คนติดดี

 
oom
วันที่  5 ก.ย. 2550
หมายเลข  4737
อ่าน  2,477

การที่คนเราทำความดีแล้ว อยากให้คนอื่นๆ เห็นว่าเราทำดี แต่พอไม่เป็นไปตามที่คิด ก็เก็บมาเป็นทุกข์ นั้นเป็นเพราะใจของเขา ยังมีกิเลส มีความโลภอยากให้คนเห็นว่าเราดี ใช่หรือไม่ จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 5 ก.ย. 2550

การกระทำความดี ด้วยความเป็นเรา เพื่อตัวเรา เพื่อให้เขายอมรับว่าเราดี เป็นการกระทำด้วยมีความหวัง และอกุศลเป็นบริวาร เป็นความดีที่ไม่บริสุทธิ์ แต่ผู้ที่กระทำความดีทุกอย่างเพื่อความดี ไม่หวังผลสิ่งใดตอบแทน ความดีนั้นเป็นความดีที่บริสุทธิ์

ฉะนั้น คำสอนของพระพุทธองค์ ทรงแนะนำสาวกให้สะสมอบรมความดี เพื่อความดี ไม่ควรหวังสิ่งใดตอบแทน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 5 ก.ย. 2550

การทำความดีเกิดจากจิตใจที่ดี จิตที่เป็นกุศลสลับกับอกุศก็ได้ คนละขณะค่ะ การทำความดี เป็นเหตุดี ผลก็ต้องดี แต่ที่เป็นทุกข์เพราะกิเลส ไม่ใช่ผลของกรรมค่ะ ถ้าหากจะทำดีกับใคร ก็ขอให้ดีกับเขาด้วยความจริงใจ แล้วไม่ต้องหวังว่าเขาจะดีกับเราหรือไม่ เพราะความดีเป็นสิ่งที่ควรเจริญค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
สายัณห์-พิมสาร
วันที่ 5 ก.ย. 2550
ขออนุโมทนาด้วยความจริงใจยิ่งครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 5 ก.ย. 2550



แม้ความไม่ติด ก็อาจเป็นการติดอย่างหนึ่ง ถ้าผู้นั้นขาดปัญญา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
oom
วันที่ 5 ก.ย. 2550

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม คงทำได้ยาก เพราะโดยทั่วไป เมื่อทำความดี คนส่วนใหญ่ ก็จะหวังผลตอบแทนทั้งนั้น แม้แต่คำขอบคุณ บางคนบ่น แหม! เราช่วยแล้ว จะขอบคุณสักคำก็ไม่มี เพราะคนส่วนใหญ่ก็อยากได้รับคำชื่นชม ไม่ค่อยมีใคร ที่ทำความดีแล้วไม่หวังผล เหมือนปิดทองหลังพระ

การทำความดี ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลตอบแทน เป็นความสุขจริงอย่างที่พูดค่ะ แต่ก็เป็นบางครั้ง ทำไม่ได้ตลอด

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
olive
วันที่ 6 ก.ย. 2550
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 6 ก.ย. 2550


ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เมื่อยังเป็นปุถุชน ก็ย่อมยังติด ในรูป ในเสียง ... ... และแม้ความดีของตนเองที่อยากให้คนอื่นรู้ เพราะโลภะที่สะสมมีอยู่มาก ดังนั้นก็ต้องเป็นผู้ตรงว่า ยังเป็นปุถุชนอยู่การอบรมปัญญา จึงค่อยๆ อบรมจากการเห็นโทษของอกุศลด้วยการฟังพระธรรม เมื่อเข้าใจธรรมมากขั้น ปัญญานั้นเองไม่ใช่เรา ที่จะค่อยๆ ขัดเกลากิเลส และเห็นโทษของอกุศล และหนทางเดียวเท่านั้น ที่จะดับกิเลสจนหมดได้ คือการอบรมสติปัฏฐานระลึกสภาพธรรม ที่มีในขณะนี้ว่า ไม่ใช่เรา แม้ความมักมาก (อยากให้คนอื่น รู้ความดีของตน) ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา อกุศลทุกอย่างห้ามไม่ได้ มีเหตุปัจจัยก็เกิด ต้องเข้าใจตรงนี้ และก็จะเป็นหนทางที่จะ เริ่มเข้าใจความจริงของธรรมว่า เป็นอนัตตา และสามารถรู้ตัวจริงของธรรมนั้นว่าไม่ใช่เรา ถ้าไม่เกิดอกุศลประเภทนั้น จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นธรรม ปัญญาจึงต้องรู้ทั่ว แต่เมื่อยังไม่ถึงขั้นนั้น ก็ให้มั่นคงในหนทาง โดยฟังให้เข้าใจว่า หนทางดับกิเลสคืออะไร และธรรมคืออะไร และธรรมนั้นแหละ จะทำหน้าที่เอง ที่จะขัดเกลากิเลส และรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ดังข้อความในพระไตรปิฎก

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 6 ก.ย. 2550

เรื่อง ความเป็นผู้มักมาก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 398

ข้อความบางตอนจากอรรถกถาเมฆิยสูตร

ผู้มีความประสงค์ในการยกย่องคุณที่มีอยู่ และไม่รู้ประมาณในการรับ ชื่อว่าผู้มักมาก ซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ปรารถนา

ว่า ขอคนจงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีศีลย่อมปรารถนาว่า ขอคนจงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศีลดังนี้เป็นต้น.

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
PUM
วันที่ 7 ก.ย. 2550

เหตุที่ติดดี ก็คือความไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไร คือสาระและอะไรคืออสาระ ก็ควรแก้ไขด้วยการศึกษา ให้รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง ลาภ ยศ สุข สรรเสริญเกิดขึ้น ตามเหตุปัจจัย และเป็นไปตามกฏแห่งไตรลักษณ์ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเป็นที่พึ่ง ให้เราไม่ได้ เพราะเป็นเพียงทรัพย์ภายนอก เราควรสะสมทรัพย์ภายใน ที่สามารถจะเอาติดตัวไปได้ ข้ามภาพข้ามชาติ นั่นก็คือการสะสมคุณธรรม ภายในใจด้วยการทำความดี ที่เป็นความดีที่บริสุทธิ์ ดังที่ทุกๆ ท่านกล่าวไว้แล้ว ซึ่งสามารถกระทำได้ ทั้งทางกาย วาจา และใจ ด้วยทาน ศีล และภาวนา กระทำดีนอกจากมุ่งประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้ว ต้องมุ่งเพื่อการชำระ เพื่อการขัดเกลากิเลส และอบรมบ่มปัญญาตนเอง จึงจะเป็นความดีที่บริสุทธิ์ครับ เพราะเป็นเหตุให้ถึงซึ่งความบริสุทธิ์คือ อรหัตผล เป็นผู้สิ้นอาสวะกิเลส

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
PUM
วันที่ 8 ก.ย. 2550

ขอแก้ไขบางส่วนครับ

"เหตุที่ติดดี ก็คือ ความไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไรคือสาระและอะไรไม่เป็นสาระ"

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ไรท์แจกแล้วไง
วันที่ 8 ก.ย. 2550
ดีด้วยปัญญาจึงประเสริฐ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
oom
วันที่ 11 ก.ย. 2550

ปัญญาในการเข้าใจธรรมของแต่ละคน เหมือนกันใช่หรือไม่ เพราะบางคนถามว่า ใช้ปัญญาอย่างไรล่ะ ที่จะไม่โกรธ ไม่พอใจคนอื่น ดิฉันก็จะตอบว่า ใช้การโยนิโส การที่คนอื่นทำให้เรา แล้วเราระงับได้ ถือว่าเรามีขันติในการทนต่อคำว่าร้ายของคนอื่นได้ ทำให้เราได้พัฒนาจิต ขัดเกลาตัวเองได้

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ไรท์แจกแล้วไง
วันที่ 13 ก.ย. 2550

ใช้ไม่ได้ แต่เพราะมีปัจจัยให้เกิด ปัญญาจึงเกิด ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ... เจริญธรรม ๔ ประการเพื่อมีปัญญาชําแรกกิเลส [ นิพเพธิกปัญญสูตร ]

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
oom
วันที่ 17 ก.ย. 2550

ขอบคุณค่ะ ที่ตอบให้เข้าใจให้ถูกต้อง ดิฉันจะได้ตอบให้เพื่อนฟังว่า ต้องใช้ธรรม ๔ ประการ คือ

การคบสัตบุรุษ ๑. การฟังสัทธรรม ๑ การกระทําไว้ในใจโดยแยบคาย ๑ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑

แต่ยังสงสัยว่า การโยนิโส มีความหมายเดียวกับ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคายใช่หรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 17 ก.ย. 2550

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

[2] โยนิโสมนสิการ การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย

มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา สืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสาย แยกแยะออก พิเคราะห์ดูด้วยปัญญา ที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธี ให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น“ เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอื่น แม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ภิกษุผู้มีโยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้ สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย” “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกขจัดเสียได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย” “โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ
 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
vichit
วันที่ 17 ก.ย. 2550

ที่จะเป็นโยนิโสมนสิการจริงๆ นั้น ต้องเป็นสัมมาสติในการเจริญมรรคมีองค์ ๘
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 77

ข้อความบางตอนจาก ปฐมโยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร

โยนิโสมนสิการเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค

[๑๓๖] สาวัตถีนิทาน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นมิมิตมาก่อนคือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘.

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
vichit
วันที่ 17 ก.ย. 2550

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 203

ข้อความบางตอนจาก ตัณหาสูตร

แม้สติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหารมิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่าการทำไว้ในใจโดยแยบคาย แม้การทำไว้ใน

ใจโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยแยบคาย ควรกล่าวว่า ศรัทธา แม้ศรัทธาก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่าการฟังสัทธรรม แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบหาสัปบุรุษ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
devout
วันที่ 18 ก.ย. 2550

มนสิการเจตสิก เป็น สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ที่เกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภท และทุกขณะ เมื่อเกิดกับจิตประเภทใด ก็เสมอด้วยจิตประเภทนั้น เช่น เมื่อเกิดกับจิตชาติกุศลก็เป็นกุศล เมื่อเกิดกับจิตชาติอกุศลก็เป็นอกุศล เมื่อเกิดกับจิตชาติวิบาก ก็เป็นวิบาก เมื่อเกิดกับจิตชาติกิริยา ก็เป็นกิริยา เมื่อเกิดกับโลกุตตรจิต ก็เป็นโลกุตรเป็นต้น

ขณะใด ที่โสภณจิตเกิด ขณะนั้น มนสิการเจตสิก กระทำกิจใส่ใจในอารมณ์นั้นโดยแยบคาย ซึ่งก็คือ "โยนิโสมนสิการ" นั่นเอง แต่จะเกิดกับจิตฝ่ายดีงามเท่านั้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตเป็นไปใน ทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้น ต้องมีโยนิโสมนสิการ เกิดร่วมด้วย

ดังนั้น ตามความเห็นที่ 16 ที่ท่าน vichit ได้สรุปไว้ว่า "ที่จะเป็น โยนิโสมนสิการจริงๆ นั้น ต้องเป็นสัมมาสติ ในการเจริญมรรคมีองค์ ๘" ยังเป็นความเข้าใจที่ ไม่ถูกต้อง กรุณาศึกษาพระสูตร ด้วยความละเอียด ควบคู่ไปกับการศึกษาพระอภิธรรม เพราะพระธรรมทั้งหมด ต้องสอดคล้องกัน และเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน การอัญเชิญพระสูตรมาแสดง โดยขาดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และรีบด่วนสรุปตามความเข้าใจของตน เป็นสิ่งที่ควรระวัง เพราะนอกจากไม่เกื้อกูลต่อพระสัทธรรม ยังเป็นการเผยแพร่ความเข้าใจผิด ให้ขยายวงกว้างออกไปยิ่งขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
oom
วันที่ 18 ก.ย. 2550

ขอบพระคุณมากค่ะ อ่านแล้วทำให้เข้าใจขึ้นมากเลยค่ะ ขออนุโมทนา ที่ให้ธรรมะเป็นทาน

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 4 ก.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ