ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๖๑

 
khampan.a
วันที่  21 เม.ย. 2567
หมายเลข  47702
อ่าน  901

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจาก
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษา และพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๖๑



~ การศึกษาพระธรรมต้องรู้ว่าเพื่อประโยชน์อะไร? ถ้าศึกษาเรื่องของอวิชชา ก็เพื่อเห็นโทษและเมื่อเห็นโทษของอวิชชาแล้ว จะได้หาทางอบรมเจริญปัญญาความรู้ เพื่อละความไม่รู้ และการรู้สภาพธรรมที่ละเอียดขึ้น ควรรู้ประโยชน์ว่าเพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

~ การฟังพระธรรมให้เริ่มเข้าใจให้ถูกต้อง เป็นการเริ่มต้นที่จะรู้ความจริงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ไม่ใช่ให้เราไปทำอย่างอื่นเลย แต่ให้เข้าใจให้ถูกว่ารู้แค่ไหนก็ยังไม่พอ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าทำดีแค่ไหนก็ยังไม่พอ เพราะฉะนั้น การรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง จะทำให้ไม่เห็นผิดไม่เข้าใจผิด

~ เข้าใจพระธรรมจากการฟัง ก็จะเป็นการสะสมให้ความเข้าใจนั้นเพิ่มขึ้น เพราะว่าใครก็ไม่สามารถทำให้ปัญญาเกิดขึ้นได้ นอกจากการได้ยินได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไตร่ตรองจนกระทั่งมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

~ ชีวิตที่มีประโยชน์ที่สุดคือขณะที่ได้เข้าใจธรรม

~ เห็นคุณของพระธรรมว่าอนุเคราะห์ให้ชีวิตทั้งชีวิตซึ่งเกิดมานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ ได้มีโอกาสได้รู้ความจริงซึ่งยากที่จะรู้ เมื่อรู้แล้วก็เห็นประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ได้เบื่อหน่าย ไม่ได้ท้อถอย แต่รู้ว่าชีวิตควรจะดำเนินไปอย่างไร ที่ขาดไม่ได้คือการที่จะได้เข้าใจธรรม เท่าที่จะมีโอกาสตามเหตุตามปัจจัย ทำความดีทุกขณะที่สามารถจะกระทำได้

~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ล้ำค่า เพราะสามารถที่จะทำให้สภาพธรรมที่เป็นอกุศล ค่อยๆ เบาบางลงจนกระทั่งสามาถเป็นผู้ที่ไวในกุศล

~ ถ้าสามารถที่จะช่วยให้คนใดคนหนึ่งแม้เพียงหนึ่งคนได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรม เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะช่วยให้คนนั้นออกจากสังสารวัฏฏ์

~ โลภะละยากจริงๆ และความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) ซึ่งเป็นกามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) ก็ทำให้เกิดความยึดมั่น พอใจ ต้องการที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมาเพื่อตน เพราะฉะนั้น ก็มีความสำคัญในตน เมื่อมีความยินดีพอใจสะสมติดแน่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เกิดความยึดมั่นว่าเป็นตัวตนเป็นเราขึ้น

~ ถ้าอกุศลเกิดขณะนั้นไม่สามารถรู้ความจริงได้ ด้วยเหตุนี้ กุศลเพียงเล็กน้อยชั่วหนึ่งขณะก็มีค่ามากที่จะไม่ไปเพิ่มอกุศลและความไม่รู้ให้หนาแน่นมั่นคงยากต่อการที่จะรู้ต่อไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความเห็นถูก ไม่ว่าจะเกิดชาติไหน ความเข้าใจถูกต้องในความเป็นจริงของธรรม ก็จะทำให้เกิดกุศลประการต่างๆ และยามใดที่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจพระธรรม ขณะนั้นก็สามารถที่จะเข้าใจขึ้น เพราะอกุศลเบาบางกว่าเดิม

~ ธรรม มีจริงแน่นอน ถ้าไม่มีธรรม แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้อะไร

~ เดี๋ยวนี้มีธรรมไหม? ถ้าไม่รู้ ก็คือ ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครคิดว่าจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่รู้จักธรรมบ้าง? เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ มีธรรมไหม เดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือเปล่า?


~ ชาตินี้จะเป็นชาติก่อนของชาติหน้า ซึ่งไม่ไกล แต่ว่าใครรู้บ้างว่า
พอเป็นชาติหน้าแล้วชาตินี้ทำอะไรไว้บ้าง แต่ทุกวันนี้เองเป็นเครื่องส่องถึงว่านี่แหละเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วในอดีตเมื่อถึงอนาคตคือชาติหน้า เพราะฉะนั้น รู้จักอดีตของชาติหน้าเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ว่า ทำอะไรกันบ้าง เดี๋ยวนี้กำลังทำอะไร

~ บางครั้งอาจจะพูดไม่เพราะไม่เหมาะสมกับมารดาบิดา และภายหลังกุกกุจจะ (ความเดือดร้อนรำคาญใจ) เกิดไหม นานไหม อาจจะทำให้เกิดความทุกข์ได้หลายชั่วโมง เพราะฉะนั้น เมื่อมีความรำคาญใจเกิดขึ้นขณะใด ควรเป็นข้อเตือนใจที่จะสังวร (สำรวมระวัง) ไม่ทำให้กายวาจาเป็นไปในทางที่จะให้เกิดความรำคาญใจนั้นอีก โดยเฉพาะต่อผู้ที่มีคุณ

~ ถ้าเป็นผู้ที่พยายามเข้าใจคนอื่น มีความเห็นใจและให้อภัย ก็จะเป็นผู้ที่มีความอดทน ไม่แสดงกายวาจาให้คนอื่นเดือดร้อน ซึ่งขณะใดที่แสดงกายวาจากระทบกระเทือนให้คนอื่นเดือดร้อน ตนเองย่อมเดือดร้อนในภายหลัง

~ ควรพิจารณาเห็นอกุศลตามความเป็นจริงและเห็นโทษ เพียรที่จะละคลายอกุศลทุกประการและคิดถึงบุคคลอื่นในทางที่เป็นกุศล พร้อมกันนั้นก็เป็นผู้ที่ทำความดีเสมอและเพิ่มขึ้น เพราะว่าอกุศลมีมาก ซึ่งทางเดียวที่จะคลายอกุศลได้ คือ ด้วยการเจริญกุศล

~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ทุกท่านเป็นผู้ที่อดทน แม้การคิดร้ายต่อคนอื่น ก็ต้องรู้ว่าขณะนั้นไม่อดทนจึงคิดร้ายต่อคนอื่น ขณะที่ไม่เข้าใจบุคคลอื่นหรือไม่ให้อภัยบุคคลอื่น หรือขณะที่กล่าวคำที่ไม่สมควร ขณะนั้น เป็นผู้ที่ไม่อดทน

~ วันหนึ่งๆ มีเมตตาเกิดเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้ายังไม่มีเมตตาเพิ่มขึ้น แต่มีปัจจัยของโทสะเพิ่มขึ้น ต่อไปข้างหน้าก็ยังคงต้องมีโทสะมาก จนกว่าจะค่อยๆ อบรมเจริญเมตตา

~ เวลาที่เห็นคนอื่นทำกุศลก็ดีใจอนุโมทนาด้วย เป็นกุศลในขณะนั้น แต่เวลาที่เห็นอกุศลของคนอื่น เช่น ความไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การไม่สงเคราะห์คนอื่น หรือแม้การไม่ปฏิสันถาร ก็มีความรู้สึกเจ็บหรือว่าช้ำใจ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่อกุศลของตนเอง เป็นอกุศลของคนอื่น แต่ทำไมมีความรู้สึกอย่างนั้น เป็นการขาดการระลึกรู้ลักษณะสภาพจิตจึงไม่รู้ว่าแม้ในขณะนั้นก็เป็นอกุศล

~ บางทีเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่น่ากลุ้มใจเลย แต่ปุถุชนก็กลุ้มใจอยู่บ่อยๆ เรื่อยๆ เร่าร้อน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วย่อมมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น และสิ่งนั้นก็ไม่เที่ยง คือ ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการสิ้นสุด

~ ขณะใดก็ตามที่มีพื้นฐานที่จะเห็นประโยชน์และทำดี ก็จะค่อยๆ ละคลายกิเลสจนสามารถจะมีเวลาให้กุศลเพิ่มขึ้น เพราะลองคิดดูวันนี้วันเดียวโอกาสของอกุศลเท่าไหร่ โอกาสของกุศลเท่าไหร่ เทียบกันได้ไหม?



ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๖๐


... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 21 เม.ย. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
มังกรทอง
วันที่ 21 เม.ย. 2567

ขอน้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
shsso2551
วันที่ 21 เม.ย. 2567

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 22 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
apichet
วันที่ 22 เม.ย. 2567

กราบอนุโมทนาสาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 22 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ