ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๕๘] ทิฏฺฐิชาล

 
Sudhipong.U
วันที่  6 เม.ย. 2567
หมายเลข  47681
อ่าน  85

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ทิฏฺฐิชาล”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ทิฏฺฐิชาล อ่านตามภาษาบาลีว่า ทิด - ถิ - ชา - ละ มาจากคำว่า ทิฏฺฐิ (ความเห็น ซึ่งในที่นี้มุ่งหมายถึงความเห็นผิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ) กับคำว่า ชาล (ข่าย) รวมกันเป็น ทิฏฺฐิชาล เขียนเป็นไทยได้ว่า ทิฏฐิชาละ แปลว่า ข่ายคือทิฏฐิซึ่งเป็นความเห็นผิด สำหรับความเห็นผิดนั้น เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งเมื่อมีความเห็นผิดเกิดขึ้นแล้ว ทุกอย่างผิดไปหมด กายก็ผิด วาจาก็ผิด ความประพฤติเป็นไปผิดทั้งหมด คล้อยตามความเห็นผิดที่เกิดขึ้น และความเห็นผิดที่ร้ายแรง คือความเห็นผิดในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความเห็นที่ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เมื่อเห็นผิดแล้วก็มีการสอนผิด เผยแพร่ในสิ่งที่ผิด ก็เป็นโทษทั้งกับตนเอง ทั้งกับผู้อื่น และทำลายสิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สุราธเถรคาถา แสดงความเป็นจริงของข่ายคือทิฏฐิความเห็นผิด รวมถึงอวิชชาด้วย ดังนี้

“ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) และอวิชชา ที่มีนามอันได้แล้วว่า ชาลสังขาตะ (รู้ว่าเป็นข่าย) เพราะครอบงำสันดานของสัตว์และไม่ให้โอกาสเพื่อจะถอนขึ้น”

ข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน สุปปวาสาสูตร ได้แสดงถึงความเป็นจริงของสัตว์โลกว่ามากไปด้วยความเห็นผิดและกิเลสประการอื่นๆ ดังนี้

“โลกสันนิวาส (สัตว์โลก) อันกองตัณหาสวมไว้ ถูกข่ายคือตัณหาครอบคลุมไว้ ลอยไปตามกระแสตัณหา ประกอบด้วยตัณหาสังโยชน์ ซ่านไปตามตัณหาอนุสัย เดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนเพราะตัณหา เร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนคือทิฏฐิ ถูกโครงร่างคือทิฏฐิสวมไว้ ถูกข่ายคือทิฏฐิคลุมไว้ ลอยไปตามกระแสทิฏฐิ ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ซ่านไปตามทิฏฐานุสัย เดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนคือทิฏฐิ เร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนคือทิฏฐิ”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ เป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เกื้อกูลผู้ที่มากไปด้วยความไม่รู้ มากไปด้วยความเห็นผิดและกิเลสประการอื่นๆ ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกค่อยๆ เจริญขึ้น พ้นจากความไม่รู้ ความเห็นผิดและกิเลสทั้งหลายที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เกื้อกูลให้เข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นธรรมประเภทใด ก็แสดงให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง แม้แต่ธรรมที่เป็นอกุศล ก็แสดงให้เข้าใจอย่างถูกต้องว่า เป็นอกุศล เป็นสภาพธรรมที่มีโทษ ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย และอกุศลที่มีโทษมาก คือความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ความเห็นผิด หรือ มิจฉาทิฏฐินั้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม เพราะมีความเห็นผิดเกิดขึ้นเป็นไป จึงเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นบุคคลผู้มีความเห็นผิด ถูกข่ายคือความเห็นผิดรวบรัดไว้ เป็นผู้มีความเห็นที่ไม่ตรง มีความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม เมื่อเห็นผิดแล้ว ทุกอย่างก็ผิดไปหมด ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็ย่อมผิดไปด้วย กล่าวได้ว่า คิดผิด พูดผิด ทำผิด ประพฤติปฏิบัติผิด คล้อยตามความเห็นที่ผิด เป็นผู้ล่วงเลยสิ่งที่เป็นสาระ

ขณะที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น ย่อมเป็นผู้ที่เสื่อมจากปัญญา เสื่อมจากคุณความดีทั้งปวง เช่น ถ้าเห็นผิดว่าผลของกรรมดีและกรรมชั่ว ไม่มี ก็ลองคิดดูว่าถ้าเห็นผิดอย่างนี้แล้วจะเป็นอย่างไร? ก็ไม่ทำดีอย่างแน่นอน มีแต่ทำชั่วประการต่างๆ ไม่เห็นโทษของความชั่วเลยแม้แต่น้อย และยิ่งถ้าเป็นความเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติแล้ว ก็ยิ่งพอกพูนความติดข้อง ความไม่รู้ และความเห็นผิดให้มากยิ่งขึ้น จนยากที่จะแก้ไขได้ ไม่ยอมสละความเห็นผิด อีกทั้งยังอาศัยความเห็นผิดนี้ ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย มีการเผยแพร่ความเห็นผิดแก่ผู้อื่น นี้คือ ความเป็นจริงของความเห็นผิด ซึ่งมีโทษมากเป็นอย่างยิ่ง ทำลายทั้งตนเองและทำลายบุคคลอื่นทำให้บุคคลอื่นออกจากพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นก็เท่ากับทำลายคำสอนของพระองค์ด้วย เพราะคำไม่จริง เบียดเบียนคำจริงของพระองค์

บุคคลที่เคยเห็นผิดมาก่อน พอได้อาศัยการฟังพระธรรมแล้วพิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผล ย่อมเกิดความเห็นถูกได้ แต่ถ้าไม่ฟังและไม่พิจารณาในเหตุผล ก็หมดหนทางที่จะเห็นถูกได้ ย่อมยึดถือความเห็นผิดว่าเป็นความเห็นถูกร่ำไป แล้วเมื่อมีการสะสมความเห็นผิดจนกระทั่งเป็นปกติเป็นอุปนิสัยที่มีกำลัง ย่อมจะทำให้ความเห็นผิดนั้นมีปัจจัยที่จะเกิดต่อไปอีก และจะเห็นผิดมากขึ้นอีกด้วย ยากที่จะแก้ไขได้ แต่ถ้าสะสมปัจจัยที่จะให้เกิดความเห็นถูกตั้งแต่ขั้นต้นแล้วอบรมเจริญต่อไป ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดความเห็นผิดก่อนๆ ก็ย่อมจะหมดได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญปัญญาจริงๆ เห็นประโยชน์ของพระธรรม ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งจะเห็นได้จริงๆ ว่า แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด ประพฤติปฏิบัติผิด กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรประการต่างๆ มาอย่างไรก็ตาม พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ย่อมสามารถเกื้อกูลบุคคลนั้นได้ ถ้าหากว่าเป็นผู้เห็นประโยชน์ เป็นผู้ตรง จริงใจที่จะเข้าใจว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก

ดังนั้น ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะค่อยๆ เจริญขึ้นได้ ก็เพราะอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงบ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบ และเคารพในทุกคำของพระองค์ ขณะที่ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดขึ้น ก็คุ้มครองป้องกันไม่ให้ตกไปในฝ่ายของความเห็นผิด ไม่ให้ตกไปในฝ่ายของอกุศล จึงขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมไม่ได้เลย การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เป็นรากฐานที่สำคัญมั่นคงที่จะนำไปสู่การขัดเกลาละคลายกิเลสทั้งหลาย มีความไม่รู้ ความติดข้อง และความเห็นผิดเป็นต้นได้ในที่สุด ซึ่งเป็นหนทางดำเนินของบุคคลผู้ที่มีปัญญา ไม่ใช่การไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามๆ กันไปด้วยความไม่รู้แต่อย่างใด

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ