สงสัยเรื่องทุกขอริยสัจจ์ ครับ?

 
natthaset
วันที่  13 ต.ค. 2550
หมายเลข  5105
อ่าน  1,388

ในอริยสัจจ์ ๔ "ทุกข์" เป็นสภาวะที่ต้องกำหนดรู้ ไม่ใช่สภาวะที่ต้องละ เจริญใช่ไหมครับ ที่ว่า อุปาทานขันธ์ห้า เป็นตัวทุกข์ จริงแล้ว "อุปาทาน" เป็นทุกข์ หรือขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ครับ (เพราะได้ยินคำสวดมนต์เช้าว่า อิธะ ตถาคโต โลเก ชาติปิ ทุกขา ชราปิ ทุกขา อุปาทานขัน ธาปิ ทุกขา รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา รูปัง อนัตตา เวทนา อนัตตา) ไม่เห็นคำว่า รูปัง ทุก ขัง เวทนา ทุกขา เลยครับ และอุปาทานตัวนี้ เป็นตัวตัณหา ชึ่งเป็นสมุทัยใช่ไหมครับ? ถ้าผมตั้งคำถามไม่ถูก ควรตั้งคำถามอย่างไร ครับ? ผมซาบซึ้งว่า คำสอนของพระพุทธองค์ ลึกซึ้ง ละเอียด หลาก หลาย ต่อเนื่องกัน เปรียบได้ยิ่งกว่ามหาสมุทร ผมอยากรู้ อยากถาม อยากเข้าใจ แต่กว้างใหญ่เกินปัญญาจะจับต้นชนปลายถูกครับ ผิดตก ขออภัยครับ ไม่ค่อยเก่งเรื่องบาลีครับ บาปกรรมขอรับไว้แต่ผู้ เดียวครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 14 ต.ค. 2550

ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เมื่อแสดงโดยกิจ ทุกขอริยสัจจ์เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้คำว่าอุปาทานขันธ์ หมายถึงขันธ์ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน ๑ ขันธ์ที่เกิดจากอุปาทาน ๑ ขันธ์ ๕ ที่ว่านี้เป็นทุกขอริยสัจจ์ หมายถึงโลกียธรรมทั้งหมดส่วนอุปาทาน คือกิเลส ตัณหา เป็นสมุทัยอริยสัจจ์

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 364

เมื่อเธอทำกรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมแทงตลอดสัจจะทั้ง๔ ด้วยการแทงตลอดคราวเดียวกัน ย่อมตรัสรู้ด้วยการตรัสรู้คราวเดียวกันคือ แทงตลอดทุกข์ด้วยการแทงตลอดคือ การกำหนดรู้ (ปริญญากิจ) ย่อมแทงตลอดสมุทัยด้วยการแทงตลอดคือ การละ (ปหานกิจ) ย่อมแทงตลอดนิโรธ ด้วยการแทงตลอดคือ การทำให้แจ้ง (สัจฉิกิริยากิจ) ย่อมแทงตลอดมรรคด้วยการแทงตลอดคือ การเจริญ ย่อมตรัสรู้ทุกข์ด้วยการตรัสรู้คือ การกำหนดรู้ ฯลฯ ย่อมตรัสรู้มรรคด้วยการตรัสรู้คือ การเจริญ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ครูโอ
วันที่ 14 ต.ค. 2550

๑. พระธรรมไม่พ้นโลกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไม่ง่ายเพราะ "โมหะ" ปิดกั้นไว้สนิท การเริ่มรู้ว่า สั่งสมความไม่รู้มามากก็จะเป็นเหตุให้ศึกษาเพื่อให้เข้าใจความจริงมากขึ้น

๒. ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป มีปรากฏอยู่ตอนนี้ ขณะนี้ เกิดดับตามเหตุปัจจัย ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่ที่ควรจะต้องศึกษาไว้ ก็เพื่อจะละการไม่รู้ความจริงว่าทุกๆ สิ่งเป็น ธรรมะ ไม่ใช่ เรา

๓. "ธรรมะ" เพียงชื่อก็มีความหมายกว้างแล้ว แต่ตัวจริงของธรรมะทั้งกว้าง ทั้งลึกยิ่ง กว่านั้นมหาศาล เปรียบเหมือนกับน้ำในมหาสมุทร ที่ปัญญาของปุถุชนในขณะนี้เป็นเหมือนกับขนหางกระต่ายที่จุ่มลงไป จะให้ลงไปถึงก้นบึ้งของมหาสมุทรย่อมเป็นไป ไม่ได้ฉันใด ก็ย่อมจะเข้าใจพระธรรมอันลึกซึ้งของพระผู้มีพระภาค..เท่าที่ปัญญาของ ผู้ที่เป็นสาวกจะเข้าใจได้ ฉันนั้น

๔. การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะกุศลกรรมให้ผล จะเป็นปัจจัย ให้เข้าใจในตัวจริงของพระธรรมเมื่อปัญญาเจริญขึ้นได้ ยังไม่ทันจะหวัง สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งแล้ว

๕. เรื่องการใช้ชื่อหรือภาษา เป็นเรื่องของอัธยาศัยที่สั่งสมมา สหายธรรมด้วยกัน ย่อมรู้ว่าการกล่าวติ ตำหนิ เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ แม้แต่การตักเตือน ถ้าไม่รู้จักกัน ไม่สนิทกัน ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะตักเตือนได้ แต่เกื้อกูลกันได้ด้วยการสนทนาธรรม

๖. มั่นคงว่าเป็นธรรมะ ไม่มีเรา มีแต่เจตสิก ที่ปรุงแต่งให้กุศล หรืออกุศลเกิดขึ้น กับจิตเท่านั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ในแต่ละวัน อกุศลเจตสิกที่ปรุงแต่งจิต เร็วจนทำ ให้เราเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ยังเป็น "เรา" ที่คิดว่าอกุศลนั้นธรรมดา จนกว่า จะเป็นปัญญาที่เห็นว่าเป็น "ธรรมะ" ที่เกิด ปรากฏ ดับไป เป็นธรรมดา และเป็น ปัญญาอีกเหมือนกันที่เห็นโทษว่าธรรมดาของธรรมที่เป็นอกุศลนั้น ไม่งามครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natthaset
วันที่ 14 ต.ค. 2550

อนุโมทนา ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
คนรักหนัง
วันที่ 14 ต.ค. 2550

พระพุทธองค์ทรง แสดงธรรม งามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด เปรียบ เหมือนบุคคลผู้หงายของที่คว่ำอยู่ เปิดของที่ปิดอยู่ บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดเพื่อผู้มีจักษุจะพึงเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าขอถึงพระรัตนตรัย ว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 20 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 25 ม.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ