ความจำเป็นของการศึกษาพระอภิธรรม

 
Romtam
วันที่  14 พ.ค. 2548
หมายเลข  64
อ่าน  2,294

เคยคุยกับผู้รู้ท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า เราจะก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้นั้น จะต้องศึกษาพระอภิธรรมด้วย ถ้าจะฝึกวิปัสสนาเองโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจที่ได้จากพระอภิธรรมก็จะไม่พอ ตรงนี้ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก คือ คิดว่าถ้าได้ศึกษาก็ดี คือ จะได้หลักการและเหตุผลของการปฏิบัติด้วย แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาแล้ว ปฏิบัติให้ต่อเนื่องตามที่ครูอาจารย์แนะนำไว้ (ในกรณีของผมคือคุณแม่สิริ และหลวงพ่อโชดกวัดมหาธาตุ) ก็น่าจะก้าวหน้าได้เช่นกัน อย่างไรก็ดีช่วงนี้กำลังเริ่มสนใจศึกษาพระอภิธรรมแล้ว มีแผ่น mp3 ของบ้านธัมมะหลายแผ่น ไม่ทราบว่าจะเริ่มฟังจากแผ่นไหน และเรียงลำดับอย่างไร ขอให้ผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ตรงนี้ช่วยแนะนำด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 15 พ.ค. 2548

การศึกษาพระธรรมไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนย่อมเป็นประโยชน์ทั้งนั้น พระอภิธรรมก็เป็นคำสอนอีกส่วนหนึ่งที่จะเกื้อกูลให้ปัญญาเจริญขึ้น mp3 ที่ได้ไปจะฟังแผ่นไหนก็ได้ แต่จิตปรมัตถ์เป็นคำบรรยายเรื่องปรมัตถธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 16 พ.ค. 2548

อภิธรรม หรือ ปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 16 พ.ค. 2548

สำหรับการศึกษาพระธรรมทุกๆ ส่วนในพระไตรปิฏกนั้น ย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษา เพราะเป็นคำสอนเรื่องสัจธรรม ฉะนั้นการศึกษาพระอภิธรรมทำให้เราได้เข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริง ที่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถึงแม้จะยังไม่ประจักษ์ตามความเป็นจริงแต่ก็รู้ตามที่ทรงแสดงไว้ ย่อมเป็นอุปนิสัยและหนทางที่จะทำให้ประจักแจ้งในภายภาคหน้าได้ เพราะการจะรู้แจ้งอริยสัจจะขาดการศึกษา คือ ปริยัติไม่ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 16 พ.ค. 2548

สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดง พระอภิธรรมมีความสำคัญอย่างไร ขอคัดข้อความบางตอนจากพระไตรปิฎกให้ท่านได้พิจารณา ดังนี้

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 63

ผู้คัดค้านพระอภิธรรมชื่อว่าทำลายชินจักร บุคคลเมื่อคัดค้านพระอภิธรรม ชื่อว่าย่อมให้การประหารในชินจักรนี้ ย่อมคัดค้านพระสัพพัญญุตญาณ ย่อมหมิ่นเวสารัชชญาณของพระศาสดา ย่อมขัดแย้งบริษัทผู้ต้องการฟัง ย่อมผูกเครื่องกั้นอริยมรรคจักปรากฏในเภทกรวัตถุ ๑๘ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ควรแก่อุเขปนิยกรรมนิยสกรรม ตัชชนียกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 16 พ.ค. 2548

ศาสนาเสื่อมเพราะเหตุใด ขอท่านได้โปรดพิจารณาพระพุทธพจน์ ดังนี้....

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑

ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑

ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑

ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑

รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 16 พ.ค. 2548

ถ้าไม่ได้ศึกษาแล้วปฏิบัติ จะปฏิบัติวิปัสสนาอย่างไร

วิปัสสนาเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดนั้น สัมมาสังกัปปะ คือ วิตกเจตสิก ก็ตรึก คือ จรดในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ และปัญญาเริ่มศึกษาพิจารณาลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น ความรู้จะเกิดขึ้นและเจริญขึ้นได้จากการพิจารณา รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งปรากฏในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไปเร็วเหลือเกิน บางทีก็ยังไม่ทันจะพิจารณาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมนั้นเลย เช่น ขณะได้ยิน สติเกิดระลึกรู้สภาพได้ยินนิดเดียว แต่ยังไม่ทันศึกษาพิจารณารู้ว่าเป็นสภาพรู้เสียง สภาพได้ยินก็หมดไปแล้ว แม้ว่าในตอนต้นปัญญาจะไม่เกิดขึ้นรู้ชัดในลักษณะของสภาพได้ยินก็เป็นธรรมดาที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะไม่มีใครสามารถยึดจับเสียงหรือนามธรรมที่ได้ยินเอามาทดลอง เอามาพิสูจน์พิจารณาได้ แต่ว่าสภาพได้ยินก็จะต้องเกิดอีก ผู้อบรมเจริญสติและปัญญาจึงระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่ได้ยินในคราวต่อไปอีกได้

ขณะนี้สติจะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางหนึ่งทางใดก็ได้ ทีละลักษณะและพิจารณาศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น รู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม สามารถที่จะแยกรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมที่ได้ยินกับเสียง ฯลฯ ในที่สุดก็จะชินกับสภาพของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้น เมื่อชินแล้วความรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็เพิ่มขึ้นอีก ไม่ว่านามธรรมใดรูปธรรมใดจะเกิด ณ สถานที่ใด สติและปัญญาก็สามารถเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะนั้นได้ตามปรกติตามความเป็นจริง การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญสติปัญญา ความรู้ใดที่ได้อบรมให้เกิดขึ้นแล้ว ความรู้นั้นก็จะเพิ่มขึ้นและละคลายความไม่รู้ให้ลดน้อยลงไปด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 9 ก.ย. 2550

ทำไมต้องศึกษาอภิธรรม

ศึกษาอย่างไรชื่อว่าศึกษาอภิธรรม? รู้ชื่อเยอะใช่ไหม หรือศึกษาเพื่อเข้าใจว่าสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ก็คืออภิธรรม ศึกษาเพื่อให้รู้ว่าไม่ใช่เรา จึงเกื้อกูลต่อการปฏิบัติ คือเจริญสติปัฏฐาน

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แวะเข้ามา
วันที่ 12 ก.ย. 2550

ในเมื่อตรัสรู้เองไม่ได้ ก็ต้องศึกษาในสิ่งที่ตรัสรู้

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 12 ก.ย. 2550

พระอภิธรรมไม่ใช่อยู่ในพระไตรปิฎก แต่พระอภิธรรมก็คือขณะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัสทางกาย (เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตีง-ไหว) นั่นเอง และขณะคิดนึกหลังเห็น ได้ยิน ฯลฯ หรือคิดนึกโดยไม่เห็น ไม่ได้ยิน ฯลฯ เพราะฉะนั้นถ้าอยากรู้จักและเข้าใจตัวเองก็ต้องศีกษาพระอภิธรรมโดยละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
oom
วันที่ 14 ก.ย. 2550

MP3 ของอาจารย์สุจินต์ ชุดบารมีในชีวิตประจำวันก็ดีค่ะ ฟังแล้วเข้าใจดีมาก เพราะอาจารย์บรรยายง่ายๆ ดิฉันฟังมาตลอดเกือบทุกวัน เพราะถ้าไม่ฟังชอบหลงลืมสติ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 14 ก.ย. 2550

ดีจัง อนุโมทนาด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ บารมี ๑๐ สำคัญมาก ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน พร้อมๆ กับการเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ฟังต่อไป

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 14 ก.ย. 2550
รู้ชื่อหรือเพื่อขัดเกลา
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
พุทธรักษา
วันที่ 19 พ.ค. 2551

หากไม่เข้าใจพระอภิธรรมก็ไม่เข้าใจปรมัตถธรรมไม่เข้าใจปรมัตถธรรมก็ไม่เข้าใจความเป็นอนัตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
pornpaon
วันที่ 11 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
nopwong
วันที่ 4 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 27 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ