนะคะ โดยที่พอฟังก็จะสติเกิดระลึกได้ แต่ต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ การฟังย่อมอุปการะเกื้อกูลแก่ปัญญา

บรรยายโดย ... ท่าน อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ข้อความบางตอนจาก ... ชุดเทปวิทยุตอนที่ ๔๓๖


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
aiatien
วันที่ 11 ก.พ. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เจริญในธรรม
วันที่ 12 ก.พ. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
C.pongsiri
วันที่ 13 ก.พ. 2551

จากข้อความของท่านอาจารย์ที่ว่า

เข้าใจลักษณะของสติซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกได้ ระลึกที่นี่ไม่ได้หมายความว่า ต้องคิดหรือต้องนึก แต่ว่าแทนที่จะหลงลืมเป็นไปกับตัวตน สัตว์ บุคคลต่างๆ ก็ให้รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะ แล้วแต่ว่าจะระลึกทางตา มีความระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น

การ มีความระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น คือรู้ว่ากำลังเห็นทางตาและมีสัญญาด้วย ถูกหรือผิดคะ

กราบขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 13 ก.พ. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น หมายความว่า ขณะที่เห็นมีสภาพธรรมปรากฏ คือสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่กำลังเห็น สติเกิดระลึกรู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นเพียงธรรม (สิ่งที่ปรากฏทางตา สี) ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่การนึกคิดว่ามีสัญญาด้วยแต่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะที่กำลังเห็นว่าสิ่งที่เห็นเป็นเพียงธรรม ไม่ใช่เรา หรือระลึกสภาพที่เห็นว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา โดยไม่ใช่ขั้นคิดนึกครับ ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ไม่มีเรา
วันที่ 30 ธ.ค. 2551
โมทนาค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ