การทำสมาธิ ควรทำหรือไม่ในเพศฆราวาส

 
tepp
วันที่  12 ต.ค. 2550
หมายเลข  5099
อ่าน  2,686

การทำสมาธิ ควรทำหรือไม่ในเพศฆราวาส เท่าที่พอฟังท่านอาจารย์ เห็นเหมือนว่าไม่สนับสนุนให้ทำสมาธิ ด้วยอาจมีโอกาสเป็นมิจฉาสมาธิซะมากกว่า


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
tepp
วันที่ 13 ต.ค. 2550

ต่อข้างต้น

แต่ให้รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในปัจจุบันขณะดีกว่าจดจ้องอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งด้วยความเป็นเรา แล้วเช่นนั้นในขณะที่ไม่ได้ทำสมาธิ ปกติเราก็ออกกำลังกาย ประกอบอาชีพ พักผ่อน แล้วเราเปลี่ยนอิริยาบถเหล่านั้น ใช้เวลาเหล่านั้นเป็นการฝึกสมาธิแทน เพื่อเป็นการสั่งสมนิสัย เช่น ท่านๆ ก่อนที่จะเป็นมหาบุรุษและสาวกผู้มีฌานสมาบัติ ก็ได้เจริญปัญญาและสมาธิมาหลายชาติก่อนเช่นกัน ในขณะที่เราก็เพียรสะสมกุศลจิตอื่นๆ ในชีวิตประจำวันไปด้วย หรืออาจฝึกเจริญสติปัฏฐานในขณะทำสมาธิได้หรือไม่ และการทำสมาธิก็ทั้งยังให้ผลในการผ่อนคลายจิตใจและสุขภาพในปัจจุบันด้วย ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์และผู้รู้ทั้งหลายมีความเห็นเช่นไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 13 ต.ค. 2550

ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงแนะนำให้สาวกเจริญกุศลทุกประการคือทั้ง ทาน ศีล ภาวนา คือไม่ควรให้จิตเป็นอกุศลเลย ดังนั้น การเจริญกุศลทุกประการเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่กุศลที่สำคัญอันจะทำให้รู้แจ้งความจริง ดับกิเลสพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้คือสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา การศึกษาให้เข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่สำคัญ ส่วนการเจริญสมถภาวนาตามควรแก่ฐานะ เช่น การเจริญอนุสสติทั้งหลาย มีพุทธานุสสติ เป็นต้น การเจริญเมตตา มรณานุสสติ ย่อมสมควรแก่ฐานะของฆราวาส ไม่ใช่ไปนั่งทำสมาธิ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natthaset
วันที่ 13 ต.ค. 2550

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ครูโอ
วันที่ 13 ต.ค. 2550

๑. การทำสมาธิ ควรทำหรือไม่ ในเพศฆราวาส

- เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องตั้งคำถามสำหรับผู้ที่จะไปนั่ง ไปทำสมาธิเองครับ ว่าเป็นผู้ที่สั่งสมปัญญามามาก ที่สติสัมปชัญญะจะเกิดขึ้น แล้วเล็งเห็นโทษของอกุศลต่างๆ ได้แก่ โทสะ โลภะ ที่เกิดในแต่ละวันหรือไม่ ถ้าเครียดแล้วไปนั่งสมาธิแล้วทำให้ผ่อนคลายร่างกาย สบายใจ ถ้าสบายใจแล้วนั่งต่อ ติดใจเพราะสบายดี

ถามว่า อกุศลเป็นเหตุให้เกิดอกุศลหรือเปล่า ถ้านั่งโดยไม่เจริญความเห็นผิด ไม่ต้องการจะนั่งเพราะต้องการบรรลุ หรือคิดว่าเป็นหนทางที่จะทำให้บรรลุธรรมได้ ก็ยังไม่ใช่ "กุศล" อยู่ดี แต่เป็น โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ (ความต้องการที่ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด) ครับ ถ้าสติไม่เกิดก็ย่อมจะไม่รู้ว่าตนเองมีอกุศลมากมายสักเท่าไร แล้วก็อาจจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นกุศลทั้งๆ ที่ไม่ใช่ก็ได้ เพราะเหตุว่า การเจริญสมาธิที่พระพุทธองค์ตรัสสอน เป็นการเจริญสมาธิเพื่อจะเป็นทางให้กุศลจิตเจริญขึ้น จนถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทจริงๆ ซึ่งต้องเป็น "สัมมาสมาธิ" ในอริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้นครับ

๒. เท่าที่พอฟังท่านอาจารย์ เห็นเหมือนว่า ไม่สนับสนุนให้ทำสมาธิ ด้วยอาจมีโอกาสเป็นมิจฉาสมาธิซะมากกว่า

- ท่านเพียงแสดงธรรมให้ผู้ฟัง ได้พิจารณาด้วยความแยบคาย ใส่ใจในความเป็นเหตุเป็นผลของพระธรรม ไตร่ตรองในความถูกต้อง ไม่ได้ไม่สนับสนุนหรือคัดค้านว่าไม่ให้ไปทำ แต่ผู้ฟัง ที่จะไปทำเองต่างหาก ที่จะต้องเป็นผู้ตรงว่า ไปทำเพื่ออะไร เพราะอะไร ถ้ารู้ว่าตนไปทำเพราะกำลังของอกุศลจิต ควรจะไปทำต่อไหม ถ้ารู้ว่าไปทำเพราะเป็นผู้สั่งสมมาที่จะปลีกตัวไปทำ เพราะสติสัมปชัญญะเกิดมาก จึงเห็นโทษของอกุศลจริงๆ ก็คงจะไม่มีใครมาห้ามท่านได้ เพราะ "ปัญญา" นั้นควรเจริญ แต่สิ่งสำคัญกว่า คือต้องรู้ตนเองตามความเป็นจริงว่าพร้อมจริงๆ ที่จะปลีกตัวออกไปจากเบญจกามคุณหรือยัง

๓. ในขณะที่ไม่ได้ทำสมาธิ ปกติเราก็ออกกำลังกาย ประกอบอาชีพ พักผ่อน แล้วเราเปลี่ยนอิริยาบถเหล่านั้น ใช้เวลาเหล่านั้นเป็นการฝึกสมาธิแทน เพื่อเป็นการสั่งสมนิสัย เช่นท่านๆ ก่อนที่จะเป็นมหาบุรุษ และสาวกผู้มีฌานสมาบัติ ก็ได้เจริญปัญญาและสมาธิมาหลายชาติก่อนเช่นกัน ในขณะที่เราก็เพียรสะสมกุศลจิตอื่นๆ ในชีวิตประจำวันไปด้วย หรืออาจฝึกเจริญสติปัฏฐานในขณะทำสมาธิได้หรือไม่

- ในสมัยก่อนพุทธกาล มีผู้ที่มีปัญญามากกว่าเราในสมัยนี้มากมาย ท่านเหล่านั้นต่างล้วนเพียรพยายามที่จะหาวิธีเจริญกุศล เพื่อข่มหรือระงับอกุศลที่เกิดหลังจากเห็น ได้ยิน ... คิดนึก ทางทวารต่างๆ เช่น อุทกดาบส อาฬารดาบส ที่สามารถได้ฌานขั้นสูงแล้วไปเกิดเป็นพรหมได้ แต่ท่านทั้งสองก็ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ไม่สามารถจะตรัสรู้หนทางหลุดพ้นได้เหมือนกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และหนทางที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นที่พระองค์ทรงสรรเสริญ ก็คือ การเจริญสติปัฏฐานเป็นปรกติในชีวิตประจำวันครับ เพราะขณะที่สติปัฏฐานเกิด ไม่ต้องไปนั่งทำสมาธิ ก็มี "สัมมาสมาธิ" เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ไม่ว่าจะกำลังประกอบกิจกรรมอะไร ถ้าสภาพธรรมะใดเกิดปรากฏ แล้วสติสามารถระลึกรู้ทันทีได้ในขณะนั้น ก็เป็นสติที่รู้ เป็นธัมมะ

แต่ถ้าผิดปรกติ ก็คือการที่เรากำลังหาวิธีที่จะเจริญสติควบคู่ไปกับการนั่งทำสมาธิ ทั้งๆ ที่ในขณะนี้ ตอนนี้สติก็มีปัจจัยที่จะเกิดได้ โดยที่ไม่ต้องไปนั่งทำสมาธิก่อนหรือไปทำให้พร้อมกัน ในแต่ละวันควรที่จะระวังความแยบยลของอกุศลจิตที่คอยจะหลอกให้ไปทำอย่างนั้น หาวิธีให้ทำอย่างนี้อยู่เสมอ แล้วก็ข้ามเว้นไป ไม่ได้เจริญปัญญารู้สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ ซึ่งสติสามารถระลึกรู้ได้ในขณะนี้ครับ

เชิญคลิกอ่านครับ ...

สัมมาสมาธิเป็นอย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 13 ต.ค. 2550

ทำด้วยความเข้าใจกับไม่เข้าใจ ต่างกันเพราะมีตัวตนที่อยากได้กุศลและบังคับให้เกิดขึ้น ซึ่งขัดกับหลักอนัตตา

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 13 ต.ค. 2550

อบรมสติปัฏฐานสำคัญกว่า ถ้าสติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นสัมมาสมาธิ ฯลฯ ก็เกิดร่วมด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 11 พ.ค. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 22 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Kalaya
วันที่ 25 พ.ค. 2563

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 25 ม.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ