ญานะ

 
ati
วันที่  19 ต.ค. 2550
หมายเลข  5181
อ่าน  2,677

คำว่า ญานะ อภิญญานะ ปริญญา ปัญญา วิชชา มีความต่างกันอย่างไร เพระเหตุใด


Tag  ญาน  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ครูโอ
วันที่ 20 ต.ค. 2550

คำว่า ญาณ หรือ ญาณะ เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา ปัญญามีหลายระดับ เช่น สุตตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา

ปัญญาเป็นสังขารขันธ์เกิดขึ้นได้เพราะมีปัจจัย ในเบื้องต้นปัญญาเกิดขึ้นได้เพราะการฟัง การศึกษา เพราะมีการฟังด้วยดีจึงเกิดความรู้ความเข้าใจ ความรู้ความเข้าใจนั้นชื่อว่า ปัญญาขั้นฟัง สุตตมยปัญญา

โดย : มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา วันที่ : 16-07-2550

อภิญญา เป็นจิตที่ความรู้พิเศษเกิดจากการอบรมฌานจิต ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน จนชำนาญกระทำอภิญญาให้เกิดขึ้น มี ๕ อย่าง บางแห่งมี ๖ คือ อิทธิวิธ ๑ ทิพย์โสต ๑ เจโตปริยญาณ ๑ ปุพเพนิวาสญาณ ๑ ทิพย์จักขุ ๑ อาสวักขยญาณ ๑ สรุปคือ ปฏิสัมภิทาเป็นปัญญาของพระอริยบุคคลเท่านั้น ส่วนอภิญญาเป็นจิตของปุถุชนก็มี ของพระอริยบุคคลก็มี โดยเฉพาะอาสวักขยญาณต้องเป็นของพระอรหันต์เท่านั้น

โดย : มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา วันที่ : 26-09-2549

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 90

ก็ ปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญา, ตีรณปริญญาและปหานปริญญา.

ในปริญญาทั้ง ๓ นั้น ดังนี้

ปัญญาอันเป็นไปในการกำหนดลักษณะโดยเฉพาะๆ แห่งสภาวธรรมเหล่านั้นๆ อย่างนี้ว่า รูปมีการแตกดับไปเป็นลักษณะ เวทนามีการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ ชื่อว่า ญาตปริญญา

วิปัสสนาปัญญาอันมีลักษณะเป็นอารมณ์ ยกสามัญลักษณะ แห่งสภาวธรรมเหล่านั้นๆ ขึ้นเป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า รูป อนิจฺจ ทุกฺข อนตฺตา รูปไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, เวทนา อนิจฺจา ทุกฺขา อนตฺตา เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาดังนี้ ชื่อว่า ตีรณปริญญา

ก็วิปัสสนาอันมีลักษณะเป็นอารมณ์ เป็นไปด้วยสามารถแห่งการละวิปลาสทั้งหลาย มีนิจสัญญาวิปลาส เป็นต้น ในธรรมทั้งหลาย เหล่านั้นเสียได้นั่นแล ชื่อว่า ปหานปริญญา

โดยสมาชิก : อารายเนี่ย วันที่ : 15-05-2550

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 359

[๓๑] ปัญญินทรีย์ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา อินทรีย์คือปัญญา ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศัสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่าง คือปัญญา แสงสว่าง คือปัญญา ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า ปัญญินทรีย์มีในสมัยนั้น.

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติม -->

ลักษณะของปัญญา

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 434

๘. วิชชาสูตร

ว่าด้วยวิชชา

[๑๖๙๕] ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า วิชชาๆ ดังนี้ วิชชาเป็นไฉน และด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงจะชื่อว่าถึงวิชชา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ความรู้ในทุกข์ ในเหตุให้เกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางที่ให้ถึงความดับทุกข์ นี้เรียกว่า วิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมชื่อว่าถึงวิชชา ดูก่อนภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบวิชชาสูตรที่ ๘

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ครูโอ
วันที่ 21 ต.ค. 2550

คำว่า ญานะ ปัญญา วิชชา ปริญญา เป็นปัญญาเจตสิก เปรียบได้กับคำว่า นารี สตรี แต่ถ้ากิจต่างขั้นกัน คือ เป็นปัญญาขั้นสูงขึ้น ก็เปรียบได้กับคำว่า ด.ญ. นางสาว นาง มารดา เนตรนารี วีรสตรี ฯลฯ ทุกคำล้วนใช้กับเพศหญิงหมด แต่ต่างวัยกันบ้าง ภาระมากขึ้นบ้างส่วน คำว่า อภิญญา เป็นจิตที่ประกอบไปด้วยปัญญาเจตสิก และโสภณเจตสิกอื่นๆ ปุถุชนทั่วไปไม่มี นอกจากผู้ที่ได้รูปณาน หรืออรูปฌาน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 19 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 27 ธ.ค. 2565

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ