ปุปผสูตร - พระพุทธองค์ไม่ขัดแย้ง - ๒๖ ม.ค. ๒๕๕๑

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ม.ค. 2551
หมายเลข  7075
อ่าน  1,797

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๒๖ ม.ค. ๒๕๕๑

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๑๓

๒. ปุปผสูตร

ว่าด้วยพระพุทธองค์ไม่ขัดแย้งกับโลก

[๒๓๙] กรุงสาวัตถี. ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตไม่กล่าวขัดแย้งกับโลก แต่ชาวโลกกล่าวขัดแย้งกับเราตถาคต. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้กล่าวเป็นธรรม จะไม่กล่าวขัดแย้งกับใครๆ ในโลก. สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี แม้เราตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี. สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เราตถาคตก็กล่าวว่ามี.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี ซึ่งเราก็กล่าวว่าไม่มีนั้นคืออะไร คือ รูปที่เที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี แม้เราตถาคตก็กล่าวรูปนั้นว่าไม่มี เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา ที่บัณฑิตทั้งหลายในโลกสมมติว่าไม่มี แม้เราตถาคตก็กล่าววิญญาณนั้นว่า ไม่มี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือสิ่งที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี ซึ่งเราตถาคตก็กล่าวว่า ไม่มี.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี ซึ่งเราตถาคตกล่าวว่ามีคืออะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คือ รูปไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่บัณฑิตทั้งหลายในโลกสมมติว่ามี แม้เราตถาคตก็กล่าวรูปนั้นว่ามี เวทนา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาที่บัณฑิตทั้งหลายในโลกสมมติว่ามี แม้เราตถาคตก็กล่าววิญญาณนั้นว่ามี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือสิ่งที่บัณฑิตทั้งหลายในโลกสมมติว่ามี ซึ่งเราตถาคตกล่าวว่ามี.

[๒๔๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในโลก มีโลกธรรม พระตถาคต ย่อมตรัสรู้ย่อมบรรลุ ครั้นแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย กระทำให้ตื้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรมในโลกคืออะไร พระตถาคตเจ้า ตรัสรู้ บรรลุธรรมนั้นครั้นแล้ว ก็บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรมในโลก คือ รูป พระตถาคตเจ้า ตรัสรู้ ทรงบรรลุ รูปนั้น ครั้นแล้วก็ทรงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระตถาคตเจ้าบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นอยู่อย่างนี้ ผู้ใดไม่รู้ ไม่เห็น เราตถาคตจะทำอะไรเขา ผู้ซึ่งเป็นคนพาล เป็นปุถุชน เป็นคนบอด ไม่มีจักษุ ไม่รู้ไม่เห็นอยู่. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรมในโลก คือ เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ พระตถาคตเจ้า ตรัสรู้ ทรงบรรลุวิญญาณนั้น ครั้นแล้วก็ทรงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อตถาคต บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผยกระทำให้ตื้นอยู่อย่างนี้ ผู้ใดไม่รู้ ไม่เห็น เราจะไปทำอะไรเขา ผู้เป็นคนพาล เป็นปุถุชน เป็นคนบอดไม่มีจักษุ ไม่รู้ไม่เห็นอยู่.

[๒๔๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดอกอุบลก็ดี ดอกปทุมก็ดี ดอกบุณฑริกก็ดี เกิดขึ้นแล้วในน้ำ ขึ้นพ้นน้ำ ตั้งอยู่ แต่ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคต ก็เช่นนั้นเหมือนกันแล เกิดแล้วในโลก เจริญแล้วในโลก ครอบงำโลกอยู่ แต่โลกไม่แปดเปื้อนเราได้.

จบ ปุปผสูตรที่ ๒

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 315

อรรถกถาปุปผสูตรที่ ๒

พึงทราบวินิจฉัย ในปุปผสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า วิวทติ ความว่า ชาวโลกเมื่อกล่าวว่า เที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา สวยงาม ชื่อว่า ย่อมกล่าวขัดแย้งกับเราตถาคต ผู้กล่าวอยู่ตามสภาพเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่สวยงาม

บทว่า โลกธมฺโม ได้แก่ ขันธปัญจกะ (ขันธ์ ๕) ก็ขันธปัญจกะ นั้นเรียกว่า โลกธรรม เพราะมีการแตกสลายเป็นสภาพ. ด้วยบทว่า กินฺติ กโรมิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เราตถาคตจะทำอย่างไร เพราะว่าเราตถาคตมีหน้าที่อยู่เฉพาะ ก็แต่การบอกข้อปฏิบัติ ส่วนการบำเพ็ญข้อปฏิบัติเป็นหน้าที่ของกุลบุตรทั้งหลาย. ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ (สรุปได้ว่า) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโลกไว้ ๓ ในสูตรนี้ คือ ตรัสสัตวโลกไว้ในคำนี้ว่า นาหํ ภิกฺขเว โลเกน (ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราตถาคตไม่กล่าวขัดแย้งกับโลก) ตรัสสังขารโลกไว้ในคำนี้ว่า อตฺถิ ภิกฺขเว โลเก โลกธมฺโม (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีโลกธรรมอยู่ในโลก) (และตรัส) โอกาสโลกไว้ในคำนี้ว่า ตถาคโต โลเก ขาโต โลเก สํวฑฺโฒ (พระตถาคตอุบัติแล้วในโลกทรงเจริญเติบโตแล้วในโลก) .

จบ อรรถกถาปุปผสูตรที่ ๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
udomjit
วันที่ 22 ม.ค. 2551
อนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Buppha
วันที่ 22 ม.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 22 ม.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ เป็นพระสูตรที่ลึกซึ้งและไพเราะมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
spob
วันที่ 23 ม.ค. 2551

ฏีกาปุปผสูตร

คำศัพท์ในพระบาลีว่า วิวทติ กล่าวขัดแย้ง หมายถึง วิวาทํ กโรติ แปลว่า สร้างความขัดแย้ง ฯ

ข้อความว่า วทนฺโต ชาวโลก เมื่อกล่าว เป็นต้น หมายถึง ชาวโลก เมื่อกล่าวตามสภาพที่ไม่เป็นจริงว่า เที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา สวยงาม ชื่อว่า กล่าวขัดแย้ง คือ กล่าวให้ผิดจากธรรมดา

คำศัพท์ในพระบาลีว่า โลกธมฺโม โลกธรรม หมายถึง ลุชฺชนสภาวธมฺโม แปลว่าธรรมที่จะต้องแตกไปเป็นสภาพ ได้แก่ อะไร คือ ขันธปัญจกะนี้ เพราะฉะนั้นในอรรถกถาท่านจึงอธิบายว่า บทว่า โลกธมฺโม ได้แก่ ขันธปัญจกะ (ขันธ์ ๕) ก็ขันธปัญจกะนั้นเรียกว่า โลกธรรม เพราะมีการแตกสลายเป็นสภาพ.

ข้อที่ว่า เราตถาคตจะทำอะไรได้ หมายความว่า ตถาคต จะทำคนเขลา ผู้ไม่รู้อยู่ ได้โดยประการไรเล่า ข้อนี้เห็นได้ดังที่ตรัสไว้ในคัมภีร์พระธัมมบทว่า อกฺขาโต โว มยา มคฺโคตถาคตได้แสดงหนทางแก่พวกเธอแล้ว ดังนี้ ด้วยเหตุนี้ ในอรรถกถา ท่านจึงพรรณนาว่าเพราะว่า เราตถาคตมีหน้าที่อยู่เฉพาะก็แต่การบอกข้อปฏิบัติ ส่วนการบำเพ็ญข้อปฏิบัติเป็นหน้าที่ของกุลบุตรทั้งหลาย.

ท่านพระอรรถกถาจารย์ครั้นกล่าวว่า ทรงแสดงโลก ๓ ดังนี้แล้ว เพื่อจะไขความข้อนั้นจึงยกพระบาลีว่า นาหภิกฺขเว โลเกน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตไม่กล่าวขัดแย้งกับโลก ดังนี้เป็นต้นขึ้นมา ฯ

ฏีกาปุปผสูตร จบ

หมายเหตุ แปลจาก คัมภีร์สังยุตตฏีกา ทุติยภาค ฉบับมหาจุฬา ฯ หน้า ๒๙๗

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
study
วันที่ 23 ม.ค. 2551
ขออนุโมทนา คุณ Spob ที่นำข้อความจากฎีกามาเสริมให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Koy
วันที่ 24 ม.ค. 2551

ขออนุโมทนาคุณ Spob ที่มีความเพียรที่จะเจริญกุศลให้บุคคลอื่นที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจในการอ่านพระสูตรมีความเข้าใจความหมายของคำที่เป็นภาษาบาลีได้ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 24 ม.ค. 2551
ขอร่วมอนุโมทนาด้วยอีกคนครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ